สีไว้ทุกข์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ
การไว้ทุกข์ในสมัยก่อนนั้นมีอยู่หลายอย่างต่างชนิด คือ
1. สีดำ สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอายุแก่กว่าผู้ตาย
2. สีขาว สำหรับผู้เยาว์หรือผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผู้ตาย
3. สีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่ สำหรับผู้ที่มิได้เป็นญาติเกี่ยวดองกับผู้ตายแต่ประการใด
ฉะนั้นในงานศพคนหนึ่งๆ หรือในงานเผาศพก็ตาม เราจะได้ความรู้ว่า ใครเป็นอะไรกับใครเป็นอันมาก เพราะผู้ที่แต่งตัวตัวไปในงานนั้นๆ จะต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวข้องกับตัวเองโดยถูกต้องจึงจะแต่งสีให้ถูกได้ ถ้าผู้ใดแต่งสีและอธิบายไม่ได้ ก็มักจะถูกดูหมิ่นว่าเป็นผู้ไม่มีความรู้ แม้เรื่องเลือดเนื้อของตัวเอง
ของทุกอย่างมีดีก็ต้องมีเสีย แต่ก่อนก็ดีที่ได้รู้จักกันว่าใครเป็นใคร แต่ก็ลำบากในการแต่งกายเป็นอันมาก ถ้าจะต้องไปพร้อมกัน 2 ศพในวันเดียวกัน ก็จะต้องกลับบ้านเพื่อไปผลัดสีให้ถูกต้องอีก
ฉะนั้นในการที่มาเลิกสีอื่นหมด ใช้สีดำอย่างเดียวเช่นทุกวันนี้ก็สะดวกดี แต่ก็ขาดความรู้จักกัน เด็กสมัยนี้จึงมักจะตอบเรื่องพืชพันธุ์ของตัวเองไม่ได้ แม้เพียงปู่ก็ไม่รู้เสียแล้วว่าเป็นใคร และได้ทำอะไรเหนื่อยยากมาเพียงใดบ้าง แต่ถ้าจะพูดกันถึงเพียงความสะดวกแล้ว การแต่งตัวสีดำเพียงสีเดียวก็ดีแล้ว
สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พร้อมด้วยพระราชชายา พระเจ้าลูกเธอ เจ้าจอมมารดา พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารฝ่ายใน ทรงฉายภาพเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ณ พระราชวังบางปะอิน โดยผู้มีพระชันษาสูงกว่าพระเจ้าลูกเธอในพระโกศ จะทรงสีดำไว้ทุกข์ส่วนผู้ที่มีพระชันษาอ่อนกว่าจะทรงชุดขาว ตามธรรมเนียมในสมัยนั้น (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)
เพิ่มเติม ภาพนี้น่าจะถ่ายระหว่าง วันที่ 8 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 ที่ฝ่ายในล่วงหน้าไปที่พระราชวังบางปะอินก่อน และก่อนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ จะทรงประชวร ซึ่งต่อมาได้สิ้นพระชนม์ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 เพราะภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะทรงชุดขาวไว้ทุกข์ จึงเปลี่ยนมาแต่งขาวทั้งหมด