ทหาร (ไทย) ผ่านศึกเกาหลี ตำนานผู้กล้า..ฉายา พยัคฆ์น้อย


ทหาร (ไทย) ผ่านศึกเกาหลี ตำนานผู้กล้า..ฉายา พยัคฆ์น้อย

"จากกรณีที่สังคมออนไลน์ได้โพสต์และแชร์เรื่องราวของ "คุณลุงวัย 92 ปีรายหนึ่ง" ที่ตามกระแสระบุว่า... ออกมานั่งขายลอตเตอรี่หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งนอกจากคุณลุงท่านนี้จะมี "นามสกุลดัง" แล้ว...ยังเป็น "อดีตวีรชนไทย" ที่เคยผ่านศึกสงครามของโลกอย่าง "สมรภูมิสงครามเกาหลี" อีกด้วย จนผู้คนในโลกโซเชียลให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม นอกจากการติดตามชีวิตของคุณลุงท่านนี้ ที่มีการเผยเรื่องราวกันไปบ้างแล้ว กับ "ปูมประวัติศาสตร์" ของเหล่า "ทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี" ก็ยิ่งมีความน่าสนใจ ซึ่งวันนี้ "ทีมวิถีชีวิต" ก็มีเรื่องราว "ย้อนรอยชีวิตวีรชนผู้กล้าของไทยกลุ่มนี้" มานำเสนอ

"เพื่อยับยั้งการรุกรานของประเทศเกาหลีเหนือ จึงมีกองทัพของมิตรประเทศแสดงความต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือรวมทั้งหมด 16 ประเทศ และหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย" เป็นบางช่วงบางตอนที่ถูกบันทึกเอาไว้ในบทความเรื่อง "ประวัติการรบของไทยในสงครามเกาหลี" เขียนโดย พลเอกเชวง ยังเจริญ ที่ "ทีมวิถีชีวิต" ได้ติดต่อขออนุญาตหยิบยกบางส่วนมานำเสนอ เพื่อฉายภาพให้เห็นถึง "ปฏิบัติการของผู้กล้าจากประเทศไทย" กลุ่มนี้

ทั้งนี้ พลเอกเชวง ได้เขียนเล่าไว้ว่า... "สงคราม เกาหลี" เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 โดยกองทัพเกาหลีเหนือ ที่ได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์และการฝึกจากสหภาพโซเวียต รวมทั้งยังได้รับกำลังสนับสนุนทางทหารจากจีนคอมมิวนิสต์ ได้เคลื่อนกำลังเข้าโจมตีประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งด้วยกำลังที่น้อยกว่า และขาดอาวุธที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกาหลีใต้ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ จนองค์การสหประชาชาติได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ โดยได้มอบหมายให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดตั้งกองบัญชาการสหประชาชาติขึ้น เพื่อส่งไปปฏิบัติการในสมรภูมินี้ โดยทางสหประชาชาติได้ขอความช่วยเหลือทางทหารต่อประเทศสมาชิก เพื่อจะยับยั้งการรุกรานของเกาหลีเหนือ ซึ่งประเทศที่เข้าร่วมมี 16 ประเทศ และหนึ่งในนั้นก็มี "ประเทศไทย" รวมอยู่ด้วย




การเข้าร่วมสงครามเกาหลีของไทยนั้น พลเอกเชวง ได้เขียนเล่าว่า ในระยะแรกรัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร โดยการจัดส่งข้าวไปช่วยทางสหประชาชาติ แต่เมื่อองค์การสหประชาชาติได้ยืนยันขอรับการสนับสนุนทางด้านการทหารด้วย ไทยจึงตกลงใจส่ง กำลังทหารไทยไปปฏิบัติการร่วมกับทางสหประชาชาติ โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 และต่อมาทางรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุมัติ ในการจัดส่งทหารไปร่วมรบกับสหประชาชาติ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้ใช้กำลังทหารเพื่อการรบ เพื่อไปร่วมปฏิบัติการกับสหประชาชาติในสงครามเกาหลี ที่ถือเป็น "จุดเริ่มต้น" ของ "ทหารไทย"

ในการศึกที่สำคัญในต่างแดนครั้งนี้... กำลังทหารไทยชุดแรกที่ถูกส่งไปร่วมรบใน "สมรภูมิเกาหลี" จัดกำลังในลักษณะกรมผสม เรียกว่า "กรมผสมที่ 21" ซึ่งมี พลตรี หม่อมเจ้า พิสิษฐ์ดิษพงษ์ ดิศกุล เป็นหัวหน้าคณะ และเป็นผู้บัญชาการทหารไทย ประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ

ขณะที่กำลังทหาร ไทยที่ไปในสมรภูมินี้ ประกอบด้วย "กองทัพบก" ส่งทหารไปจำนวนทั้งสิ้น 23 ผลัด รวม 11,776 คน แบ่งเป็นนายทหาร 740 คน นายสิบ 5,334 คน พลทหาร 5,702 คน, "กองทัพเรือ" ส่งเรือรบ 2 ลำ คือเรือหลวงประแส ที่มีกำลังพลประจำเรือ 110 คน กับเรือหลวงบางปะกง ที่มีกำลังพลประจำเรือ 110 คน และเรือช่วยรบอีก 1 ลำ คือเรือหลวงสีชัง ที่มีกำลังพลประจำเรือ 85 คน ไปสมทบกับกำลังกองทัพเรือที่ 95 ของสหประชาชาติ และ "กองทัพอากาศ" ได้ส่งหน่วยบินลำเลียงไปสมทบ เพื่อขนส่งทหารและยุทธสัมภาระให้กองทหารภาคพื้นดิน เป็นต้น ...เป็นข้อมูลโดยสังเขป ที่ พลเอกเชวง ได้เขียนเล่าไว้

ทหาร (ไทย) ผ่านศึกเกาหลี ตำนานผู้กล้า..ฉายา พยัคฆ์น้อย


ส่วน "การปฏิบัติหน้าที่" ของกองทหารจากประเทศไทยนั้น มีตั้งแต่การรบปกติ ไปจนถึงการรบขั้นตะลุมบอน เช่น สมรภูมิรบที่ เขาทีโบน เขาพอร์คชอพ และการรบที่เมือง กุมห์วา (Kumhwa) โดยในการรบแต่ละครั้ง ถึงแม้ทหารไทยจะมีกำลังน้อยกว่าข้าศึกหลายเท่า แต่ก็สามารถกดดันข้าศึก จนต้องล่าถอยกลับไปพร้อมกับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งในการรบอันดุเดือดที่เขาพอร์คชอพนั้น ทหารไทยสามารถทำการรบได้เก่งกาจกล้าหาญ และด้วยความเก่งกาจในการรบแบบถึงลูกถึงคนนี้ทำให้ทหารไทยได้รับการชื่นชม จนได้รับสมญานามว่า... "พยัคฆ์น้อย" หรือ "Little Tiger" จากเหตุการณ์รบที่เขาพอร์คชอพ

"เขาพอร์คชอพ" นี้ เป็นสมรภูมิที่ตั้งอยู่บริเวณเมืองชอร์วอน (CHOR-WON) มีพิกัดอยู่ที่บริเวณเหนือเส้นขนานที่ 38 ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นสันเขาโดดเดี่ยว ที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน แถมอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 235 เมตร ซึ่งถือเป็นชัยภูมิสำคัญ ที่ทั้งฝ่ายสหประชาชาติ และฝ่ายตรงข้าม ต้องการยึดครอง โดย พลเอกเชวง ได้เขียนบันทึกถึงเรื่องราวช่วงนี้ว่า

ครั้งนั้น กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 21 (อิสระ) ภายใต้การบังคับบัญชาของ พันโทเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (ยศขณะนั้น) ได้รับมอบหมายภารกิจจากกองพลทหารราบที่ 2 ของสหรัฐ ให้ทำการรักษาที่มั่นเขาพอร์คชอพให้ปลอดภัยจากการเข้าตีหรือยึดครองของข้าศึก ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็น ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง และเต็มไปด้วยหิมะ

ทหาร (ไทย) ผ่านศึกเกาหลี ตำนานผู้กล้า..ฉายา พยัคฆ์น้อย

เหตุการณ์สำคัญ ณ สมรภูมินี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 โดยกองกำลังฝ่ายข้าศึกเริ่มเข้าตีเพื่อหยั่งเชิงกองกำลังของฝ่ายไทย ด้วยการส่งกำลังเข้าตีหลัก ครั้งที่ 1 เมื่อเวลา 18.30-20.30 น. ต่อมาข้าศึกได้ส่งกำลังเข้าตีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม ในการเข้าตีทุกครั้งข้าศึกต้องประสบความล้มเหลว และได้รับความเสียหายทั้งด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์อย่างมาก แต่ข้าศึกก็ยังไม่ละความพยายาม ด้วยการพยายามเข้าตีครั้งที่ 3 อย่างเต็มที่ ในระหว่างวันที่ 10-11 พฤศจิกายน โดยหวังผลการรบถึงขั้นแตกหัก ทั้งนี้ ในการเข้าตีที่เกิดขึ้นในสมรภูมิเขาพอร์คชอพนี้ ฝ่ายข้าศึกได้ใช้กำลังทั้งหมด 6 กองร้อย และใช้ 1 กองร้อยทำหน้าที่ลาดตระเวน เพื่อบุกเข้าโจมตีที่มั่นของกองทหารไทย ซึ่งมีกำลังขั้นต้นเพียง 1 หมวดเท่านั้น

และถึงแม้กองกำลังของสหประชาชาติจะได้ระดมยิงสนับสนุนตลอดเวลา แต่เนื่องจากฝ่ายข้าศึกมีกำลังพลที่มากกว่า จึงสามารถผ่านเครื่องกีดขวางและแนวต้านทานเข้ามาได้ จนการสู้รบดำเนินไปอย่างรุนแรงจนถึงขั้นตะลุมบอน แต่ ทหารไทยซึ่งมีกำลังน้อยกว่าก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้อย่างทรหดกล้าหาญ เพื่อรักษาที่มั่นนี้ไว้ โดยที่ไม่ยอมถอนตัว...  นกว่าจะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา แม้จะได้รับความบอบช้ำและเสียหายจากการรบที่ต่อเนื่อง เป็นเวลานานหลายวัน โดยมีกำลังพลที่บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายนาย แต่ขวัญและกำลังใจของฝ่ายไทยก็ยังคงดีเยี่ยม และในที่สุดฝ่ายข้าศึกได้ถอนตัวออกจากสนามรบ โดยทิ้งทหารฝ่ายตนเองที่เสียชีวิตไปจำนวน 322 ศพ และยังมีทหารที่บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ตลอดจนทิ้งยุทโธปกรณ์เอาไว้เป็นจำนวนมาก โดยเมื่อเหตุการณ์การรบยุติ ฝ่ายไทยมีทหารสละชีวิตไป 25 นาย กับบาดเจ็บอีก 76 นาย

ทหาร (ไทย) ผ่านศึกเกาหลี ตำนานผู้กล้า..ฉายา พยัคฆ์น้อย


อนึ่ง ผลจากการต่อสู้อย่างทรหด เข้มแข็ง กล้าหาญ ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ของทหารไทยครั้งนี้ ทำให้กองทัพที่ 8 ของสหรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยบังคับบัญชาสูงสุดของกองกำลังสหประชาชาติในเกาหลี ได้มอบเหรียญอิสริยาภรณ์ของทางการสหรัฐให้เพื่อเชิดชูวีรกรรมและเป็นเกียรติประวัติแก่นายทหาร นายสิบ และพลทหาร ของกองทัพไทย ที่ได้ร่วมรบ ณ ที่มั่นพอร์คชอพ จำนวน 30 เหรียญ นั่นคือ เหรียญลิเจียนออฟ เมอริต ดีกรี ออฟ เลอยองแนร์ (Legion of Merit Degree of Legionnaire) จำนวน 1 เหรียญ, เหรียญซิลเวอร์สตาร์ (Silver Star) จำนวน 10 เหรียญ, เหรียญบรอนซ์สตาร์ (Bronze Star) จำนวน 4 เหรียญ และ เหรียญบรอนซ์สตาร์ ประดับอักษรวี (Bronze Star with "V") อีกจำนวนทั้งสิ้น 15 เหรียญ เพื่อยกย่องสดุดีความกล้าหาญของ "ทหารจากประเทศไทย" ในการศึกครั้งนี้

ทั้งนี้ ในตอนท้ายของบทความเรื่อง "ประวัติการรบของไทยในสงครามเกาหลี" ที่เขียนโดย พลเอกเชวง ยังเจริญ ได้เล่าบรรยายถึง "ช่วงท้ายของสงครามเกาหลี" ว่า... วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 กองกำลังของทั้งสองฝ่าย ได้ตัดสินใจลงนามในข้อตกลงสงบศึกที่ปันมุนจอม โดยเมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น กองกำลังจากนานาชาติ รวมถึง "กองกำลังทหารจากประเทศไทย" จึงเริ่มถอนตัวออกจากพื้นที่ ตามข้อตกลงสงบศึก โดยคงเหลือกำลังทหารที่เป็นตัวแทนของสหประชาชาติเอาไว้ในพื้นที่ เพื่อเป็นกองกำลังรักษาการณ์อยู่ในสาธารณรัฐเกาหลี ...ที่ถือเป็น "จุดสิ้นสุดการรบ" และ "วีรชนจากเมืองไทย" ได้เดินทางกลับสู่ "มาตุภูมิ...ประเทศไทย" โดยยังคงไว้ซึ่งเรื่องราวความเก่งกล้ามาจวบจนทุกวันนี้...

 

ในฐานะ "ทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี" 
ในฐานะ "กองทหารพยัคฆ์น้อย"

 

 

 

 


ทหาร (ไทย) ผ่านศึกเกาหลี ตำนานผู้กล้า..ฉายา พยัคฆ์น้อย

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์