“สมเด็จพระนเรศวร” พระนามแปลกปลอมของ “สมเด็จพระนเรศ”
"สมเด็จพระนเรศวร" เป็นพระนามที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยากลุ่มฉบับความพิสดารใช้เรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า กษัตริย์กรุงศรีอยุทธยาผู้ขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาใน พ.ศ. ๒๑๓๓
แต่แท้ที่จริงพระนามนี้หาใช่พระนามทางการของพระองค์ไม่?
หลักฐานร่วมสมัยอย่างศิลาจารึกวัดอันโลก (รามลักษณ์) หมายเลข K 27 เรียกพระนามร่วมสมัยของพระองค์เมื่อคราวยกทัพไปตีเมืองละแวกใน พ.ศ. ๒๑๓๑ ว่า "พระนเรสส" พระไอยการกระบดศึกที่ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนเรศเอง อันเป็นพระบรมราชโองการของสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวรพระอนุชาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๖ ออกพระนามพระองค์ว่า "สมเดจ์บรมบาทบงกชลักษณอัคบุริโสดมบรมหน่อนราเจ้าฟ้านเรศเชษฐาธิบดี" ตรงกับมหาราชวงศ์พงษาวดารพม่า (พงศาวดารฉบับหอแก้ว) ที่พระเจ้าอังวะจักกายแมง (พะคยีดอ) โปรดให้ราชบัณฑิตเรียบเรียงขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๗๒ เรียกว่า "พระนเรศ"
พงศาวดารฯ ฉบับวันวลิต (The Short History of the Kings of Siam) ของเยเรมีส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vlient) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออก (The East India Company) ของฮอลันดา ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๒ เรียกพระองค์ว่า "พระนริศ" (Prae Naerith) และ "พระนริศราชาธิราช" ตรงกับคำให้การชาวกรุงเก่า (โยธยา ยาสะเวง) จากการสอบปากคำเชลยศึกชาวศรีอยุทธยาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เรียกพระองค์ว่า "พระนริศ" และคัมภีร์สังคีติยวงศ์ของสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน (สมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์พระพิมลธรรม) ซึ่งรจนาเป็นภาษาบาลีใน พ.ศ. ๒๓๓๒ เรียกพระองค์ว่า "พระนริสสราช" (นริสฺสราชา) อันมีความหมายเช่นเดียวกับพระนามว่า "สมเด็จพระนเรศ"
พงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๔ (สมเด็จพระนารายณ์) โปรดให้เรียบเรียงขึ้นใน พ.ศ. ๒๒๒๓ เรียกสมเด็จพระนเรศต่างออกไปว่า "สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า" แต่ด้วยสาเหตุที่พระองค์สวรรคตอย่างปัจจุบันทันด่วนที่เมืองหาง (ห้างหลวง) ระหว่างยกทัพขึ้นไปตีเมืองอังวะใน พ.ศ. ๒๑๔๘ ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช (สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในปลายสมัยศรีอยุทธยา) เรียกพระองค์ว่า "พระนารายณ์เมืองหาง" เพื่อให้ต่างจาก "พระนารายณ์เมืองลพบุรี" คือสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ ๔ พระนาม "สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า" นี้มีความหมายทำนองเดียวกับ "สมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า" นั่นเอง
ข้อมูลที่ข้าพเจ้ายกมาทั้งหมดนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า กษัตริย์ศรีอยุทธยาผู้นี้มีพระนามร่วมสมัยว่า "พระนเรศ" หรือ "พระนริศ" (นร + อีศฺ) แปลว่า "พระราชา" แต่ภายหลังผู้ชำระพระราชพงศาวดารฯ กลุ่มฉบับความพิสดาร อันมีพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เป็นพิมพ์เขียนต้นฉบับ (สันนิษฐานว่าเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) จดพระนามผิดเพี้ยนเป็น "สมเด็จพระนเรศวร" (นร + อีศวร) หลังจากล่วงรัชกาลพระองค์มาแล้ว ๑๐๐ กว่าปี
อันเป็นผลมาจากการที่อาลักษณ์ผู้เรียบเรียงขาดแคลนเอกสารร่วมสมัยในการสอบชำระ จึงเข้าใจผิดว่า "ราชาธิราช" เป็นสร้อยพระนามห้อยท้ายเหมือนกษัตริย์ศรีอโยทธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๑๑๒) และกษัตริย์ศรีอยุทธยา (พ.ศ. ๒๑๑๒-๒๓๑๐) องค์อื่นจึงอ่านพระนาม "สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช" เป็น "สมเดดพระนะเรสวนราชาทิราด" ไพล่เข้าใจไปว่า "สมเด็จพระนเรศวร" เป็นพระนามร่วมสมัยของพระองค์แท้ที่จริงแล้วควรอ่านว่า "สมเดดพระนะเรดวอระราชาทิราด" ซึ่งคำว่า "วรราชาธิราช" นี้เป็นสร้อยพระนาม แปลว่า "พระราชาเหนือพระราชาผู้ประเสริฐ"
การที่สมเด็จพระนเรศนำเอาสร้อยพระนาม "วรราชาธิราช" มาใส่ไว้ท้ายพระนามของพระองค์ อาจต้องการแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ทางเครือญาติที่พระองค์มีต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า ทั้งนี้เพื่อยืนยันถึงสิทธิอันชอบธรรมในราชบัลลังก์ศรีอยุทธยาของพระองค์
"สมเด็จพระนเรศวร" จึงเป็นพระนามแปลกปลอมของ "สมเด็จพระนเรศ" ที่อาลักษณ์ผู้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารฯ กลุ่มฉบับความพิสดารในสมัยหลังเรียกผิดเพี้ยนไปจากพระนามแท้จริงของพระองค์ อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนเอกสารร่วมสมัยชั้นต้นสำหรับใช้ตรวจชำระประวัติศาสตร์สมัยศรีอยุทธยาที่ล่วงเลยมาเกือบ ๒ ทศวรรษ
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น