เปิดภาพสเก็ตตัวจริงพระเพทราชา จากศิลปินชาวฝรั่งเศส สมัยพระนารายณ์!!


เปิดภาพสเก็ตตัวจริงพระเพทราชา จากศิลปินชาวฝรั่งเศส สมัยพระนารายณ์!!

ในช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ศิลปินชาวฝรั่งเศสได้สเก็ตภาพบุคคลที่เป็นคนไทยเอาไว้จำนวนไม่มากนัก และเราก็มักจะคุ้นเคยกับภาพของราชทูตไทยทั้งสามท่าน ที่ได้ไปเจริญสัมพันธไมตรีถึงแผ่นดินฝรั่งเศส รวมถึงภาพวาดสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลากหลายรูปแบบ

ภาพสเก็ตบุคคลที่เราเห็นอยู่นี้ คงไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตาเรามากเท่าใดนัก แต่เมื่อได้เห็นและได้อ่านคำอธิบายภาพประกอบไปด้วย ก็อดที่จะทำให้เราตื่นเต้นมิได้ เพราะภาพที่ศิลปินชาวฝรั่งเศสได้วาดไว้นี้ เป็นภาพบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา นั่นคือ สมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ผู้ทำการรัฐประหารราชวงศ์ปราสาททอง และขับไล่ทหารฝรั่งเศสที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาออกไปจนหมดสิ้น

ทีนี้ก็จะขอพูดถึงสมเด็จพระเพทราชากันสักหน่อยครับว่าพระองค์ทรงมีความเป็นมาอย่างไร...?

พงศาวดารพระราชหัตถเลขา ได้บรรยายถึงต้นเรื่องอันเป็นที่มาของคำว่า "ราชวงศ์บ้านพลูหลวง" โดยเล่าถึง "สมเด็จพระเพทราชา" ไว้ว่า ท่านผู้นี้เดิมเป็นควาญช้างจากบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี แล้วมารับราชการได้ดิบได้ดีเป็นถึงพระสหายสนิทของสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อครั้งที่ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ พงศาวดารบรรยายถึงพระญาติวงศ์จากบ้านพลูหลวง ที่ต่างชื่นชมยินดีที่ได้เห็นคนบ้านเดียวกันได้เป็นผู้มีบุญขึ้นเป็นถึงกษัตริย์ พวกเขาต่างพากันนำมัจฉมังสาแลผลไม้แก่อ่อน สิ่งของต่างๆ ตามประสาชนบทเข้ามาถวายถึงในพระบรมมหาราชวังเพื่อชมบุญนายท่าน ใครต้องการดื่มสุรา สมเด็จพระเพทราชาก็นำมาพระราชทาน ครั้นพระราชทานแล้วต่างก็เมามายร้องเพลงไก่ป่า แล้วญาติวงศ์เหล่านั้นก็นอนพักพำนักอยู่บนพระราชมณเฑียรสถานกันถ้วนหน้า


แต่เป็นที่ทราบกันว่า พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้ผ่านการชำระมาหลายต่อหลายครั้ง พลความหลายเรื่องหลายตอนตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ลงมาล้วนคลาดเคลื่อน และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเอกสารชั้นต้นร่วมสมัยที่ถูกค้นพบภายหลัง เราก็ได้รู้ว่าหลายเหตุการณ์ที่เล่ากันมานั้น มีความแตกต่างกันราวกับหนังคนละม้วน

มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส บันทึกว่า "มารดาของออกหลวงพระพิพิธราชานั้น เป็นพระนมของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน (สมเด็จพระนารายณ์) และมารดาของท่านเอกอัครราชทูต (โกษาปาน) ที่เราได้เห็นตัวกันที่นี่ ก็เป็นพระนมเหมือนกัน"

นอกจากนี้ ลาลูแบร์ยังเล่าอีกว่า


 "ออกพระพิพิธราชา ซึ่งเรียกกันให้เพี้ยนไปว่าเพทราชา เป็นผู้บังคับบัญชาเหล่าช้างและเหล่าม้าทั้งปวงอยู่ และนับว่าเป็นกรมที่ใหญ่โตกรมหนึ่งแห่งราชอาณาจักร ล้วนอยู่ใต้บังคับบัญชาออกพระพิพิธราชาทั้งสิ้น ซึ่งแม้จะมีบรรดาศักดิ์เป็นเพียงออกพระ ก็ยังมีศักดิ์มีอำนาจยิ่งใหญ่ ประชาชนพลเมืองก็รักมาก.."

ส่วนบาทหลวงตาชาร์ด บันทึกข้อความสั้นๆ ถึงพระเพทราชาไว้ว่า "คณะราชทูต (ฝรั่งเศส) ได้เข้าพบบุคคลผู้หนึ่ง คือ Elephant Prince ผู้ถือกำเนิดวันเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า..."

เมื่อนำเรื่องที่ทั้งลาลูแบร์ กับบาทหลวงตาชาร์ดบันทึกถึงท่านผู้นี้ ก็พอจะรวมความกันได้ว่าพระเพทราชาถือกำเนิดร่วมวัน เดือน ปี กับเจ้าฟ้านารายณ์ และได้รับพระราชทานน้ำนมร่วมกับสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเรียกได้อีกอย่างว่า ทรงเป็นพระสหายสหชาติร่วมน้ำนมเดียวกัน

แสดงว่า พระเพทราชา ต้องเป็นบุคคลที่มีชาติกำเนิดในรั้วในวัง ท่านผู้นี้จึงเป็นผู้ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงไว้วางพระทัยเป็นอย่างมาก เพราะตำแหน่งเสนาบดีที่ควบคุมกรมช้างกรมม้าเป็นกำลังนั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษ และเมื่อทรงประชวร ก็ได้ทรงแต่งตั้งให้พระเพทราชาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

อ่านถึงตรงนี้แล้วย้อนกลับไปดูข้อมูลของพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ก็ยิ่งนึกไม่ออกว่า ควาญช้างธรรมดาๆ จากบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณฯ ต้องทำความดีความชอบได้ขนาดไหน สมเด็จพระนารายณ์ถึงต้องไว้วางพระทัยมากขนาดให้คุมกำลังรบได้ถึงขนาดนั้น

บันทึกอีกฉบับ ที่อาจไขปริศนาชาติกำเนิดของสมเด็จพระเพทราชาให้กระจ่างมากขึ้น คือบันทึกของเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) หมอชาวเยอรมัน ที่เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับคณะทูตฮอลันดาใน พ.ศ. ๒๒๓๓ เพื่อถวายสาส์นต่อสมเด็จพระเพทราชา แกมป์เฟอร์ มีความสนใจกรุงศรีอยุธยามาก ได้ออกเดินเท้าสำรวจไปหลายแห่ง และเขียนบันทึกเรื่องราวไว้อย่างละเอียด ทั้งยังวาดแผนที่เส้นทางแม่น้ำตั้งแต่ปากอ่าวมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา, แผนผังพระนคร และภาพวัดสำคัญๆ ไว้อย่างละเอียดลออ

หมอแกมเฟอร์ ได้เล่าถึงพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็คือสมเด็จพระเพทราชาไว้อย่างน่าสนใจว่า...


" ...he had always looked upon Petraatia as his most intimate friend.,who was his Sister's Son, whose Sisters and Daughters were the King's Wives., and who besides having on all occasions expressed an abhorence for the burden of a Crown had never given the King room to suspect him of so cruel a design. Under this grief de died two days after, being the eleventh of July 1689..."

เปิดภาพสเก็ตตัวจริงพระเพทราชา จากศิลปินชาวฝรั่งเศส สมัยพระนารายณ์!!

ใจความสำคัญที่หมอแกมเฟอร์เล่าไว้ก็คือ "พระองค์(พระเพทราชา) เป็นโอรสของพระพี่นาง (ของสมเด็จพระนารายณ์) ส่วนพระขนิษฐาและพระธิดา (ของพระเพทราชา) เป็นบาทบริจาริกาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระนารายณ์)" ถ้าพูดใหม่ให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ "พี่สาวใหญ่ของสมเด็จพระนารายณ์มีบุตรชื่อพระเพทราชา และน้องสาวและบุตรสาวของพระเพทราชา เป็นนางห้ามในสมเด็จพระนารายณ์"

ถ้าบันทึกของหมอแกมเฟอร์ไม่ผิดพลาด นั่นแสดงว่า สมเด็จพระเพทราชาเป็นหลานของสมเด็จพระนารายณ์ (ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า) ด้วยเหตุนี้ แม่ของพระเพทราชาก็ต้องอยู่ในวังหลวง และสามารถถวาย "นม" ให้เจ้าฟ้านารายณ์ได้ ที่สำคัญ พระเพทราชายังเป็นถึงหลานตาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอีกด้วย

ปริศนาอย่างเดียวที่ยังทำให้เรื่องนี้ไม่กระจ่างร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คือ ไม่มีผู้ใดบันทึกไว้ว่า ใครคือ "บิดา" ของสมเด็จพระเพทราชาเท่านั้นเอง...

และยิ่งมีความเป็นไปได้ว่า "ราชวงศ์บ้านพลูหลวง" อ่านเป็นจินตภาพของผู้ชำระพงศาวดาร ซึ่งอยู่ห่างจากเหตุการณ์นับร้อยปี....!!

เปิดภาพสเก็ตตัวจริงพระเพทราชา จากศิลปินชาวฝรั่งเศส สมัยพระนารายณ์!!

ภาพ : สมเด็จพระเพทราชา วาดโดยศิลปินชาวฝรั่งเศส 
บรรยายภาพ : เพทราชา กษัตริย์สยาม (PITERA REX SIAM)---(จากเฟสบุ๊คคุณ Sudhisak Palpho)

อ้างอิง : อยุธยา - ในต้นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา (วิเคราะห์ข้อมูลของแกมเฟอร์) : ศาสตราจารย์พิเศษขจร สุขพานิช

Cr:::: FB กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา

เปิดภาพสเก็ตตัวจริงพระเพทราชา จากศิลปินชาวฝรั่งเศส สมัยพระนารายณ์!!

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์