การเจริญภาวนาพรหมวิหาร 4 ในชีวิตประจำวัน ไม่ยากอย่างที่คิด
พรหมวิหาร 4 เป็นคำสอนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ที่มีความหมายว่า เครื่องแห่งพรหม พรหมในคติของพระพุทธศาสนาหรือในสมัยพุทธกาลเชื่อว่า เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นนิสัยของพรหม หากผู้ใดมีนิสัย 4 อย่างนี้ ก็มีความเป็นพรหมอยู่กับตัว หากสิ้นบุญก็จะเกิดยังพรหมโลก ถึงจะเป็นคำสอนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็จริง แต่เหมือนว่าจะปฏิบัติตามได้ยาก เพราะมีอุปสรรคตัวสำคัญคือความโกรธ บทความนี้จะมุ่งเรื่องการภาวนาด้วยพรหมวิหาร 4 ซึ่งสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน
คัมภีร์วิมุตติมรรคบรรยายไว้ว่า เมตตา เปรียบเหมือนพ่อแม่มองดูลูกของตน ทำจิตด้วยความเมตตา มีความปรารถนาดีต่อลูก หากกระทำให้จิตมีความเมตตาและปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ได้เฉกเช่นพ่อแม่เมตตาลูก อานิสงส์แห่งเมตตาภาวนาย่อมเกิดขึ้นคือ (1) เธอหลับเป็นสุข (2) ตื่นเป็นสุข (3) ไม่ฝันร้าย (4) เป็นที่รักของมนุษย์ (5) เป็นที่รักของอมนุษย์ (6) เทวดาย่อมรักษาคุ้มครองเธอ (7) ไฟ ยาพิษ และอาวุธทำอันตรายไม่ได้ (8) จิตจะเป็นสมาธิ ถ้ายังไม่บรรลุพระนิพพาน ก็จะได้เกิดยังพรหมโลก
เมตตาภาวนาคือการแผ่เมตตา การที่จะประคับประคองให้จิตมีเมตตา จะต้องเห็นโทษของความโกรธ หากความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเผาพลาญความเมตตาจนสิ้นไป หากปล่อยให้ความโกรธเข้าครอบงำบ่อย ๆ อาจทำให้ขาดสติ ทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น หรือแม้กระทั่งบุพการี ความโกรธนี้ยังเป็นต้นเหตุให้พระเทวทัตตามจองเวรพระผู้มีพระภาคเจ้ามาหลายภพ-ชาติ แม้ในสมัยพุทธกาลก็ยังมีความโกรธเคืองส่งผลให้คิดประทุษร้ายพระพุทธเจ้า
การที่จะละความโกรธได้คือ (1) ช่วยเหลือคนที่เราไม่ชอบ (2) นึกถึงแต่ความดีของเขา (3) มีความปรารถนาดี (4) เขากับเราต่างก็มีความทุกข์ (5) เขาทำให้เราโกรธเพราะเป็นหนี้กรรม (6) นึกถึงความเป็นญาติ (7) ให้อภัยคนเราผิดพลาด (8) ไม่ควรใส่ใจกับความโกรธนี้อีก (9) พิจารณาว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ (10) เดี๋ยวก็หายโกรธ เพราะเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ (11) เป็นเรื่องที่เกิดจากขันธ์ 5 (12) คิดว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวตน เพราะสุดท้ายก็เป็นสุญญตา (ความว่างเปล่า)
ความเมตตาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะความเมตตานี้เองทำให้พระโพธิสัตว์ตั้งมหาปณิธาน เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากการเวียนว่ายในสังสารวัฏ ดังนั้นเมตตาจึงเป็นบ่อเกิดของพระโพธิสัตว์ให้มีจิตปรารถนาพระโพธิมรรคเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
กรุณา เปรียบเหมือนพ่อแม่มองดูลูกด้วยความสงสาร ดังนั้นผู้ที่สงสารผู้อื่นย่อมเรียกว่าเป็นผู้มีกรุณา กรุณาภาวนาคือการมองเห็นสิ่งใดแล้ววิเคราะห์ด้วยปัญญาได้ว่าสิ่งนั้นกำลังเป็นทุกข์ ผู้นั้นยังเป็นผู้ปฏิบัติกรุณาภาวนา เช่น สงสารผู้ที่เจ็บไข้ ผู้ที่ถูกความแก่ครอบงำ ผู้ที่ตกอยู่ในอวิชชา เมื่อเกิดความกรุณาแล้ว การฆ่าย่อมไม่เกิดขึ้น
มุทิตา เปรียบเหมือนพ่อแม่มองลูกด้วยความชื่นชม การเปล่งคำว่า "สาธุ" หรือเห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง อันเกิดจากการไตร่ตรองด้วยปัญญาแล้ว เมื่อมีมุทิตาเกิดขึ้นในจิต การพูดจาโกหกหรือไร้สาระ เพ้อเจ้อย่อมไม่มี จะมีแต่การกล่าวตามจริง ตามสมควร และการยกย่องการกระทำที่ถูกต้องเท่านั้น
อุเบกขา เปรียบเหมือนพ่อแม่ที่ไม่เอาใจใส่ลูกเกินไป และไม่ละเลยลูกจนเกินไป เป็นการใส่ใจที่พอประมาณ ผู้ปฏิบัติอุเบกขาย่อมใส่ใจคนรอบข้างแบบไม่มากไม่น้อยเกินไป ผลที่ตามมาคือความไม่ยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นแล้ว ที่จริงแล้วหากยึดในเมตตา กรุณา และมุทิตาผลที่ตามมาคืออุเบกขาโดยอัตโนมัติ อุเบกขาจะทำให้ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ลักขโมย และไม่ดื่มสุรา เพราะใจเป็นกลางแล้วจะไม่ยุ่งหรือสนใจในกิเลสอีกต่อไป
เครดิตแหล่งข้อมูล : goodlifeupdate.com