ชีวิตคนผิวสีในยุคนาซีเยอรมนี ผ่านภาพยนตร์ Where Hands Touch ของ อัมมา อาซานติ


ชีวิตคนผิวสีในยุคนาซีเยอรมนี ผ่านภาพยนตร์ Where Hands Touch ของ อัมมา อาซานติ

ผู้กำกับภาพยนตร์ อัมมา อาซานติ ไปเจอรูปถ่ายที่มีเด็กนักเรียนหญิงผิวสีสมัยนาซีเยอรมนีโดยบังเอิญ เธอยืนอยู่ท่ามกลางเพื่อนร่วมชั้นผิวขาว แววตาของเธอที่มองไปอีกทิศชวนให้พิศวง

ความสงสัยอยากรู้เกี่ยวกับรูปดังกล่าว ว่าเด็กผู้หญิงคนนั้นคือใครและไปทำอะไรในเยอรมนี ทำให้ผู้กำกับเจ้าของหลายรางวัลผู้นี้ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เรื่อง Where Hands Touch ในที่สุด โดยมี อแมนด์ลา สเต็นเบิร์ก และ จอร์จ แมคเคย์ แสดงนำ

ภาพยนตร์เป็นเรื่องแต่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบลับ ๆ ระหว่างวัยรุ่นเชื้อชาติผสมกับสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ โดยยึดเกร็ดประวัติศาสตร์จริงเป็นพื้นฐาน

คำเตือน : อาจมีเนื้อหาบางส่วนในบทความนี้ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ

ในยุคนาซี ระหว่างปี 1933 ถึง 1945 มีชาวเยอรมันเชื้อสายแอฟริกาอาศัยอยู่นับหลายพันคน

ประสบการณ์ที่แต่ละคนพบเจอไม่เหมือนกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาถูกสั่งห้ามไม่ให้มีความสัมพันธ์กับ

คนผิวขาว กีดกันไม่ให้ได้รับการศึกษาและการว่าจ้างงาน บ้างถูกจับทำหมัน ขณะที่อีกส่วนถูกส่งเข้าค่ายกักกัน

ไม่เชื่อและเมินเฉย

แต่เรื่องราวของพวกเขาไม่ค่อยได้รับการบอกเล่านัก และ อาซานติ ใช้เวลาถึง 12 ปี กว่าเรื่องเล่าของเธอจะได้มีโอกาสกลายเป็นภาพยนตร์

"บ่อยครั้ง มีคนที่ไม่เชื่อ ตั้งคำถาม หรือบางครั้งก็เมินเฉยไม่สนใจว่าคนเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างยากลำบากอย่างไร" อาซานติ เล่าให้บีบีซีฟังถึงปฏิกริยาที่เธอพบระหว่างการค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อทำภาพยนตร์




ชุมชนชาวเยอรมันเชื้อสายแอฟริกาเป็นผลมาจากช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เยอรมีมีประเทศในอาณานิคมอยู่ในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นกะลาสี คนรับใช้ นักศึกษา และนักแสดง จากภูมิภาคที่ปัจจุบันเป็นประเทศแคเมอรูน โตโก แทนซาเนีย รวันดา บุรุนดี และนามีเบีย ที่เดินทางมาเยอรมนี

รอบบี ไอต์เค็น นักประวัติศาสตร์ เล่าว่า เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้น ชุมชนดังกล่าวก็ลงหลักปักฐานมากขึ้น และทหารแอฟริกันที่ต่อสู้เพื่อเยอรมนีในสงครามก็ปักหลักอยู่ที่นี่เช่นกัน

แต่ก็มีชาวเชื้อสายแอฟริกาอีกกลุ่มที่ชาวนาซีกังวลว่าจะมาทำให้เชื้อชาติ "ปนเปื้อน"

หลังเยอรมนีแพ้สงคราม ก็มีการลงนามในสนธิสัญญายอมให้กองทัพฝรั่งเศสเข้าครองพื้นที่ที่เรียกว่า ไรน์แลนด์ (Rhineland) ซึ่งเป็นภูมิภาคฝั่งตะวันตกของเยอรมนี ฝรั่งเศสใช้ทหารอย่างน้อย 2 หมื่นคนจากอาณานิคมในแอฟริกาให้เป็นผู้ควบคุมดูแล และบางคนก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงเยอรมันในเวลาต่อมา

ลูกนอกสมรสไรน์แลนด์

ลูกนอกสมรสไรน์แลนด์ (Rhineland bastards) เป็นคำที่คิดขึ้นในช่วงปี 20 ใช้นิยามเด็กเชื้อชาติผสม 600-800 คนที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างทหารแอฟริกันและหญิงเยอรมันในช่วงนั้น

คำดังกล่าวส่งเสริมให้ชาวเยอรมันบางคนยิ่งจินตนาการกลัวเรื่องเชื้อชาติที่ไม่บริสุทธิ์ขึ้นมา มีเรื่องแต่งมากมาย ใส่ร้ายป้ายสีว่าทหารแอฟริกันเป็นผู้คุกคามทางเพศ ซึ่งยิ่งทำให้มีความกังวลเรื่องเชื้อชาติมากขึ้นไปอีก

ในหนังสือว่าด้วยอุดมการณ์นาซี Mein Kampf ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1925 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำนาซี เขียนไว้ว่า เป็นคนยิวที่นำ "นิโกร" เข้ามาที่ไรน์แลนด์ ด้วยความคิดลับ ๆ ที่มุ่งจะทำลายล้างเชื้อชาติคนขาวด้วยการทำให้เกิดลูกนอกสมรส

ไอต์เค็น นักประวัติศาสตร์ เล่าว่า ชาวเยอรมันผิวสีก็โดนมุ่งเป้าเช่นกัน แม้ว่าจะไม่เป็นระบบเท่ากับที่ชาวยิวโดน ในปี 1935 มีการผ่านกฎหมายนูเร็มเบิร์ก ที่นอกจากกำหนดให้การแต่งงานระหว่างคนยิวและคนเยอรมันผิดกฎหมาย ก็ยังมีการปรับให้คนผิวสีอยู่ในประเภทเดียวกับชาวยิวด้วย

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความกังวลการปะปนเชื้อชาติอยู่ และในปี 1937 ก็มีการมุ่งเป้าบังคับให้เด็กที่มีเชื้อชาติผสมจากไรน์แลนด์ เข้ารับการทำหมัน

ฮานส์ ฮอค เป็นหนึ่งในเหยื่ออย่างน้อย 385 คนที่ถูกบังคับให้ทำหมัน ฮอค ซึ่งเป็นลูกชายของทหารชาวอัลจีเรีย และผู้หญิงเยอรมันผิวขาว ปรากฏตัวในสารคดีที่ชื่อ Hitler's Forgotten Victims ที่พูดถึงเหยื่อของฮิตเลอร์ที่ถูกลืม

เขาเล่าว่าถูกนำไปผ่าตัดทำหมันอย่างลับ ๆ จากนั้นก็อนุญาตให้กลับมาทำงานต่อได้โดยให้เซ็นสัญญาว่า จะไม่แต่งงานหรือมีเซ็กส์กับคนที่ "มีเลือดเยอรมัน"

"ผมรู้สึกเศร้าและรู้สึกถูกกดขี่มาก" เขากล่าวกับผู้ทำสารคดี "ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น"

ไอต์เค็น ซึ่งเป็นหนึ่งในนักประวัติศาสตร์ไม่กี่คนที่ค้นคว้าเรื่องนี้ บอกกับบีบีซีว่า มีน้อยคนมากที่พยายามค้นหาว่าท้ายที่สุดแล้วเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มคนพวกนี้

"ต้องอย่าลืมว่าพวกนาซีตั้งใจทำลายหลักฐานเกี่ยวกับค่ายกักกันและการทำหมัน นี่ทำให้เราปะติดปะต่อว่าชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ลงเอยอย่างไรได้ยาก"

อาซานติ ซึ่งเป็นผู้เขียนและกำกับภาพยนตร์เรื่อง Belle และ A United Kingdom บอกว่า ผู้คนเหล่านี้ต้องพบกับวิฤตเรื่องอัตลักษณ์ตัวเอง พวกเขามีพ่อหรือแม่เป็นคนเยอรมัน คิดว่าตัวเองเป็นคนเยอรมัน แต่ก็ยังรู้สึกแปลกแยกและไม่ได้เคยถูกยอมรับอย่างจริง ๆ



ชีวิตคนผิวสีในยุคนาซีเยอรมนี ผ่านภาพยนตร์ Where Hands Touch ของ อัมมา อาซานติ


พยายามไม่ให้มีใครเห็น

ธีโอดอร์ วอนยา มิเคล เกิดในกรุงเบอร์ลินในปี 1925 พ่อของเขาเป็นชายแคมเมอรูน ส่วนแม่เป็นคนเยอรมัน

เขาเล่าให้ DW สถานีโทรทัศน์เยอรมนี ฟังว่า ตอนโตขึ้น ต้องไปปรากฏตัวในสิ่งที่เรียกกันว่า "สวนสัตว์มนุษย์" หรือ การแสดงโชว์ที่ว่าด้วยเรื่องชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของมนุษย์

"ต้องใส่กระโปรงใหญ่ ๆ มีตีกลอง มีเต้น มีร้องเพลง มีความคิดที่ว่ากลุ่มคนที่ถูกนำมาจัดแสดงนี้เป็นสิ่งแปลก และให้ผู้ชมเห็นว่าเมืองบ้านเกิดของพวกเขาเป็นอย่างไร" เขาเล่า

เมื่อนาซีขึ้นครองอำนาจ เขารู้ตัวว่าต้องเก็บตัวให้เงียบที่สุด แม้ว่าเขาจะรู้ว่าด้วยหน้าตาเขา เขาไม่อาจหลีกเลี่ยงความสนใจคนได้

"ผมหลีกเลี่ยงที่จะข้องเกี่ยวติดต่อกับผู้หญิงผิวขาว นั่นเป็นเรื่องไม่ดีแน่ เพราะผมคงจะถูกจับทำหมันและถูกตั้งข้อหาทำให้เชื้อชาติปนเปื้อน" เขากล่าวในสารคดี Afro-Germany ของ DW

ในปี 1942 ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนหนึ่ง สั่งให้ทำการสำรวจประชากรผิวสีที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของแผนสังหารหมู่ อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดไม่ได้มีการทำตามแผนนี้ แต่ก็มีหลักฐานว่ามีคนผิวสีอย่างน้อยกว่า 20 คนที่ถูกจับเข้าไปอยู่ในค่ายกักกัน

ในฐานะลูกครึ่งอังกฤษ-กานา อาซานติรู้สึกว่า กลุ่มคนแอฟริกันพลัดถิ่นมักไม่มีบทบาทและไม่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ยุโรป และภาพยนตร์ของเธอทำให้ปฏิเสธได้ยากว่าคนผิวสีต้องทุกข์ทรมานด้วยน้ำมือของพวกนาซีอย่างไร

"ฉันคิดว่าคนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่มาก และก็มักปฏิเสธว่าคนเหล่านี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง"

 

 

 

 

 

 



ชีวิตคนผิวสีในยุคนาซีเยอรมนี ผ่านภาพยนตร์ Where Hands Touch ของ อัมมา อาซานติ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี BBC NEWS


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์