แม่นาคพระโขนง ที่คุณ...อาจไม่เคยรู้


แม่นาคพระโขนง ที่คุณ...อาจไม่เคยรู้

แม่นาคพระโขนงเป็นนิยาย ละครหรือภาพยนตร์ที่อาจจะเรียกได้ว่าโด่งดังเป็นที่นิยมผ่านยุคสมัยมายาวนานนับร้อยปี แต่คนไทยจำนวนมากอาจไม่เคยรู้ที่มาที่ไปของเรื่องนี้

คุณอเนก นาวิกมูล เขียนถึงแม่นาคพระโขนงเอาไว้ว่า หลักฐานเก่าที่สุดที่พูดถึงมาจาก ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่เขียนลงไว้ในหนังสือพิมพ์สยามประเภทฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2442 ว่า

"อำแดงนาก เปนบุตรขุนศรี นายอำเภอบ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เปนภรรยานายชุ่ม ตัวโขนทศกรรฐ์ในพระจ้าวบรมวงศ์เธอจ้าวฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี อำแดงนากมีครรภ์ คลอดบุตรถึงอนิจกรรม นายชุ่ม ทศกรรฐ์สามี นำศพอำแดงนากภรรยาไปฝังที่ป่าช้าวัดมหาบุด ๆ นี้ พระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณ เปนผู้สร้างวัดมหาบุด แต่ท่านยังเปนมหาบุดในรัชกาลที่ 2..."

(มีไมโครฟิล์มในหอสมุดแห่งชาติ ดูรายละเอียดในหนังสือแกะรอยเรื่องเก่า ของเอนก นาวิกมูล)

สรุปตามคำบอกเล่าของนายกุหลาบ บอกว่าสามีของแม่นากชื่อ"ชุ่ม" ไม่ได้ชื่อ "มาก" และนายชุ่มเป็นตัวโขนเล่นบททศกัณฐ์ในสมัยรัชกาลที่ 2

และอำแดงนากนั้นตายทั้งกลม คือตายจากการคลอดลูก แต่อำแดงนากไม่ได้ตายเพราะคลอดลูกคนแรก แต่อำแดงนากมีลูกมาแล้วหลายคน โดยลูกคนแรกของอำแดงนากมีชื่อว่านาย"แบน" บวชอยู่ที่วัดโพธิ์

นายชุ่ม มีอาชีพเล่นโขนเป็นตัวทศกรรณ์ ซึ่งถ้าคิดภาพตามเหตุการณ์ในปัจจุบัน ก็สามารถสรุปได้ว่า นายชุ่ม เป็นดาราชื่อดังในยุคนั้นทีเดียว

จึงทำให้มีผู้หญิงมาติดพันมากมาย ลูก ๆ ของอำแดงนากก็กลัวว่านายชุ่ม บิดาของตน จะไปมีเมียใหม่ เลยรวมตัวกันเป็นผีหลอกผู้คนที่ผ่านไปมา เพื่อให้คนเข้าใจผิดว่าผีแม่นาค มารดาของตนเอง เฮี้ยน

แล้วจากเรื่องหลอกชาวบ้านของลูกๆ ก็ค่อยพัฒนาจนในที่สุดกลายเป็นตำนานแห่งท้องทุ่งพระโขนงไปในที่สุด


ถ้าใครเคยอ่านเรื่อง ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ผมเคยเล่าลงในเพจนี้มาแล้วคงจะจำได้ว่า นายกุหลาบ เป็นต้นเรื่องของคำว่า "กุ" ที่เป็นนักกุเรื่องขึ้นมา จนในหลวงรัชกาลที่ ๕ ยังเรียกนายกุหลาบมาลงโทษ เพราะเป็นคนชอบปั้นน้ำเป็นตัว เอาเรื่องจริงมาแต่งเติมจนไม่รู้ว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ สร้างความเสียหายในกับราชสำนัก

และชื่อของนายกุหลาบก็กลายมาเป็นศัพท์แสลง ใช้เรียกคนหรืออาการของคนในสมัยนั้นว่า "กุ"ในความหมายว่าคนสร้างเรื่อง และคนไทยก็ใช้คำว่า "กุ"กันต่อมาถึงปัจจุบัน กับคนที่ชอบ "กุเรื่อง" ขึ้นมา

เพราะฉะนั้นเรื่องอำแดงนาก จากปากคำของ นายกุหลาบนี้ ทำให้ผมไม่กล้าเชื่อถือร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยอาจมีความจริงอยู่บ้าง แต่เชื่อได้ว่ามีการแต่งเติมเนื้อหาลงไปอีกไม่น้อย


ความโด่งดังของเรื่องราวแม่นากนั้นคงจะเป็นที่นิยมมากจริงๆ เพราะในเวลาต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ก็ยังเคยเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับผีแม่นาคลงในหนังสือทวีปัญญา โดยพระองค์ใช้นามปากกาว่า "นายแก้วนายขวัญ"

นางนากในเวอร์ชั่นของรัชกาลที่ 6 นั้น พระองค์ท่านได้เขียนเป็นนิยายโดยให้นางนากมีสามีเป็นกำนันชื่อ โชติ


แล้ว พี่มาก ปรากฎตัวตั้งแต่เมื่อไหร่?

เค้าโคลงแม่นากพระโขนง ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันน่าจะเริ่มต้นมากจากบทละครร้องเรื่อง "อีนากพระโขนง"ของ "หมากพญา"

"หมากพญา" คือนามปากกาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ จัดแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2455

ละครร้อง เป็นรูปแบบการแสดงละครแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้รับอิทธิพลมากจากการแสดง"บังสาวัน"(Malay Opera) ของชาวมลายู

โดยรัชกาลที่ 5 ได้ทอดพระเนตรการแสดงบังสาวัน เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนมลายู

และต่อมากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ก็ได้ทอดพระเนตรในคราวที่มาเปิดการแสดงในกรุงเทพ

และกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ก็ทรงดัดเแปลง ปรับปรุง จนเป็น"ละครร้อง"แล้วการแสดงละครร้องก็ได้รับความนิยมในเมืองไทยในเวลาต่อมา


เค้าโครงเรื่องแม่นาคพระโขนงถูกตีความใหม่ให้เป็นเกี่ยวกับความรัก อภินิหาร รวมทั้งมีพระอาจารย์เกจิชื่อดังในยุคนั้นกันไว้มาปราบผีแม่นาค

คุณเอนกบอกว่าบทละครเรื่องอีนากพระโขนงนั้นตีพิมพ์เมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ตรงกับ ร.ศ. 131 หรือ พ.ศ. 2454

"...บทละครร้องเรื่องอีนากพระโขนง (ว่าเปนเรื่องจริง) หมากพญา(นามปากกาของกระพระนราฯ) รจนาสำหรับลครในปรีดาลัย ร.ศ. 131 ทรงกำหนดให้ตัวละครมีตัวสำคัญๆดังนี้ 1. นายมาก อายุ 35 สามีอำแดงนาก เปนคนซื่อ ๆ2. ขรัวเต๊ะ อายุ 62 อาจาริย์วิชาอาคม 3. ตาปะขาวเม่น อายุ 65 ผู้มีวิชาอาคม 4. สามเณรเผือก อายุ 18 ศิษย์ขรัวเต๊ะเจ้าเวทมนต์ 5. อำแดงนาก อายุ 32 ภรรยานายมาก เปนคนดี.."

คุณนิยะดา เหล่าสุนทร เล่าไว้ในศิลปวัฒนธรรมว่าตัวละครใน"อีนาคพระโขนง" ประกอบด้วย

1. นายมาก อายุ 35 สามีอำแดวนาก เปนคนซื่อ
2. ทิดทุ้ย อายุ 37 เกลอนายมาก ขี้เมา
3. ตาหมี อายุ 68 เก่าๆ เขลาๆ
4. ตาเทิ่ง อายุ 50 สัปะเร่อ
5. ขรัวเต๊ะ อายุ 62 อาจารย์วิชาอาคม
6. ตาปะขาวหม่น อายุ 65 ผู้มีวิขาอาคม
7. สามเณรเผือก อายุ 17 ศิษย์ขรัวเต๊ะ
8. อำแดงนาก อายุ 32 ภรรยานายมาก เปนคนดี
9. ยายมาวง อายุ 60 ภรรยาตาหมี เท่อๆ
10. ยายโม่ง อายุ 53 หมอผดุงครรภ์

ตัวละครนายมากเพิ่งมาปรากฏตัวในบทละครเรื่องนี้ พร้อมกับเกจิอาจารย์และสามเณร ที่มาปราบผี

โดยในบทละครจะใช้ชื่อว่า "ขรัวเต๊ะ" ซึ่งเชื่อว่านำมาจาก "ขรัวโต" หรือสมเด็จพุทธาจารย์โตที่ประชาชนรู้จักในฐานะยอดพระเกจิอาจารย์แห่งเมืองกรุงในเวลานั้น

ซึ่งก็คงจะมาจาก "ปั้นเหน่ง" ที่ว่ากันว่าท่านคาดเอวไว้โดยสืบทอดต่อไปอีกหลายทาง

แต่ในละครเปลี่ยนขรัวโตเป็นขรัวเต๊ะ เพราะอาจจะเกิดดราม่าหากอ้างชื่อขรัวโต

ว่ากันว่าละคร "อีนาคพระโขนง" เวอร์ชั่นนี้เป็นที่นิยมมาก มีการแสดงติดต่อกัน 24 คืน

แล้วเรื่องราวของของแม่นาคพระโขนง รวมทั้งปั้นเหน่งสมเด็จโต และฉากแม่นาคเก็บมะนาวกับสากกระเบือ ที่อยู่ในละครก็กลายเป็นแม่แบบให้กับโครงเรื่องแม่นาคพระโขนงมาจนถึงปัจจุบัน


ที่มา: ผู้จัดการ ศิลปวัฒนธรรม คุณอเนก นาวิกมู และคุณนิยะดา เหล่าสุนทร

อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม เรียบเรียง



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์