สงครามเวียดนาม และ แผลเป็นของ คิม ฟุก
เด็กหญิงวัยเก้าขวบหวีดร้องด้วยความตกใจสุดขีด เธอและเด็กคนอื่น ๆ วิ่งหนีระเบิดสุดชีวิต แต่ คิม ฟุก ก็หนีไฟนาปาล์มไม่พ้น ร่างกายเธอถูกไฟไหม้รุนแรง
ช่างภาพคนหนึ่งของสำนักข่าวเอพีอยู่ที่ตรงนั้นพอดี เขาบันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่ทำให้โลกตะลึง เป็นภาพเด็กหญิงร่างเปลือยเปล่าหวีดร้องขณะวิ่งหนีระเบิดนาปาล์ม ภาพนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงของสงคราม สร้างความสะเทือนใจแก่ทุกคนที่ยังมีหัวใจ
เป็นปีที่สิบสามของสงครามเวียดนาม การรบกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น หมู่บ้าน ตรัง บัง ของ คิม ฟุก เป็นหนึ่งในหลายร้อยหมู่บ้านที่อยู่ในความครอบครองของเวียดกง และเป็นเป้าแห่งการทำลายล้าง แต่ คิม ฟุก เป็นหนึ่งในน้อยคนที่รอดชีวิตมาได้จากสถานการณ์แบบนั้น ทางการเวียดนามใต้อธิบายว่า นักบินเข้าใจผิดว่ากลุ่มชาวบ้านที่วิ่งหนีคือศัตรู
ช่างภาพนำตัว คิม ฟุก และคนบาดเจ็บอื่น ๆ ส่งโรงพยาบาลในไซ่ง่อน หมอบอกว่าร่างกายเธอถูกไฟไหม้ในระดับอันตรายและไม่คิดว่าเธอจะรอดชีวิต ทว่าหลังจากสิบสี่เดือนในโรงพยาบาล และการผ่าตัดสิบเจ็ดครั้ง เธอก็มีอาการดีขึ้นและกลับบ้านได้
หลายปีหลัง เมื่อถูกถามว่าในวันนั้นเธอพูดว่าอะไร เธอตอบ "ฉันร้องว่า 'มันร้อนมาก ๆ' "
คิม ฟุก อยู่ในเวียดนามจนโตเป็นผู้ใหญ่ สงครามเวียดนามยุติลง เธอเป็นหนึ่งในจำนวนมหาศาลของบาดแผลแห่งสงคราม
เธอขออนุญาตรัฐบาลไปเรียนต่อที่คิวบา กลายเป็นชาวคริสต์ และที่นั่นเธอพบว่าที่สามีของเธอ
ทั้งสองแต่งงานกันในปี พ.ศ. 2535 ขณะที่โดยสารเครื่องบินเดินทางไปฮันนีมูน ระหว่างที่เครื่องบินเติมน้ำมันที่แคนาดา ทั้งสองก็หลบหนีออกจากเครื่องบิน และขอลี้ภัยทางการเมืองที่แคนาดา.................
สงครามไม่เคยสิ้นสุด เมื่อสิ้นสงครามหนึ่งก็เกิดสงครามใหม่ ราวกับว่ามนุษย์เป็นชาติพันธุ์ที่ถูกสาป ไม่มีความสามารถอยู่อย่างสันติได้สักวันเดียว
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สหประชาชาติประมาณว่า ในสงครามมีเด็กหกล้านคนตาย บาดเจ็บ และพิการ โลกยังระอุด้วยสงครามและอาวุธร้าย กับระเบิดนอนสงบอยู่ใต้ดินของ 68 ประเทศทั่วโลก ทุกวันโลกยังคงได้ยินเสียงร้องว่า "มันร้อนมาก ๆ"
เธอมองดูกำแพงสีดำของอนุสรณ์สถานแห่งสงครามเป็นรายชื่อของวีรบุรุษและเหยื่อสงคราม แต่มันเป็นอนุสรณ์ความรุนแรงของสงคราม ความเจ็บปวด
หนึ่งปีถัดมา เธอก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กทั่วโลกโดยเชื่อมกับองค์การอื่น ๆ เพื่อสันติภาพ เป็นองค์กรไม่หวังกำไร
เธอไม่ต้องการให้ชาวโลกจดจำภาพถ่ายนั้นในฐานะประวัติศาสตร์สงครามเวียดนาม แต่อยากให้มันเตือนใจให้ผู้คนร่วมใจโอบรับสันติภาพ ภาพนั้นจะมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อชาวโลกเรียนรู้คุณค่าของชีวิตและความปรองดองกัน
บาดแผลของสงครามไม่อาจลบล้างได้ง่าย ๆ แต่หากไม่เรียนรู้ความเจ็บช้ำของมัน และเรียนรู้ความอ่อนแอของเรา โลกคงยากที่จะไปถึงวันที่สิ้นสุดเสียงร้องว่า "มันร้อนมาก ๆ".................
หลังกล่าวสุนทรพจน์ในวันนั้น ทหารผ่านศึกคนหนึ่งนาม จอห์น พลัมเมอร์ ขอพบเธอ เขาสารภาพว่าเป็นคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการทิ้งระเบิดในวันนั้น เขาขอให้เธอยกโทษให้เขา
เธอกล่าวกับเขาว่า "ฉันให้อภัยคุณค่ะ".................
จากหนังสือ สองแขนที่กอดโลก
วินทร์ เลียววาริณ