กว่าจะเป็น “จิราธิวัฒน์” เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ทำไมต้องใช้ชื่อ “เซ็นทรัล” ?


กว่าจะเป็น “จิราธิวัฒน์” เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ทำไมต้องใช้ชื่อ “เซ็นทรัล” ?

เตียง ผู้บุกเบิกรุ่นที่ 1 ถ่ายภาพกับ สัมฤทธิ์ บุตรชายคนโตและบุตรคนอื่น ๆ ในตระกูลจิราธิวัฒน์ ในวันเปิดห้างเซ็นทรัล สาขาราชประสงค์ พ.ศ. 2507 (ภาพจากหนังสือ จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์)

เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ว่า "ชาวจีน" เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยมายาวนาน เมื่อชาวจีนเริ่มอพยพมาลงหลักปักฐานที่ไทยถาวร บทบาทของชาวจีนต่อด้านเศรษฐกิจของประเทศจึงมีมากขึ้น มีชาวจีนหลายตระกูลอพยพเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ "แซ่เจ็ง" จนนำมาสู่ตระกูลนักธุรกิจแนวหน้าของประเทศไทยอย่าง "จิราธิวัฒน์" แห่งเครือเซ็นทรัล

ก่อร่างสร้างตัว
ตระกูล "จิราธิวัฒน์" ก่อร่างสร้างตัวโดย "นี่เตียง" หรือ เตียง แซ่เจ็ง ชาวจีนจากหมู่บ้านไหเค้า มณฑลไหหลำ ประเทศจีน เขาอพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2470 พร้อมกับภรรยาคือ "หวาน" และบุตรชายคนโตคือ "สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์" (เกิด พ.ศ. 2468 เมื่อแรกเกิดชื่อ ฮกเส่ง ฮกแปลว่าลาภ เส่งแปลว่าสำเร็จ เป็นบุตรเพียงคนเดียวในจำนวนทั้งหมด 26 คนของเตียงที่เกิดในประเทศจีน)

ในหนังสือ "จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์" ระบุว่า เตียงมี "ความตั้งใจอยากจะมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย... เนื่องจากเห็นว่าเมืองไทยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และมีชาวจีนอพยพมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก" ครั้นเมื่อบิดาของเตียงเสียชีวิตและจัดการไว้ทุกข์ตามประเพณีเรียบร้อยแล้ว เตียงจึงพาครอบครัวอพยพสู่ประเทศไทยตามที่ตนตั้งใจ โดยมาอาศัยอยู่กับพ่อตาคือนายตงฮั้วและนางด่านตี๋ แซ่หง่าน ที่เดินทางล่วงหน้ามาก่อนแล้ว 2-3 ปี โดยเตียงได้ช่วยกิจการของพ่อตาในร้านขายข้าวสารชื่อ "อั้นฟงเหลา" บริเวณท่าช้าง วังหน้า

ต่อมาเตียงเริ่มประกอบธุรกิจของตัวเอง โดยยืมเงินพ่อตาจำนวน 300 บาท พาครอบครัวไปอาศัยที่บางมด เปิดร้านกาแฟและขายของเบ็ดเตล็ด ต่อมาย้ายไปอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอบางขุนเทียน ตรงข้ามสถานีรถไฟวัดจอมทอง (วัดราชโอรส) เปิดร้านในพื้นที่เล็ก ๆ เพียง 50 ตารางเมตร ขายกาแฟ อาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ และของเบ็ดเตล็ด ส่วนชั้นบนให้ภรรยารับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า เขาตั้งชื่อร้านว่า "เข่งเส่งหลี" แปลเป็นไทยว่า "ไหหลำ สัมฤทธิ์ผล" แต่ชาวบ้านละแวกนั้นเรียก "ร้านสามเหลี่ยม" เพราะร้านตั้งบนที่ดินรูปทรงสามเหลี่ยม

กว่าจะเป็น “จิราธิวัฒน์” เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ทำไมต้องใช้ชื่อ “เซ็นทรัล” ?

เตียง และสัมฤทธิ์ ถ่ายภาพที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2493 (ภาพจากหนังสือ จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวต้องเผชิญความยากลำบาก มิหนำซ้ำหวานภรรยาของเตียงเสียชีวิตระหว่างสงครามอีก ทำให้สัมฤทธิ์ในฐานะบุตรชายคนโตในวัย 20 ปี จึงจำเป็นต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูน้อง ๆ อีกแรงหนึ่ง สัมฤทธิ์ใฝ่ฝันอยากเรียนด้านแพทยศาสตร์ แต่เตียงไม่เห็นด้วยเพราะต้องการให้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้านการค้าขายและภาษาอังกฤษ เพราะหวังจะให้มาช่วยธุรกิจของครอบครัวและจะได้ดูแลน้อง ๆ ไปด้วย

พ.ศ. 2493 ครอบครัวของเตียงได้ขอให้ผู้ใหญ่ที่ครอบครัวเคารพนับถือตั้งชื่อนามสกุลให้ ชื่อว่า "จิราธิวัฒน์" มีความหมายคือ จิระหมายถึงยืนนาน อธิหมายถึงยิ่งใหญ่ และวัฒน์หมายถึงวัฒนา ต่อมาครอบครัวเริ่มขยายใหญ่มากขึ้น จำนวนสมาชิกในครอบครัวเกือบ 30 ชีวิตต้องย้ายที่พักบ่อยครั้ง เพื่อขยับขยายร้านค้าเล็ก ๆ ไปสู่ร้านใหญ่กว่า กระทั่งเตียงตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักอย่างถาวรที่ศาลาแดง พื้นที่ 3 ไร่ ใน พ.ศ. 2499

เตียงเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ใน พ.ศ. 2511 สัมฤทธิ์ในฐานะบุตรขชายคนโตของครอบครัวและเป็นทายาทรุ่นที่ 2 รับหน้าที่ดูแลทรัพย์สินและมรดก และเขาจึงต้องทำหน้าที่ดูแลน้องกว่า 25 คน "โดยน้อง ๆ จะให้ความเคารพยำเกรง... เพราะคุณสัมฤทธิ์เป็นคนเคร่งขรึม" น้องบางคนที่มีอายุห่างมากก็นับถือเขาเสมือนพ่อคนหนึ่งเลยทีเดียว และนับแต่นั้น สัมฤทธิ์ก็เป็น "หัวเรือใหญ่" ผู้ที่คอยเลี้ยงดูน้อง ๆ ทุกคน และสมาชิกในครอบครัวมาโดยตลอด

ตระกูล "จิราธิวัฒน์" รุ่นที่ 2 มีสัมฤทธิ์เป็นพี่ใหญ่ ประกอบด้วยน้องอีก 25 คน คือ น้องที่เกิดจากมารดาเดียวกัน 7 คน (ไม่รวมสัมฤทธิ์) น้องที่เกิดจาก "บุญศรี" ภรรยาคนที่สองของเตียง รวม 13 คน และน้องที่เกิดจาก "วิภา" ภรรยาคนที่สามของเตียง รวม 5 คน

จุดเริ่มต้นธุรกิจห้างสรรพสินค้า
สัมฤทธิ์ช่วยบิดาค้าขายตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อตอนเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอมเมอร์สแต่โรงเรียนต้องปิดชั่วคราวเนื่องจากภัยสงครามโลก เขาทำงานช่วยครอบครัวโดยการซื้อของจากกรุงเทพฯ ไปขายที่ภาคใต้และบางครั้งก็เลยไปถึงสิงคโปร์ กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง เสี่ยงชีวิตบ้าง แต่ก็มอบประสบการณ์ให้ไม่น้อย หลังสงครามยุติก็มาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อศุลกากรนำภาพยนตร์ของบริษัทพาราเมาท์ พิกเจอร์ จำกัด มาฉายในประเทศไทย ถัดมาไปเป็นครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนจีน "ยกหมิ่น" ที่ถนนสุรวงศ์ต่อมาเพื่อนของสัมฤทธิ์ชวนไปขายหนังสือภาษาอังกฤษ โดยเขาทำหน้าที่เป็นพนักงานขาย (Salesman) นำหนังสือไปขายยังร้านใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งได้ผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ตามยอดขาย ภายหลังเพื่อนเลิกกิจการไป สัมฤทธิ์จึงคิดดำเนินธุรกิจนี้เองเพราะเห็นว่าได้กำไรมาก แต่เตียงไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าหากไม่ประสบผลสำเร็จจะทำให้ครอบครัวลำบากไปด้วย แต่ด้วยความมุ่งมั่น สัมฤทธิ์เดินหน้าประกอบธุรกิจนี้ตามที่ตนตั้งใจ เขานำนิตยสารของประเทศสหรัฐอเมริกามาขาย ซึ่งเป็นนิตยสารเก่าแต่สภาพใหม่ ซึ่งไม่สามารถนำออกขายนอกประเทศสหรัฐอเมริกาได้เนื่องจากติดพันสงคราม ธุรกิจนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ และมีข้อได้เปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา กล่าวคือ ในเวลานั้น อัตราแลกเปลี่ยนเงิน คือ 1 USD = 20 THB แต่ถ้าแลกเพื่อสั่งซื้อหนังสือจะได้สิทธิพิเศษ คือ 1 USD = 10 THB และยังไม่เสียภาษีนำเข้าอีกด้วย

สัมฤทธิ์จึงนำผลกำไรมาเสนอแก่บิดาและชักชวนให้มาร่วมทุนด้วย ซึ่งเตียงก็เข้าร่วมลงทุน "เพราะคุณเตียงเห็นผลงานของคุณสัมฤทธิ์ที่สามารถประกอบกิจการจนเป็นผลสำเร็จ" จากนั้นได้เซ้งห้องแถวที่ถนนเจริญกรุง ปากตรอกกัปตันบุช สี่พระยา เปิดเป็นร้านขายหนังสือ เมื่อราว พ.ศ. 2490 ใช้ชื่อร้านว่า "ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง" อันเป็นจุดกำเนิดของห้างเซ็นทรัลในปัจจุบัน

กว่าจะเป็น “จิราธิวัฒน์” เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ทำไมต้องใช้ชื่อ “เซ็นทรัล” ?

โฆษณาของห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง เมื่อ พ.ศ. 2495 (ภาพจากหนังสือ จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์)

ทำไมต้อง "เซ็นทรัล"

เตียงเป็นผู้สนใจการเมืองมีความคิดเห็นว่า สมัยที่ประเทศจีนมีการตั้งรัฐบาลกลางขึ้นมาแก้ไขปัญหาความแตกแยกนั้น รัฐบาลกลางนี้ใช้ชื่อว่า "ตงเอียง" แปลว่า "กลาง" เตียงจึงอยากใช้ชื่อที่แปลว่า "กลาง" คือเป็นศูนย์กลางการค้า แต่สัมฤทธิ์เห็นว่า หากใช้คำว่า "กลาง" ฟังดูไม่ไพเราะ จึงเปลี่ยนมาใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษแทน นั่นคือคำว่า "เซ็นทรัล" (Central) อันหมายถึง ที่เป็นใจกลาง ที่เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการค้าขายสินค้าและบริการ ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคหรือลูกค้ามากที่สุดอีกด้วย

ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง สาขาสี่พระยา คือห้างแห่งแรกของธุรกิจตระกูล "จิราธิวัฒน์" เป็นอาคาร 1 คูหา จำนวน 2 ชั้น ช่วงแรกเน้นขายหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศ และสินค้าจากสำเพ็ง โดยสัมฤทธิ์จะขายสินค้าด้วยตนเอง ไม่ยอมจ้างลูกจ้างมาช่วยงาน เขาจะไปดำเนินการเสียภาษีและจัดการเรื่องศุลกากรด้วยตนเองที่โรงภาษี (ใกล้กับโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก) จากนั้นมารับน้องชายสองคนคือ "วันชัย" และ "สุทธิพร" จากโรงเรียน แล้วให้มาช่วยกันแบกลังหนักสือกลับบ้าน ขณะที่น้องคนอื่น ๆ ที่ยังเด็ก มีหน้าที่แกะลัง นำหนังสือมาจัดเรียง ช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะช่วยได้ นอกจากนี้ พวกเขายังนำไม้และกระดาษห่อสินค้ามามัดให้เป็นระเบียบเพื่อจะนำไปขายต่ออีกด้วย

แต่เมื่อเกิดการแข่งขันกันสูงมากขึ้น สัมฤทธิ์จึงตัดสินใจนำสินค้า (ที่ลงโฆษณาในนิตยสารที่เขานำมาขาย) หลากหลายประเภทมาขายเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น ถุงเท้า เน็คไท เสื้อกล้าม กระโปรงพลีท และชุดชั้นในสตรี เป็นต้น เขาดำเนินการขยายร้านให้ใหญ่ขึ้น ขยายสินค้าประเภทใหม่ ๆ และใช้วิธี "ตัวแทนจำหน่าย" จากสินค้า "แบรนด์" ที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น เช่น เครื่องสำอางเฮเลน่า รูบินสไตน์ (Helena Rubinsteim) น้ำมันใส่ผมแคร้ปเดอชีน (Crepe de Chine) และเสื้อเชิ้ตแมนฮัตตัน (Manhattan) เป็นต้น

กว่าจะเป็น “จิราธิวัฒน์” เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ทำไมต้องใช้ชื่อ “เซ็นทรัล” ?

สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ หัวเรือใหญ่ตระกูลจิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 2 (ภาพจากหนังสือ จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์)

ต่อมาได้ย้ายร้านไปที่ย่านสุริวงศ์ ริมถนนเจริญกรุง มีขนาด 3 คูหาแต่ยังใช้ชื่อเดิมอยู่ กระทั่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ห้างเซ็นทรัล" และเปิดสาขาใหม่ที่วังบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศที่นำเอาระบบติดป้ายราคาและไม่มีการต่อรองราคามาใช้ โดยสาขานี้ยึดหลักการว่า "สินค้าคุณภาพ ราคายุติธรรม" และยังนับเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้นอีกด้วย จากนั้นได้เปิดสาขาใหม่ที่เยาวราชแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเป็นย่านชาวจีนที่มีนิสัยประหยัด มัธยัสถ์ ไม่นิยมซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดใหญ่ และ พ.ศ. 2507 เปิดสาขาใหม่ที่ราชประสงค์ เป็นตึกแถวขนาด 5 คูหา

ใน พ.ศ. 2511 เปิดสาขาใหม่ที่สีลม เป็นอาคารสูง 9 ชั้น ตกแต่งอยากหรูหราและทันสมัย ทั้งยังเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของเซ็นทรัลที่เปิดแผนกซูเปอร์มาเก็ต ในช่วงแรกไม่เป็นที่นิยมจนขาดทุนกว่า 2 ปี แต่ได้พยายามจัดแสดงสินค้า และทำการตลาดอย่างหนักจนประสบผลสำเร็จ เขข้าสู่ พ.ศ. 2516 เปิดสาขาใหม่ ที่ชิดลม บนพื้นที่กว่า 7 ไร่ ด้วยเงินทุน 80 ล้านบาท มีแนวคิด "One Stop Shopping" มุ่งขายสินค้าและบริการแบบครบวงจรโดยไม่ต้องแวะซื้อสินค้าที่อื่นอีก ต่อมา พ.ศ. 2524 เปิดสาขาใหม่ที่ลาดหญ้า ฝั่งธนบุรี, พ.ศ. 2526 เปิดสาขาใหม่ที่ลาดพร้าว, พ.ศ. 2531 เปิดสาขาใหม่ที่หัวหมาก, พ.ศ. 2535 เปิดสาขาใหม่ที่กาดสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

จนถึงปัจจุบันเซ็นทรัลได้ขยายสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงประกอบธุรกิจอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag.com

กว่าจะเป็น “จิราธิวัฒน์” เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ทำไมต้องใช้ชื่อ “เซ็นทรัล” ?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์