พระยาอนิรุทธเทวา มหาดเล็ก ผู้ “งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์”
เป็นความตอนหนึ่งใน "ฟื้นรำลึก" ในหนังสือ "ประมวลบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคปกิณกะ" พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอนิรุทธเทวา พ.ศ. 2494 โดยผู้ที่บันทึกข้อความข้างต้นคือ คุณหญิงเฉลา อนิรุทธเทวา ภรรยาของพระยาอนิรุทธเทวา อันมีที่มาจากคำนินทาว่าท่านมิใช่ผู้ชาย เป็น "นายใน" และเป็น "คนโปรด" ของพระมหากษัตริย์
พึ่งบุญ
พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา หรือ หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 เป็นบุตรของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมราชวงศ์ละม้าย พึ่งบุญ) กับพระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา พระนมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพี่ชายคือ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ที่ต่างก็ได้ถวายงานสนองเบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร
พระยาอนิรุทธเทวา ถวายตัวพร้อมกับพี่ชายเมื่อ พ.ศ. 2446 หลังรัชกาลที่ 6 เสด็จนิวัติจากทวีปยุโรปคืนสู่พระนคร จากนั้นใน พ.ศ. 2449 ท่านรับราชการครั้งแรกเป็นมหาดเล็กห้องพระบรรมทม เมื่อ พ.ศ. 2454 จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นนายสมุทรมโนมัย ชั้นหุ้มแพร มีหน้าที่เป็นนายม้าต้นสังกัดกรมพระอัศวราช มีความสามารถด้านขี่ม้ามากยากจะหาใครเทียมในยุคนั้น กระทั่งได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาอนิรุทธเทวา" เมื่อ พ.ศ. 2459 และดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ต่าง เช่น อธิบดีกรมมหาดเล็กและผู้บัญชาการกรมมหรสพ และเป็นมหาดเล็กส่วนพระองค์ถวายงานสนองเบื้องพระยุคลบาทเรื่อยมา
มหาดเล็ก
พระยาอนิรุทธเทวาเป็นมหาดเล็กที่ถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 6 อย่างใกล้ชิดเสมอมา เช่นครั้งที่เสด็จบางปะอิน ถ้ารัชกาลที่ 6 ทรงเรือกรรเชียง พระยาอนิรุทธเทวาจะนั่งเรือลำเดียวกับพระองค์ ส่วนเจ้าพระยารามราฆพจะแล่นเรือยนต์โฉบไปมาเพื่อตรวจความเรียบร้อย ขณะที่มหาดเล็กคนอื่นจะตามเสด็จด้วยเรือกรรเชียงลำอื่น จึงแสดงให้เห็นถึงการเป็น "คนโปรด" ได้อย่างชัดเจน
พระยาอนิรุทธเทวามีหน้าที่ที่ต้องถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิด เช่นมีหน้าที่ตัดแต่งพระนขา (เล็บ) ปลงพระมัสสุ (โกนหนวด) ซึ่งไม่มีใครถวายงานนี้ได้ดีเท่าท่าน และต้องนอนอยู่ใกล้ชิดห้องพระบรรทมหรือพื้นปลายพระแท่น (เตียง) เพื่อถวายอารักขา เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงตื่นบรรทมจะรับสั่งว่า "ฟื้น พ่อตื่นแล้ว" นอกจากนี้ท่านยังได้ร่วมโต๊ะเสวยกับรัชกาลที่ 6 อีกด้วย
การจะเป็นคนโปรดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พระยาอนิรุทธเทวาจำเป็นต้องศึกษางานหลายด้านที่ต้องเพียบพร้อมด้วยความสามารถอันจะถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 6 ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์โดยมิให้ขาดตกบกพร่อง ท่านทราบเสมอว่ารัชกาลที่ 6 โปรดสิ่งใด ไม่โปรดสิ่งใด ถวายงานตลอดทั้งกลางวันกลางคืนโดยมิเหน็ดเหนื่อย "ถวายพระราชปรนนิบัติยิ่งเสียกว่าพระมเหสี" จนทำให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยและโปรดปรานมากรัชกาลที่ 6 โปรดให้พระยาอนิรุทธเทวาถวายงานรับใช้ใกล้พระองค์อยู่เสมอ ตามที่พระธรรมราชนิเทศบันทึกว่า "...ติดสอยห้อยตามพระยุคลบาทเหมือนเงาตามพระองค์ ไม่ว่าจะประทับอยู่ ณ ที่ใด จะเป็นในห้องพระบรรทมก็ดี ห้องพระอักษรก็ดี ในโรงละครก็ดี ในสนามเล่นก็ดี ในสนามเสือป่าก็ดี ในการเสด็จออกขุนนางก็ดี... เราเป็นต้องเห็นท่านเจ้าคุณอนิรุทธเทวาโดยเสด็จใกล้ชิดพระยุคลบาทอยู่เสมอ" จนพระธรรมราชนิเทศกล่าวว่า รัชกาลที่ 6 "ทรงชุบเลี้ยงท่านเจ้าคุณเสมือนหนึ่งเป็นพระราชบุตรบุญธรรม"
คนโปรด
การเป็นคนโปรดนี้เห็นได้จากสิ่งของที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 เช่น ซองบุหรี่ ทรงเซ็นว่า "ให้ ม.ล. ฟื้น ในวันเกิด", นาฬิกาพก ทรงเซ็นว่า "ให้ฟื้น" และพระบรมฉายาลักษณ์ ทรงเซ็นว่า "ให้ฟื้นเป็นรางวัลในการที่ได้สำแดงความตั้งใจปฏิบัติให้ได้รับความพอใจ" เป็นต้น นอกจากนี้ พระยาอนิรุทธเทวายังได้รับเงินพระราชทานตามพระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ 6 ปีละ 18,000 บาท เมื่อหักเงินบำนาญออกแล้วจะได้รับเงินตามพระราชพินัยกรรม ปีละ 11,896 บาท
แม้จะเป็นคนโปรดมากคนหนึ่ง แต่พระยาอนิรุทธเทวาก็มิได้มักใหญ่ใฝ่สูง ดังที่ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกถึงท่านว่า "ส่วนพระยาอนิรุทธเทวาน้องชายนั้น ผู้ที่รู้จักจริงจะต้องพูดด้วยความยุติธรรมว่า "ไม่เหมือนกับพี่ชายเลย" พระยาอนิรุทธฯ ซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานลูกกับพ่อจริง ๆ ไม่มีความมักใหญ่ใฝ่สูงในทางการเมือง"
ครั้นเมื่อเปลี่ยนสู่รัชกาลใหม่ รัฐบาลพยายามตัดทอนค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ราว 4-5 ล้านบาท อันก่อจากรายจ่ายท่วมรายรับมาตั้งแต่รัชกาลก่อน เจ้านายชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์เห็นควรให้ปรับลดเงินในพระราชพินัยกรรมของรัชกาลที่ 6 ลง คือหากผู้ใดได้รับเงิน 2,000 บาท ก็ให้ลดลงเหลือ 1,200 บาท กระนั้นได้สร้างความไม่พอใจให้ผู้ที่มีสิทธิ์ตามพระราชพินัยกรรม เช่น พระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) และเจ้าพระยารามราฆพ ถึงขั้นรวมกันฟ้องเรียกพระราชพินัยกรรมนั้น แต่เรื่องนี้ พระยาอนิรุทธเทวาไม่ยอมลงชื่อฟ้องด้วย บอกว่า "ถึงจะอดจนท้องแห้งก็ไม่ฟ้อง" อย่างไรก็ตาม ศาลตัดสินว่าในเวลาที่ทรงชี้ขาดนั้นเป็นเวลาสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ เรื่องนี้จึงเป็นอันยุติไป
ชายหนุ่มรูปงามพระยาอนิรุทธเทวาเป็นคนที่มีลักษณะและอุปนิสัยเรียบร้อย ตามที่พระธรรมราชนิเทศอธิบายว่าท่านมีนิสัยเยือกเย็น สุขุม มีจริตกิริยาแช่มช้อย เมื่อมีโอกาสปราศรัยด้วยก็เป็นคนน่ารักน่านับถือ นอกจากนี้ท่านยังมี "หัว" ในทางสวยงาม มองเห็นอะไร ๆ ในแง่สวยงาม ส่วนคุณหญิงเฉลาอธิบายว่า พระยาอนิรุทธเทวามีนิสัยใจคอละเอียดอ่อน ละมุนละไม เมตตาปรานีทุกคนที่คบหาสมาคม หวังดีต่อทุก ๆ คน เป็นคนอ่อนน้อม และน่าเคารพบูชา ด้วยกิริยาต่าง ๆ เหล่าจึงนี้ทำให้เกิดเสียงนินทาว่าท่านมิใช่ผู้ชาย
คำครหานินทาเหล่านั้นคงจะมีที่มาจากเหตุหนึ่งคือ พระยาอนิรุทธเทวามักแต่งกายคล้ายผู้หญิง ตามบันทึกของ หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ ว่าเมื่อครั้งที่ท่านไปงานฤดูหนาวที่วังสราญรมย์ ท่านได้ไปเจอ "ชายงาม" ที่ทำให้ท่านติดตาติดใจ หลับตาก็ยังเห็นภาพของชายผู้นั้น ทุกคนต่างชมว่าชายผู้นั้นงาม "งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์ ผู้ชายใส่เครื่องเพชรทั้งตัวงามวูบวาบไปหมด มองดูกลับไม่น่าเกลียด กลับเห็นเป็นน่ารัก แม้จะใส่สร้อยเพชรที่ข้อเท้า ก็ดูเก๋ดีออกจะตาย หน้าท่านก็ขาวสวย ผมก็ดำสนิทหยักศกสวย ลูกตาใสแวววาว ดูไปทั้งตัวสวยไปทั้งนั้น สมแล้วที่ท่านชื่ออนิรุทธเทวา แสดงว่าเทวดาจุติมาจากสวรรค์"
ขณะที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัยทรงบันทึกไว้ว่า "พวกที่ไม่ชอบก็ไม่มีอะไรจะติเตียนนอกจากหัวเราะกันว่าพระยาอนิรุทธฯ ชอบแต่งตัวใกล้ๆ ผู้หญิง" อย่างไรก็ตาม พระยาอนิรุทธเทวามิได้แต่งกายเป็นหญิงทุกวัน หากแต่แต่งตามโอกาสสำคัญเท่านั้น ถึงอย่างนั้นก็มิพ้นคำนินทา เมื่อมีเสียงชมก็ต้องมีเสียงตำหนิ เป็นสัจธรรมของมนุษย์ "จนใคร ๆ พากันโจษว่าท่านเป็นกะเทย" ซึ่งคุณหญิงเฉลาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยอธิบายว่า
"จนใคร ๆ นึกว่าพ่อใจเป็นผู้หญิง ชอบเลียนแบบอย่างผู้หญิง เพราะพ่อเป็นคนเอวบางร่างน้อย จริตกิริยาเหมือนผู้หญิง แต่แท้จริงพ่อเป็นสุภาพบุรุษที่มีใจเข้มแข็ง บึกบึน เด็ดเดี่ยว มั่นคง อดทน กล้าหาญไม่แพ้ชายชาติชาตรีทั้งหลาย"
บั้นปลาย
ภายหลังรัชกาลที่ 6 สวรรคต พระยาอนิรุทธเทวาได้ลาออกจากราชการ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในบ้านบรรทมสินธุ์ บ้านพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ท่านไม่มุ่งแสวงหาโชคลาภเงินทอง และยังคงแนวพระราชนิยมหรือพระราโชบายของรัชกาลที่ 6 นำมาปฏิบัติเสมอมา เช่น การจัดตั้งคณะนาฏศิลป์เรียกว่า "คณะละครบรรทมสินธุ์" และการหัดระบำให้กับเด็กรุ่นใหม่ ท่านได้ช่วยอุปถัมภ์นาฏศิลป์และให้การสนับสนุนกรมศิลปากรเริ่มฟื้นฟูการแสดงนาฏศิลป์ไทย ช่วยวิจารณ์ชี้แนะในฐานะผู้ที่มีความสามารถด้านศิลปกรรมแขนงนี้มากคนหนึ่งของชาติ
พระยาอนิรุทธเทวาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สมรสพระราชทานกับคุณหญิง เฉลา อนิรุทธเทวา เมื่อ พ.ศ. 2467 มีบุตร-ธิดา ร่วมกัน 3 คน คือ งามเฉิด พึ่งบุญ ณ อยุธยา, งามฉลวย พึ่งบุญ ณ อยุธยา และ เฟื่องเฉลย พึ่งบุญ ณ อยุธยา
เมื่อพระยาอนิรุทธเทวาเสียชีวิต พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงมีจดหมายถึงเจ้าพระยารามราฆพเกี่ยวกับข่าวเสียชีวิตของพระยาอนิรุทธเทวา ความตอนหนึ่งทรงอธิบายว่า "ฉันนับถือเธอในฐานเป็นมหาดเล็กที่ซื่อสัตย์ยิ่งคนหนึ่งของทูลหม่อมลุง (รัชกาลที่ 6 - ผู้เขียน) นับถือที่เป็นนักระบำอันรำอย่างสวยงามยิ่ง..." ซึ่งได้สร้างความประทับพระทัยแด่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นอย่างมาก
พระยาอนิรุทธเทวาป่วยด้วยโรคหัวใจพิการ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2494 สิริอายุ 58 ปี ท่านเสียชีวิตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงรัชกาลที่ 6 และตลอดช่วงชีวิตของพระยาอนิรุทธเทวา "ท่านเจ้าคุณหนักแน่นด้วยความจงรักภักดีอย่างไม่มีเสื่อมคลาย"เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag.com