เผยรายนาม“สตรี” ที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศเป็นพิเศษ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นึกถึง สตรีที่เคยได้รับพระราชทานพระเกียรติยศเป็นพิเศษในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังนี้
รัชกาลที่ ๑
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา ท่านผู้หญิงนาก และญาติวงศ์ของท่านผู้หญิงให้มีอิสริยศักดิ์เป็นพิเศษแต่ประการใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ว่า
"สมเด็จพระรูปสิริโสภาค (พระนามเดิมว่า สั้น พระชนนีในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี-ส.) ทรงผนวชเป็นรูปชีอยู่ก่อน ถึงรัชกาลที่ ๑ ก็เป็นแต่เสด็จเข้ามาอยู่ที่ตำหนักสมเด็จพระอมรินทรอย่างเงียบๆ จนตลอดพระชนมายุ แต่เมื่อสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ พระราชทานโกศทรงพระศพ สมเด็จพระอมรินทรทรงยินดีถึงออกพระโอษฐ์ว่า "แม่ข้าเป็นเจ้า" ตรัสเล่าดังนี้" (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๒. โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ. ๒๕๐๕. หน้า ๒๕๐,)
ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ จึงได้ทรงสถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็น สมเด็จพระรูปสิริโสภาคมหานากนารีรัตน
รัชกาลที่ ๒๑. ท่านผู้หญิงนวล
ภรรยาเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค ต้นสกุล บุนนาค) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น และเป็นพระน้องนางในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ในรัชกาลนี้ทรงยกย่องพระญาติพี่น้องชั้นลุงป้าน้าอาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีว่า เป็นราชินิกูล คือพระญาติทางฝ่ายพระมเหสี คนทั้งหลายย่อมต้องนับถือว่าทรงศักดิ์สูงกว่าท่านผู้หญิงภรรยาข้าราชการอื่นๆ คงจะเป็นเพราะเหตุนี้ จึงเรียกกันว่า "เจ้าคุณโต" แทนที่เคยเรียกกันว่า "คุณหญิง" หรือ "คุณ" มาแต่ก่อน ท่านผู้หญิงนวล หรือ เจ้าคุณโต มีธิดากับเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ๓ คน คือในรัชกาลนี้ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชชนนี ขึ้นเป็น กรมพระ แต่โปรดเกล้าฯ ให้กล่าวขานพระนามว่า กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย เทียบด้วยตำแหน่ง กรมพระเทพามาตย
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนบุคคลอื่นๆ นั้นเป็นแต่เพียงคำที่ผู้คนยกย่องกันขึ้นเอง คือ
ชื่อ นุ่น เรียกกันว่า เจ้าคุณวังหลวง
ชื่อ คุ้ม เรียกกันว่า เจ้าคุณวังหน้า
ชื่อ ต่าย เรียกกันว่า เจ้าคุณปราสาท เพราะอยู่ที่พระมหาปราสาทกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๑
๒. คุณหญิงแก้ว พระน้องนางคนรองถัดมา ซึ่งเป็นภรรยาพระยาสมุทรสงคราม (ศร) มีนิวาสสถานอยู่ที่ อัมพวา บางช้าง เรียกกันว่า เจ้าคุณบางช้าง เป็นต้นสกุล ณ บางช้าง
ส่วนผู้ที่มิได้เป็นราชินิกูล แต่ผู้คนทั้งหลายเรียกกันว่า "เจ้าคุณ" มีอยู่ ๓ คน คือ
๑. เจ้าจอมมารดาตานี ในรัชกาลที่ ๑ เป็นธิดาเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) อันเกิดด้วยภรรยาเดิม เรียกกันว่า "เจ้าคุณวัง" มีพระราชธิดา คือ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจงกล
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ ต้นราชสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา ๒. เจ้าจอมมารดาสี ในรัชกาลที่
๒ เป็นธิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด ต้นสกุล บุญยรัตพันธุ์) เรียกกันว่า "เจ้าคุณพี" มีพระราชธิดา คือ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรจั่น
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุบผา
๓. ท้าวศรีสัจจา (มิ) เรียกกันว่า "เจ้าคุณประตูดิน" ได้ว่าราชการสิทธิขาดต่างพระเนตรพระกรรณในรัชกาลที่ ๒ ที่ทำงานของท่านอยู่ใกล้กับประตูดิน มีเกียรติคุณยิ่งกว่าท้าวนางอื่นๆ พวกชาววังยำเกรงท่านมาก ถึงกับเอาชื่อท่านมาใส่ไว้ใน บทเพลงเต่าเห่ สำหรับสอนเด็กๆ ให้รำละคร ว่า
"สาวน้อยๆ ค่อยเดินจร ไปเด็ดดอกแก้วเล่นเย็นๆ ที่เกยซึ่งเคยเห็น เป็นพวงเป็นพู่ดูน่าชม"
และ
"ว่าแล้วหาฟังไม่ จะไปเรียนเจ้าคุณประตูดิน"
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปของท่านไว้ในคูหาใต้บันไดขึ้นพระที่นั่งบุษบกมาลาฝ่ายในที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยมีโขลน ชื่อ บัว และ ดี หมอบรับใช้อยู่ข้างๆ อีกด้วย
รัชกาลที่ ๓ทรงสถาปนา เจ้าจอมมารดาเรียม ในรัชกาลที่ ๒ พระบรมราชชนนี ขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย
ในรัชกาลนี้มีคนเรียกเจ้าจอมมารดาของเจ้านายผู้ใหญ่ว่า "เจ้าคุณ" กันอย่างแพร่หลายอีก ๒ คน น่าจะเป็นเพราะมีเชื้อสายราชินิกูล "บางช้าง" คือ
๑. เจ้าจอมมารดาศิลา ในรัชกาลที่ ๒ มีพระราชโอรสธิดา คือ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงษ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร ต้นราชสกุล พนมวัน ณ อยุธยา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษเทเวศร ต้นราชสกุล กุญชร ณ อยุธยา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ ต้นราชสกุล ทินกร ณ อยุธยา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทนิล
๒. เจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ ในรัชกาลที่ ๒ ต่อมาเป็น ท้าววรจันทร์ มีพระราชโอรสธิดา คือ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (หญิง) ประสูติได้ ๓ วัน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ต้นราชสกุล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
รัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงตั้งพระราชบัญญัติให้ศักดิ์ "เจ้าคุณ" เป็นยศผู้หญิงที่พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงตั้ง เมื่อมีพระราชบัญญัติแล้ว การเรียกเจ้าคุณกันตามใจก็เสื่อมหายไปเองโดยมิต้องขัดใจใคร
ทรงตั้งธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เฉพาะที่เกิดแต่ท่านผู้หญิง เป็นเจ้าคุณ รวม ๓ คน คือ
๑. เจ้าคุณแข เรียกกันว่า เจ้าคุณตำหนักใหม่
๒. เจ้าคุณปุก เรียกกันว่า เจ้าคุณกลาง
๓. เจ้าคุณหรุ่น เรียกกันว่า เจ้าคุณน้อย
และทรงตั้งธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัด บุนนาค) เฉพาะที่เกิดแต่ท่านผู้หญิง เป็นเจ้าคุณ รวม ๓ คน คือ
๑. เจ้าคุณนุ่ม เรียกกันว่า เจ้าคุณตำหนักเดิม
๒. เจ้าคุณเป้า
๓. เจ้าคุณคลี่
รัชกาลที่ ๕ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงตั้งเจ้าจอมมารดา ให้เป็นเจ้าคุณจอมมารดา รวม ๔ ท่าน คือ
เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๔ เป็นเจ้าคุณจอมมารดา คือ
๑. เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (สุจริตกุล) เป็น เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๔
๒. เจ้าจอมมารดาสำลี (บุนนาค) เป็น เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ ๔
เจ้าจอมมารดา ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ๑ ท่าน คือ
๓. เจ้าจอมมารดาเอม พระชนนีในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เป็น เจ้าคุณจอมมารดาเอม
เจ้าจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ ๕ เป็น เจ้าคุณจอมมารดา ๑ ท่าน คือ
๔. เจ้าจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ ๕ เป็น เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ ๕
รัชกาลที่ ๖๑. ทรงสถาปนาพระอัฐิเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๔ ขึ้นเป็น สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา
๒. ทรงเปลี่ยนนาม เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ ๕ เป็น เจ้าคุณพระประยุรวงศ์
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า "ที่เติมคำ "จอมมารดา" เข้าด้วยนั้น น่าชมเป็นความคิดที่ดีนัก เพราะแต่ลำพังคำว่า "เจ้าคุณ" ใครๆ ก็เป็นได้ แต่คำว่า "จอมมารดา" ต้องเป็นพระสนมของพระเจ้าแผ่นดินและเป็นชนนีของพระเจ้าลูกเธอด้วย เพราะฉะนั้นที่มาเปลี่ยน เจ้าคุณจอมมารดา แพ เป็น เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ในรัชกาลที่ ๖ ดูไม่แสดงศักดิ์สูงขึ้นกว่าเป็น เจ้าคุณจอมมารดา แพ เพราะความหมายแต่ว่า เป็นพระญาติเท่านั้น" ("ลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๘๐", สาสน์สมเด็จ เล่ม ๑๒. โรงพิมพ์คุรุสภา, พ.ศ. ๒๕๐๕. หน้า ๒๕๔.)
อนึ่ง คำว่า เจ้าจอมมารดา และ เจ้าจอม นั้น จะใช้เฉพาะแต่สำหรับผู้ที่เป็นพระสนมของพระเจ้าแผ่นดิน และสมเด็จพระบวรราชเจ้าเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วจะใช้คำว่า "หม่อม" ทั้งสิ้น
แต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียก ขรัวยายเจ้าฟ้า (คือสามัญชนที่เป็นยายของเจ้าฟ้า) ซึ่งตามปกติแล้วจะมีฐานะเป็นเพียงหม่อม ว่า "เจ้าจอมมารดา" เป็นพิเศษอยู่เพียง ๒ ท่านเท่านั้น คือ
๑. หม่อมงิ้ว ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๓ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ผู้เป็นพระชนนีในสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ว่า เจ้าจอมมารดางิ้ว
๒. หม่อมจีน ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๓ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ต้นราชสกุล ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้เป็นพระชนนีในหม่อมเจ้าบัว (อรรคชายาเธอ พนะองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรคกัลยา) หม่อมเจ้าปิ๋ว (พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคยนารีรัตน) และ หม่อมเจ้าสาย (พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏปิยมหาราชปดิวรัดา) ว่า เจ้าจอมมารดาจีน
เมื่อครั้งที่ เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัด บุนนาค) สิ้นชีพลงใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ที่บ้านของสกุลบุนนาค ข้างวัดพิไชยญาติการาม ฝั่งธนบุรีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "ถึงแก่พิราลัย" เสมอด้วยเจ้าประเทศราช และสมเด็จเจ้าพระยา โดยทรงยกเหตุว่า เป็นผู้มีบรรดาศักดิ์และเป็นพระญาติพระวงศ์เทียบชั้นทั้งราชสกุลและราชินิกูลแล้ว เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ ๔ ก็อยู่ในชั้นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานโกศกุดั่นใหญ่และโปรดเกล้าฯ ให้นำศพเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ ๔ จากบ้านฝั่งธนบุรีมาตั้งที่หอธรรมสังเวช ในพระบรมมหาราชวัง (หอธรรมสังเวช หออุเทศทักษินา และหอนิเพทพิทยา แต่เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระศพพระบรมวงศ์ฝ่ายใน ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่สำหรับกิจการอื่น-ส.) ซึ่งมิเคยปฏิบัติกันมาก่อน เพราะถือกันว่า ผู้ที่จะสิ้นชีพในพระบรมมหาราชวังได้จะต้องเป็นเจ้านายเท่านั้น หากสามัญชนสิ้นชีพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อนำศพออกไปแล้ว จะต้องทำพิธีกลบบัตรสุมเพลิงทุกครั้ง ทั้งนี้โดยทรงพระราชดำริว่า เพื่อสะดวกแก่ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร จะได้ไม่ต้องทรงลำบากเสด็จข้ามฟากไปทรงบำเพ็ญพระกุศลที่บ้านฝั่งธนบุรี
ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนมไหสูรยสงขลา (จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุล บริพัตร ณ อยุธยา) ทรงสำเร็จวิชาทหารจากประเทศเยอรมัน และได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยตรี แล้ว แต่ยังต้องทรงฝึกฝนวิชาชีพพิเศษเพิ่มเติมต่อไปอีก ๑ ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับมาชั่วคราวเพื่อพระราชทานเพลิงศพขรัวยาย ณ พระเมรุท้องสนามหลวงที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษสำหรับการนี้โดยเฉพาะ ในงานพระเมรุเจ้านายแทบทุกพระองค์ต้องทรงพระภูษาขาว เพราะในสมัยนั้นถ้าผู้ตายเป็นญาติผู้ใหญ่ ในงานเมรุลูกหลานทุกคนต้องแต่งขาวเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ
อนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้กล่าวขานพระนามพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนว่า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี แทนคำว่า กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย และ กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย
รัชกาลที่ ๘เมื่อเจ้าคุณพระประยุรวงศ์สิ้นชีพลงในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๘๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า ถึงแก่พิราลัย และพระราชทานโกศกุดั่นน้อย ประกอบเกียรติยศศพเสมอด้วยสมเด็จเจ้าพระยา
ระเบียบสำนักพระราชวัง ว่าด้วยการศพ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โกศกุดั่นน้อย ตามปกติจะพระราชทานสำหรับ
๑. พระบรมวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ที่เป็นพระราชโอรสธิดา มี ฉัตรโหมดทอง ๕ ชั้น แขวนเหนือพระโกศ ปัจจุบันไม่มีพระราชวงศ์ชั้นนี้
๒. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช มี ฉัตรผ้าขาว ๓ ชั้น แขวนเหนือพระโกศ
๓. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ถึงแก่อสัญกรรมในขณะที่ดำรงตำแหน่ง
๔. สามัญชนที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์