การจัดการพื้นที่ “ด้านมืด” ของกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5
พื้นที่เหล่านี้เป็นทั้งที่พักอาศัยและประกอบอาชีพของราษฎรจำนวนไม่น้อยในกรุงเทพฯ การพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ในเขตเมืองหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 มีส่วนสำคัญต่อการเกิดบริเวณ "ด้านมืด" ของกรุงเทพฯ ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่มีส่วนผลักดันแหล่ง "อบายมุข" เข้าไปในพื้นที่ส่วนนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาจนภาครัฐต้องเข้าจัดการพื้นที่เหล่านี้ผ่านหน่วยงานที่สำคัญคือ กองตระเวน ซึ่งเป็นการนำพาอำนาจรัฐไปสู่พื้นที่ส่วนต่างๆของเมืองหลวงให้เกิดความสงบสุขในยุคที่รัฐมุ่งรวบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
กำเนิด "ด้านมืด" ในกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับการปรับปรุงจนมีรูปลักษณ์เป็นเมืองที่มีความศิวิไลซ์ เช่นที่ เทียนวรรณ นักคิดนักเขียนสมัยนั้น บันทึกไว้ในจดหมายเหตุคำกลอน สรุปพระราชกรณียกิจภายหลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2453 ดังนี้
"สร้างตลาดเสาร์ชิงช้าตรงน่าวัด นามสุทัศนิเทศเปนเดชศรี ตัดถนนในนครในตอนนี้ รวมถึงสี่ห้าถนนหนไปมา เรียกพระราชดำเนินเดินสดวก ทั้งรวมบวกราชินีมีสง่า พาหุรัฐตัดกว้างทางลี้ลา อีกเรียกว่าถนนเข้าสารโบราณนาม กับถนนบพิธติจไม่กว้าง มีหนทางทลุไปในสนาม น่าที่นั่งสุไธยสวรรค์สำคัญนาม สร้างตึกรามรอบเมืองรุ่งเรืองครัน"
การปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพของกรุงเทพฯ ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญของบ้านเมือง แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงพระราชอำนาจของรัชกาลที่ 5 ที่ประสบความสำเร็จจากการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอันเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบราชการหลายด้าน แต่กระนั้นท่ามกลางสิ่งก่อสร้างอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองแห่งรัชสมัยยังมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่เร้นลับสายตาผู้คนจากแนวถนนใหญ่และตึกแถวสวยงามสองข้างทาง ได้แก่ พื้นที่หลังตึกแถวและตรอกซอยต่าง ๆ ที่มีจำนวนมาก พื้นที่ของเมืองดังกล่าวนับว่าเป็นพื้นที่ "ด้านมืด" ของเมืองอันเป็นบริเวณที่มีราษฎรเข้าใช้ประโยชน์ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ไม่น้อยไปกว่าตามแนวถนนสายหลัก แต่ก็เป็นพื้นที่ซึ่งประสบปัญหามากมายเช่นกัน ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทั่วไปในเมืองใหญ่ดังที่ เจ้าชายวิลเลียมแห่งสวีเดน (H.R.H.Prince William of Sweden) ซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2454 กล่าวว่า "กรุงเทพฯ ก็เป็นเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ทุกเมืองที่จะต้องมีด้านมืด"
ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ซึ่งจะทำให้เกิด "ด้านมืด" ของเมือง ส่วนหนึ่งเกิดจากลักษณะของการตั้งถิ่นฐานของราษฎรในกรุงเทพฯ แต่เดิม เช่น บริเวณสำเพ็ง ย่านการค้าของชาวจีนที่มีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้มีลักษณะ "ไม่เป็นถนนแท้ แต่เป็นเหมือนตรอกใหญ่ ๆ มีห้างร้านค้าซึ่งเป็นจีนเกือบทั้งหมด ติดต่อกันตลอดไปตั้งแต่ประตูสะพานหัน ไปจนจดแม่น้ำที่วัดกะละหว่า" การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในสำเพ็งอาศัยแนวลำน้ำเจ้าพระยาสำหรับขนถ่ายสินค้าเป็นหลักทำให้จำเป็นต้องมีตรอกซอยจำนวนมากสำหรับเดินลงท่าน้ำหรือท่าเรือ อีกทั้งบริเวณนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องเชื่อมทางสัญจรทางบกด้วยการมีตรอกซอยในชุมชนทำให้บริเวณสำเพ็งมีตรอกซอยจำนวนมากเช่นขุนวิจิตรมาตราบรรยายว่า
"มีตรอกมีซอยซอย สำหรับเดินถึงกันตลอดทั้งสองซีก ซีกขวาเป็นตรอกลงแม่น้ำ ซีกซ้ายเป็นตรอกไปออกทุ่งทางบก สรุปแล้วก็ว่าสามเพ็งหรือจะเรียกว่า "ย่านสามเพ็ง" เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านสกัดทางตะวันตกเป็นคลองโอ่งอ่าง ด้านสกัดทางตะวันออกเป็นคลองผดุงฯ ด้านเหนือเป็นแนวถนนเจริญกรุง ด้านใต้เป็นแนวลำแม่น้ำเจ้าพระยา มีถนนใหญ่สายเดียวคือถนนสามเพ็ง นอกนั้นเป็นตรอกเป็นซอยไปทั้งสิ้น เป็นที่อยู่ของชนชาวจีน"ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐต้องการพัฒนาเมืองหลวงด้วยการตัดถนนได้ตัดผ่านบริเวณตรอกซอยที่มีมาแต่เดิม เช่น ถนนเยาวราช ซึ่งผ่านบริเวณพื้นที่สำเพ็งเดิมทำให้สองฝั่งของถนนสายนี้เต็มไปด้วยตรอกซอยเช่นเดียวกับถนนสำเพ็งที่มีมาก่อนหน้านี้ ลักษณะเช่นนี้สะท้อนได้จากจำนวนตรอกซอยที่สำรวจอย่างเป็นทางการในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2426 เพื่อกำหนดเลขที่บ้านสำหรับส่งไปรษณีย์ในฝั่งพระนครและธนบุรีซึ่งมีรายชื่อถนน 77 สาย ส่วนตรอกมีถึง 102 ตรอก จำนวนของตรอกที่มากมายเช่นนี้สะท้อนถึงลักษณะการตั้งถิ่นฐานของราษฎรที่เน้นการใช้พื้นที่บนบกมากขึ้นซึ่งหมายถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ "ด้านมืด" ของราษฎรในเมืองหลวงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ พื้นที่ซึ่งจะเป็น "ด้านมืด" ของเมืองยังเกิดจากลักษณะการสร้างถนนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างทั้งในแนวตรงและแนวขนานกันทำให้ถนนแต่ละสายตัดกันลักษณะสี่เหลี่ยมตามอย่างถนนในตะวันตก ซึ่งส่งผลต่อลักษณะการสร้างตึกแถวสองฝั่งถนนเกิดลักษณะเป็นกำแพงล้อมรอบพื้นที่ทั้งสี่ด้าน มีพื้นที่ใหญ่อยู่ตรงกลาง ซึ่งมักใช้เป็นที่สร้างตลาด รวมถึงสถานบันเทิง เช่น โรงมหรสพ อย่างที่ตลาดนางเลิ้ง ตลาดท่าเตียน และตลาดเสาชิงช้า ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่ตรงกลางตึกแถวเหล่านี้บางทีเรียกว่า "เวิ้ง" มักมีทางเข้าออกเพื่อเชื่อมกับถนนใหญ่ ซึ่งมักมีผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานหรือสร้างตึกและโรงแถวให้เช่า เช่น ตึกแถวบริเวณถนนจักรเพชรและถนนบ้านหม้อบริเวณเวิ้งข้างในมีการสร้างห้องแถวชั้นเดียวให้เช่าซึ่งมีผู้นิยมไปเช่ากันมาก
บทบาทของพื้นที่ "ด้านมืด" ต่อราษฎรพื้นที่ซึ่งเป็น "ด้านมืด" ของกรุงเทพฯหลายแห่งเป็นแหล่งห้องเช่าของราษฎรมีทั้งที่เป็นห้องแถวไม้ โรงแถวและตึกแถวชั้นเดียว เช่น บริเวณตรอกซอยริมถนนตะนาวมีลักษณะตึกแถวตามที่ขุนวิจิตรมาตรากล่าวคือ "ตึกแถวเตี้ยชั้นเดียวนี้ค่อนข้างกว้างและลึกเข้าไปมาก กั้นเป็นห้องได้ถึงสามห้อง ส่วนลึกตอนสุดท้ายของห้องเป็นพื้นที่ดินรก ๆ คนอยู่ต่อเป็นชานและทำบันไดสองสามชั้นลงไปได้"
ห้องเช่าตามตรอกและหลังตึกแถวส่วนใหญ่เป็นที่พักอาศัยของราษฎรที่มีรายได้น้อย โดยอัตราค่าเช่าห้องในปี พ.ศ. 2450 บริเวณถนนบำรุงเมืองและถนนเจริญกรุงอยู่ที่ 3-10 บาทต่อเดือน นับว่าเป็นค่าเช่าอัตราถูกมากหากเทียบกับค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือระหว่างปี พ.ศ.2443-2453 ที่อยู่ระหว่าง 75 สตางค์-1 บาทต่อวัน แต่ถึงกระนั้นแล้ว ยังมีผู้เช่าได้ค้างค่าเช่าอยู่เสมอ เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2451 จีนชื่นค้างค่าเช่าห้องของพระคลังข้างที่ในตรอกสุนัขเน่าเดือนละ 4 บาทต่อเนื่องกันถึง 2 เดือน จนผู้ดูแลต้องขับไล่จีนชื่นเพื่อนำห้องไปให้ผู้เช่ารายอื่นต่อไปสะท้อนถึงสถานะทางเศรษฐกิจของราษฎรที่อาศัยในบริเวณ "ด้านมืด" ของกรุงเทพฯเป็นอย่างดี
สถานะทางเศรษฐกิจของบรรดาผู้เช่าตามตรอกซอยและพื้นที่หลังตึกแถวจะเดือดร้อนมากขึ้นหากต้องสูญเสียแหล่งพำนักของตนไปเมื่อกรุงเทพฯ กำลังก้าวเข้าสู่ความศิวิไลซ์ด้วยถนนและตึกแถวที่เป็นระเบียบสองข้างทาง ดังในคำร้องทุกข์ของราษฎรชาวตรอกเต๊าเมื่อปี พ.ศ. 2436 กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมของเจ้าพนักงานเมื่อมีการตัดถนนเยาวราชผ่านชุมชนของตน ดังนี้
"ด้วยที่ ๆ ตำบลตรอกเต๊านั้น เจ้าพนักงานไปวัดตัดจะทำถนนวัดปักไม้หาตรงเปนยุติธรรม์ไม่ ถ้าถูกที่บ้านผู้มีบรรดาศักแล้ว เจ้าพนักงานก็ไม่ทำ กลับวัดปักใหม่ ถูกแต่ที่ราษฎรทั้งสิ้น ถนนก็หาตรงไม่ ภวกข้าพระพุทธเจ้าได้ความเดือดร้อนนัก เพราะจะอยู่อาไศรไม่มี ๆ ก็ถูกตัดทำถนนหมด ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯว่า ไม่มีที่อาไศรข้าพระพุทธเจ้าจึงร้องทุกขถวาย เพื่อได้รงับทุกขราษฎร"
ความสำคัญของพื้นที่ "ด้านมืด" ยังเป็นแหล่งประกอบอาชีพที่หลากหลายของราษฎร เช่น ในตรอกต่าง ๆ ในกรุงเทพฯหลายแห่งมีการประกอบอาชีพที่สัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ บางแห่งขึ้นชื่อเรื่องผลิตสินค้าบางประเภทจนมีการนำเอาชื่อผลิตภัณฑ์ในตรอกมาเป็นชื่อสถานที่ เช่น ตรอกย่านคนจีนอย่างตรอกสุกร มีราษฎรตามที่สำรวจทะเบียนบ้านเมื่อปี พ.ศ. 2426 มีชาวจีนประกอบอาชีพเลี้ยงสุกร ขายสุกร และเป็นเจ้าภาษีสุกร จำนวน 5 รายจาก 14 ราย ส่วนตรอกถั่วงอก มีชาวจีนเพาะถั่วงอกขายเพียงรายเดียวขณะที่การประกอบอาชีพของชาวไทย เช่น ตรอกที่เป็นย่านพักอาศัยของข้าราชการชาวไทยก็จะมีบรรดาข้าราชการกรมกองต่าง ๆ อาศัยอยู่มาก เช่น ตรอกข้างวัดราชนัดดาราม ตรอกบ้านลาวข้างวัดโสมมนัส ส่วนตรอกข้างโบสถ์พราหมณ์ มีคนไทยผลิตสินค้าขาย เช่น ดินสอ และข้าวเกรียบ อีกด้วย
สำหรับตรอกอีกหลายแห่งกลับขึ้นชื่อในเรื่อง "แหล่งอบายมุข" ซึ่งนับเป็นแหล่งให้ความบันเทิงของชาวกรุงเทพฯ ขณะนั้น เช่น ตรอกเต๊า ตรอกแตง ตรอกอาเนียเกง ตรอกอามาเกง ตรอกมูลฝอย และตรอกโรงคราม ตรอกเหล่านี้อยู่บริเวณสำเพ็งเป็นแหล่งโสเภณี เนื่องจากกลุ่มลูกค้ามักเป็นชาวจีนอาศัยอยู่ในย่านการค้าที่สำคัญแห่งนี้ ส่วนพื้นที่หลังตึกแถวก็เป็นแหล่งประกอบกิจการประเภทนี้เช่นกัน ดังในรายงานการสืบคดีเพลิงไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2449 กล่าวถึงโรงหญิงหาเงินของอำแดงแหบริเวณตรอกวัดตึกเก่า ย่านสำเพ็ง ให้รายละเอียดถึงลักษณะของแหล่งประกอบการในพื้นที่ดังกล่าวว่า
"โรงหญิงหาเงินโรงนี้ เปนโรงไม้ 2 ชั้น 5 ห้อง ตั้งอยู่เคียงตรอกวัดตึกเก่า ปลูกอยู่หลังตึกแถวริมถนนจักรวรรดิ ที่สี่แยกถนนจักรวรรดิ์กับถนนเยาวราชมุมตะวันตกเฉียงใต้ มีตรอกเดินคั่นระหว่างหลังตึกแถว กับโรงหญิงหาเงินเลี้ยวออกมาถนนจักรวรรดิ์ทางด้านสกัดตึกแถวได้อีกทางหนึ่งด้วย"
บรรดากิจการ "โรงหญิงหาเงิน" มักเฟื่องฟูอยู่ตามบริเวณ "ด้านมืด" ของเมืองได้แก่พื้นที่ตรอกต่าง ๆ และพื้นที่หลังตึกแถว ซึ่งมักมีความเกี่ยวเนื่องกันในเชิงกายภาพเพราะตรอกซอยเหล่านี้ก็ถูกใช้เป็นทางสัญจรเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่หลังตึกแถวกับแนวถนนสายหลักของเมือง
นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งรวมสถานบันเทิงนานาชนิดโดยเฉพาะ โรงบ่อนเบี้ย ที่มักมีโรงมหรสพ ร้านขายอาหารหลากหลายประเภท ไปจนถึงโรงรับจำนำ ตั้งอยู่รายรอบจนกระทั่งเป็นศูนย์กลางบันเทิงของราษฎร ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายของภาครัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 จนถึงปี พ.ศ. 2460 ได้มุ่งลดจำนวนบ่อนจาก 431 แห่งให้เหลือเพียง 16 แห่ง โดยเฉพาะนโยบายภาครัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430-2434 ได้เปลี่ยนแปลงทำเลที่ตั้งของบ่อนจากริมถนนใหญ่ให้ไปอยู่ตามตรอกซอยทั้งหมด นับเป็นการผลักดันให้โรงบ่อนเข้าไปอยู่ในใจกลางของชุมชนมากขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นการสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ภาครัฐ นโยบายดังกล่าวกลับเป็นการสร้างปัญหาให้กับเมืองหลวงเพราะทำให้พื้นที่ "ด้านมืด" เป็นแหล่งของคดีอาชญากรรมที่สำคัญซึ่งเป็นภาระที่รัฐต้องแก้ไขในภายหลัง
พื้นที่ "ด้านมืด" : ปัญหาของเมืองหลวงบริเวณสองฝั่งถนนของกรุงเทพฯ เป็นภาพลักษณ์ความศิวิไลซ์ของเมืองหลวงที่เป็นผลมาจากการพัฒนาพื้นที่เชิงกายภาพอย่างเป็นรูปธรรม แต่ถัดจากแนวถนนใหญ่นั้นกลับให้ภาพที่ต่างออกไป เช่นที่เจ้าชายวิลเลียมแห่งสวีเดน ได้ออกท่องเที่ยวพื้นที่ "ด้านมืด" ของกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2454 เพราะทรงต้องการ "ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับความไม่ดีไม่งามต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร" ดังนั้นจึงทรงเลือกตรอกบางแห่งในย่านสำเพ็งซึ่งมีทั้งโรงยาฝิ่น และโรงบ่อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับพระองค์สภาพ "แหล่งท่องเที่ยว" ที่ทรงบรรยายนั้นแตกต่างจากความศิวิไลซ์ของกรุงเทพฯอย่างสิ้นเชิง ดังนี้
"ตอนบ่ายคล้อยวันหนึ่งเราได้ออกเดินทางด้วยรถลากเสียงดังกรุ๋งกริ๋ง ๆ ไปตามถนนสายกว้างซึ่งสว่างไสวไปด้วยแสงไฟฟ้า แต่เมื่อเราผ่านถนนอันกว้างขวางนั้นมาแล้วเราก็จะเข้าสู่ทางแคบ ๆ เป็นซอกซอยคดเคี้ยว เป็นย่านที่มีคนอยู่อย่างบางตา มีโคมไฟกระดาษแขวนประดับอยู่หน้าประตูตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง ซึ่งนี่ก็คือ "ด้านมืด" ของกรุงเทพฯ ดังที่เราได้กล่าวถึงไปแล้ว
ทุกสิ่งดูสงบเงียบและไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เราแทบจะไม่ได้เห็นมนุษย์เลยซักคนได้ยินแต่เสียงเห่าหอนอย่างโหยไห้ของสุนัขดังแทรกความเงียบงันขึ้นมาบ้างเป็นครั้งเป็นคราว เห็นบ้านหลังเตี้ย ๆ ผุ ๆ ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ บานหน้าต่างประตูไม้ดำทะมึนประจันหน้าเข้าหาเราเหมือนกับเป็นเบ้าตาอันว่างเปล่าของภูติผีปีศาจ ข้าพเจ้าเองนั้นเคยหลงทางเมื่อนานมาแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าข้าพเจ้าคงไม่มีทางหาออกไปจากเขาวงกตนี้ได้ด้วยตัวเองเป็นแน่แท้ ทางยังคงแคบลงเข้าไปเรื่อย ๆ สรรพสิ่งที่อยู่แวดล้อมนั้นก็ยิ่งดูลึกลับและน่าเกลียดมากขึ้น แต่ก็ยังอุ่นใจที่เรามีหัวหน้าตำรวจร่วมมาในคณะด้วยคนหนึ่ง แล้วก็ยังมีปืนพกของบราวนิ่งพกอยู่ในกระเป๋ากางเกง"การออกท่องเที่ยวกรุงเทพฯของพระราชอาคันตุกะผู้สูงศักดิ์พระองค์นี้อาจเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงภัยอยู่มากเมื่อทรงต้องเผชิญกับพื้นที่ "ด้านมืด" ดังนั้นการมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธคุ้มกันมาด้วยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่สำหรับราษฎรทั่วไปการสัญจรผ่านบริเวณเช่นนี้นับว่าเสี่ยงอันตรายไม่น้อยโดยเฉพาะยามค่ำคืนตามท้องถนนของกรุงเทพฯ มักมีคดีฉกชิงวิ่งราวจำนวนมาก และบรรดาคนร้ายก็อาศัยตรอกซอยต่าง ๆ หลบหนีเป็นประจำ มิหนำซ้ำเหล่าคนร้ายยังอาศัยบริเวณพื้นที่หลังตึกแถวก่อเหตุโจรกรรมผู้พักอาศัยตึกแถวบริเวณริมถนนอีกด้วย เช่น รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์บางกอกสมัยเมื่อปี พ.ศ. 2442 ดังนี้
"เมื่อวันที่ 3 เดือนนี้ เวลากลางคืนมีอ้ายคนร้ายเอาบันไดพาดหลังตึกแถวถนนน่าบ้านพระยาพิไชยสงคราม ห้องนายคำแดงสมบุญ เจ้าของห้องไม่รู้สึก อ้ายคนร้ายเกบเอากำไลทองคำและ รูประพรรณ์ต่าง ๆ โคมลาน ขันน้ำ รวมราคา 5 ชั่งเศษ รุ่งเช้าจึ่งได้ทราบและเหนบันไดอ้ายคนร้ายซึ่งทิ้งอยู่หลังตึก"
ไม่เพียงปัญหาอาชญากรรมแต่พื้นที่ "ด้านมืด" ซึ่งเป็นแหล่งพักอาศัยของราษฎร เช่น บริเวณหลังตึกแถวยังมีวิถีชีวิตไม่น่ารื่นรมณ์สำหรับเมืองที่กำลังก้าวสู่ความศิวิไลซ์ ดังที่ มิสเตอร์อิริก เซ็น เย ลอซัน เจ้ากรมกองตระเวน ร้องเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2448 ว่า ราษฎรใช้พื้นที่หลังตึกแถวปลูกเพิงและโรงครัวรุกล้ำเข้ามายังพื้นที่กระทรวงนครบาล สร้างปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
"ข้าพระพุทธเจ้าขอความกรุณาเจ้าคุณได้โปรดสั่งให้เจ้าพนักงานลงมือทำโดยเร็วด้วย เพราะว่าถ้าทิ้งไว้ไม่มีกำแพงหรือกั้นรั้วกั้นเขตร์แล้ว พวกเช่าตึกเหล่านี้ก็คงจะขืนปลูกโรงร้านกินเขตร์เข้ามาเสมอ แลการที่เขาเข้ามาอยู่ใกล้นั้น ได้กระทำให้เกิดความรำคานต่าง ๆ คือ ตีเด็กร้องให้มีเสียงอึกกระทึก แลตำน้ำพลิกทำครัว แลเทลาะกันเองบ้าง แลบางทีก็ลอบเอาของโสโครกมาเททิ้งไว้ตามริมออฟฟิศมีกลิ่นเหม็นอย่างที่สุด ข้าพเจ้าอยากจะขอให้กันคนพวกนี้ออกไปเสียให้ห่างจากกระทรวงให้ได้จงมากที่สุด"
สำหรับพื้นที่บริเวณตรอกซอยต่าง ๆ ก็เป็นบริเวณที่ซุกซ่อนความไม่งดงามของเมืองไว้โดยเฉพาะปัญหาสิ่งปฏิกูลจนหลายตรอกเป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องนี้สะท้อนออกมาจากชื่อของตรอกอย่าง ตรอกเว็จขี้ หรือตรอกอาจม และ ตรอกสุนัขเน่า จนกระทั่งหนังสือพิมพ์บางฉบับเรียกร้องให้ทางการเปลี่ยนชื่อตรอกทั้งสองแห่งเป็น ตรอกเสาวคนธ์ และตรอกวิมลมาลี ด้วยเห็นว่าชื่อตรอกที่เรียกกันนั้น "เหมือนเรียกบอกอาการประจานชื่อให้คนรู้เหตุชั่วร้ายมาแต่เดิมว่า ตรอกที่หนึ่งในบ้านเมืองมีแต่อาจมลามก สกกะปรกด้วยของโสโครก ตรอกที่สองนั้นก็เปนของมีแต่ซากศพสุนักข์เน่าเปนอสุจิน่าเกลียดน่าชังไปทั้งสิ้น" ส่วนบางตรอกอาจมีสภาพความสกปรกมากกว่านี้ เช่นที่ตรอกแปดตำรวจใกล้กับวัดมหาธาตุถึงขั้นมีศพคนตายทิ้งอยู่ในตรอกเป็นเวลาหลายวัน
การจัดการพื้นที่ "ด้านมืด" ของกรุงเทพฯการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐได้อาศัยหน่วยงานกองตระเวน ก่อนจะพัฒนาเป็นตำรวจในปัจจุบันเข้ามาดำเนินการเป็นหลัก หน่วยงานนี้พัฒนามาจากกองโปลิศคอนสเตเบิล ที่ตั้งขึ้นแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 แต่ได้มีการปฏิรูปด้วยการวางกฎระเบียบการบริหารงานกองตระเวนให้เป็นระบบมากขึ้นในปี พ.ศ. 2433 ซึ่งหน่วยงานนี้รับผิดชอบปัญหาในเมืองหลวงโดยตรงและเห็นปฏิกิริยาต่อการจัดการพื้นที่ "ด้านมืด" จากพระวินิจฉัยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ คอมมิตตี กรมพระนครบาลเมื่อแรกปรับปรุงกองตระเวน ซึ่งทรงอธิบายเรื่องโครงสร้างทางกายภาพของกรุงเทพฯที่มีต่อปัญหาอาชญากรรมและการจัดการปัญหา ดังนี้
"กำหนดวางคนประจำน่าที่แห่งละ 2 คนอยู่ข้างมากนั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นการกำหนดไว้ว่าควรจัดชั้นแรกโดยเหตุที่ข้าพระพุทธเจ้าคิดให้เก็บรักษาเข้าไปในตรอกด้วย เพราะการวิวาทวิ่งราวแลลอบตีฟันกันนั้น มักมีเหตุในตรอกฤาปากทางที่จะเข้าตรอกเป็นพื้น ด้วยถนนในกรุงเทพฯ ไม่เหมือนถนนประเทศฝรั่งเศสเป็นทางเล็กมากกว่าทางใหญ่ ถ้าผู้ร้ายกระทำร้ายแล้วมักหลบเข้าไปในทางเล็กซึ่งไม่มีตึกแลบ้านเรือนกั้นทางก็หนีหลบไปได้ทุกแห่ง อิกประการหนึ่งถึงในถนนใหญ่ก็ดีมีคนที่กระทำร้ายมากกว่าประเทศฝรั่ง โดยเหตุเพราะโรงบ่อนเบี้ยมีมากตำบลนั้นอย่างหนึ่ง โรงขายสุรายาฝิ่นมีมากตำบลอย่าง 1 ชักนำให้คนกระทำชั่วมาก เพราะถ้าเมาสุราเข้าแล้วก็พาให้วิวาท ถ้าสูบยาฝิ่นไม่พอแลเล่นเบี้ยเสียลงก็พาให้เที่ยววิ่งราวแลลอบลักย่องเบา แลซ้ำไปจำหน่ายของที่โรงรับจำนำได้ง่ายโดยไม่ซ่อนเร้นดังนี้ จึ่งกระทำให้มีคนชั่วเที่ยวกระทำร้ายไม่เบาบาง"
ไม่เพียงเท่านั้น การแก้ปัญหาอาชญากรรมในบริเวณพื้นที่ "ด้านมืด" ยังรวมถึงการกำหนดให้เจ้าของบ้านทำประตูล้อมรอบบ้านของตนไว้เพื่อใช้เป็นทางสกัดคนร้ายที่หลบหนีตามซอยต่าง ๆ อีกด้วย
มาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนของราษฎรที่ต้องสัญจรในบริเวณเหล่านี้ เช่น คดีวิ่งราวหมวกบริเวณตรอกวัดพิเรนทร์ ถนนวรจักร เมื่อปี พ.ศ. 2443 ปรากฏในรายงานของกองตระเวนซึ่งแสดงถึงการตรวจตราพื้นที่จนสามารถช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อนได้ ดังนี้
"วันที่ 14 กรกฎาคม ร.ศ.119 เวลาค่ำ 1 ทุ่ม 30 มินิจ นายนาคนายยามที่ 1 กับนายโชตนายยามที่ 2 มาแจ้งความว่า เดินตรวจไปถึงสี่แยกถนนวรจักร์ ได้ยินเสียงจีนมีชื่อร้องว่าคนร้ายวิ่งราวหมวกสองสานสีขาว ทันใดนั้นนายนาค นายโชต นายเลื่องพลฯ ได้ช่วยกันติดตามจับคนร้าย ๆ ทิ้งหมวกเสียหนีไป จับหาได้ไม่ ได้แต่หมวกจึงคืนหมวกให้กับจีน จีนจ๋าย ๆ ได้หมวกแล้วก็หามาโรงไม่ เลยกลับไป
ข้าพเจ้าได้ทราบความดังนั้นแล้วได้จัดพลตระเวนเพิ่มเติมอีกกับได้ให้พลตระเวรไม่ได้อยู่นิฟอมไปคอยแอบและสืบอยู่ในวัดพระพิเรนทร์ทั้งได้สืบต่อไปได้ความว่า พวกคนร้ายมีชื่อเที่ยวไปมาอยู่ที่ห้องนายหม็องจางวางเลี้ยงหญิงนครโสเภณี ซึ่งเช่าอยู่ในเขตร์ที่ของพระราชวงษ์เธอพระองค์เจ้าปรีดา อยู่ริมเชิงสะพานเฉลิมเบอร์ 45 ถนนวรจักร์นั้น"
แม้ว่าคดีดังกล่าวเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถจับคนร้ายได้โดยทันที แต่ก็ได้ติดตามจนทราบแหล่งที่อยู่ของคนร้ายอย่างแน่ชัด ซึ่งแสดงถึงความพยายามในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ "ด้านมืด" ของเมืองหลวง ขณะเดียวกัน มาตรการกำหนดให้ราษฎรต้องทำรั้วก็มีการบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง เช่นที่ถนนสามเสนกำหนดข้อบังคับให้เจ้าของที่ต้องทำรั้วรอบที่ดินของตน ซึ่งไม่มีโรงแถวปลูกสร้างและวีธีการเดียวกันนี้ถูกนำไปใช้ที่ถนนวรจักรในปี พ.ศ. 2443 เนื่องจากมีคดีวิ่งราวทรัพย์สินเกิดขึ้นจำนวนมาก
การควบคุมอาชญากรรมบริเวณ "ด้านมืด" ยังรวมไปถึงการควบคุมกิจการบางประเภทซึ่งเอื้ออำนวยต่อการกระทำผิดโดยเฉพาะ โรงรับจำนำ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโรงบ่อนจนเสมือนเป็น "เพื่อน" กันและจากจำนวนโรงรับจำนำที่มากถึง 432 โรง จากการสำรวจของกองตระเวนเมื่อปี พ.ศ. 2433 ยิ่งเอื้ออำนวยต่อคดีลักทรัพย์ที่เกิดจำนวนมากในกรุงเทพฯ เนื่องจากโรงรับจำนำทั้งหลายเป็นแหล่งที่คนร้ายใช้เปลี่ยนทรัพย์สินที่กระทำผิดเป็นเงินตราเพื่อใช้จ่ายในโรงบ่อนเบี้ย ดังนั้น ทางราชการจึงออกพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2438 เพื่อควบคุมการดำเนินงานของโรงรับจำนำเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งรับซื้อของโจรอีกต่อไป
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ขอตั้งโรงรับจำนำต้องขออนุญาตต่อทางการก่อนพร้อมกับกำหนดข้อห้ามรับซื้อของโจรอย่างเด็ดขาดผู้รับจำนำต้องสังเกตพฤติกรรมอันน่าสงสัยของผู้จำนำและต้องแจ้งต่อกองตระเวนทันทีอีกทั้งกำหนดประเภทของบุคคลที่ห้ามใช้บริการคือเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปีและพระภิกษุสามเณรรวมไปถึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สะดวกแก่ผู้จำนำและผู้รับจำนำเพื่อไม่ให้เกิดข้อวิวาทโต้เถียงกันได้และกำหนดเวลารับจำนำห้ามกระทำก่อนย่ำรุ่งและหลังย่ำค่ำไปแล้วกฎหมายดังกล่าวยังได้บังคับให้ผู้รับจำนำลงรายละเอียดเกี่ยวกับผู้จำนำทรัพย์สินที่จำนำลงในสมุดบัญชีและตั๋วจำนำ
ขณะที่กองตระเวนได้มีการตั้งหน่วยงานพิเศษในปี พ.ศ. 2444 คือ กองโรงจำนำ และกองจดทะเบียนโรงจำนำ เพื่อช่วยสืบทรัพย์สินที่คนร้ายลักไปกลับคืนมา นอกจากนี้ในปีเดียวกันกองตระเวนยังมีอำนาจในการออกหมายจับหมายค้นได้ซึ่งแต่เดิมเป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอทำให้กองตระเวนสามารถปฏิบัติงานได้สะดวกขึ้น กองตระเวนจะจัดทำบัญชีสิ่งของซึ่งถูกขโมยส่งไปยังหน่วยงานพิเศษนี้ หลังจากนั้นสำเนาบัญชีดังกล่าวจะถูกส่งไปยังผู้รับจำนำแต่ละรายเพื่อตรวจสอบกับทรัพย์สินของทางผู้รับจำนำ เมื่อพบสิ่งของตามบัญชีจะต้องส่งคืนให้เจ้าของทันทีและเพื่อที่จะป้องกันการขโมยทรัพย์สินทางกองตระเวนจึงกำหนดให้ผู้จำนำต้องประทับลายนิ้วมือหัวแม่มือข้างขวาไว้ที่ตั๋วจำนำทุกครั้ง
ผลจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2438 และการปฏิบัติงานของกองตระเวนด้วยการตั้งกองพิเศษขึ้น ทำให้คดีลักทรัพย์ลดลงจากรายงานของกองตระเวนในปี พ.ศ. 2444 มีคดีวิ่งราวหมวกในปีนั้นเหลือเพียง 31 ราย จากคดีในปี พ.ศ. 2443 ที่มีถึง 86 ราย ส่วนการวิ่งราวทรัพย์สินอื่น ๆ จาก 129 รายในปี พ.ศ. 2443 ลดเหลือ 87 ราย ในปี พ.ศ. 2444 และคดีลักทรพย์สมบัติต่าง ๆ ซึ่งมิใช่เงินตราและมีมูลค่าทรัพย์สินต่ำกว่า 10 บาท ลดลงจาก 1,019 ราย ในปี พ.ศ. 2443 เหลือ 594 ราย ในปี พ.ศ. 2444 นอกจากจำนวนคดีจะลดลงแล้วมูลค่าทรัพย์สินที่ได้คืนยังเพิ่มขึ้นอีกด้วยจากปี พ.ศ. 2443 ได้ของกลางคืนเพียง 22,850 บาท 41 อัฐ เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2444 มากถึง 45,943 บาท 63 อัฐ
การจัดการพื้นที่เมืองด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมจากการฉกชิงวิ่งราวลักทรัพย์นับเป็นปัญหาหลักของพื้นที่ "ด้านมืด" อันเกิดจากลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยตรอกซอยและพื้นที่หลังตึกแถว ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เป็นผลจากนโยบายแสวงหารายได้ของภาครัฐ กองตระเวนนับเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐในการนำพาอำนาจรัฐไปสู่พื้นที่ดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากพื้นที่ตรอกซอยของกรุงเทพฯ มีจำนวนมากทำให้ยากต่อการควบคุมอาชญากรรม แต่กระนั้นปริมาณของคดีลักทรัพย์ที่ลดลงหลังการประกาศกฎหมายโรงรับจำนำ พ.ศ. 2438 และการบังคับใช้กฎหมายจากกองตระเวนซึ่งเข้าจัดการกับพื้นที่เมืองส่วนหนึ่งได้ช่วยคลี่คลายปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับพื้นที่เหล่านี้ได้ส่วนหนึ่งนอกจากนี้ ปัญหาความสกปรกของบ้านเมืองเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของกองตระเวนดูแลทั้งในเขตท้องถนนซึ่งบางสาย เช่น ถนนรอบพระบรมมหาราชวังต้องเผชิญกับสิ่งปฏิกูลหมักหมมจากราษฎรมานานปีจนมีสภาพ "เกิดโสโครก เหมนร้ายคล้ายเกาะสีชัง เปนที่อุลามก และเปนเชื้อเพลิงก็ได้" ส่วนตามตรอกซอย ตลอดจนพื้นที่หลังตึกแถวอันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ "ด้านมืด" ก็มีสภาพไม่ต่างกัน หน้าที่ดังกล่าวกองตระเวนต้องรับผิดชอบจนถึงช่วงก่อนปี พ.ศ. 2440 อันเป็นปีที่ตั้งกรม ศุขาภิบาล แม้เมื่อตั้งหน่วยงานนี้แล้วปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่เสมอ เห็นได้จากข้อร้องเรียนของกรมศุขาภิบาลในปี พ.ศ. 2446 ที่มีมาถึงกองตระเวนซึ่งมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด ดังนี้
"ด้วยกรมพระคลังข้างที่มีหนังสือมาว่ามีผู้ทิ้งขยะมูลฝอยปิดช่องว่างริมถนนราชวงษ์ที่จะเดินไปตรอกอาม้าเกงเต็มแน่นหมด น้ำไหลไปไม่ได้ ท่วมพื้นโรงแถว พระคลังข้างที่ขอให้ช่วยแก้ไข การเรื่องที่มีผู้ทิ้งมูลฝอยตรอกนี้ กรมศุขาภิบาลได้ช่วยเก็บกวาดมาแต่ก่อน 2 ครั้งแล้ว ภายหลังก็มีผู้มาทิ้งอิก การทิ้งมูลฝอยในที่ไม่ควรทิ้งนี้ ขอให้กองตระเวรว่ากล่าวจึงจะได้ เพราะเจ้าพนักงานศุขาภิบาลไม่มีน่าที่คอยระวังจับผู้กระทำผิดเช่นนั้น แลที่ตำบลนี้เคยแจ้งความห้ามครั้ง 1 แต่ก็ยังมีผู้ทิ้งอยู่เสมอ การห้ามเช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์นอกจากกองตระเวนจะว่ากล่าว"
การจัดการพื้นที่เมืองของกรุงเทพฯ ให้เกิดความศิวไลซ์นับได้ว่าเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐเนื่องจากเมืองหลวงแห่งนี้นับเป็นศูนย์กลางการปกครองของรัฐโดยเฉพาะในยุคที่รัฐมุ่งรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางด้วยการปฏิรูประบบราชการหลายด้านและขยายอำนาจการในท้องถิ่นต่าง ๆ แต่สำหรับกรุงเทพฯ นั้นรัฐยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องสอดส่องความสงบเรียบร้อยในทุกอณูของเมืองหลวงไม้เว้นกระทั่งพื้นที่ซึ่งเป็น "ด้านมืด" ของกรุงเทพฯ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาจากราษฎรและปัญหาที่รัฐมีส่วนก่อขึ้นมาเองด้วยการใช้กองตระเวนเป็นหน่วยงานสำคัญ
แต่กระนั้น ปัญหาต่าง ๆ ของพื้นที่ "ด้านมืด" ยังคงปรากฏจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตราษฎร แม้จะปรับปรุงการบริหารราชการกรุงเทพมหานครมาอย่างต่อเนื่อง หรือเปลี่ยนผู้ว่าราชการมาหลายสมัยแล้วก็ตาม
เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag.com