ที่มาของคติสัญลักษณ์ “ครุฑ” และ “นาค” ในโขนเรือพระราชพิธี


ที่มาของคติสัญลักษณ์ “ครุฑ” และ “นาค” ในโขนเรือพระราชพิธี

"เรือพระราชพิธี" เป็นพระราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ไทยที่ใช้สำหรับเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ ในปัจจุบันจะเกี่ยวข้องกับพิธีในราชสำนัก เช่น เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน แต่ในอดีตเรือพระราชพิธียังเป็นพาหนะสำคัญในกองทัพยามศึกสงคราม และมีความเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีอาศยุช อันเป็นการแข่งเรือเพื่อเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง

ในหลักฐานประวัติศาสตร์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเรือพระราชพิธี คือกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้กล่าวถึงเรือพระราชพิธีไว้อย่างน้อย 3 ส่วน คือ 1. เรื่อพระราชพิธีที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค 2. เรือพระราชพิธีในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยพระราชพิธี 12 เดือน โดยเฉพาะในเดือนอาศยุชหรือพระราชพิธีเดือน 11 และ 3. เรือพระราชพิธีในพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง

สำหรับโขนเรือพระราชพิธีมีความสอดคล้องกับคติเรื่องโลกและจักรวาล ที่รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยที่ "ครุฑ" และ "นาค" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้าในคติความเชื่อดังกล่าวได้ถูกนำมาสร้างเป็นโขนเรือพระราชพิธีเพื่อใช้เป็นเรือที่ประทับของพระมหากษัตริย์

"ครุฑ" ในภาษาสันสกฤตออกเสียงว่า คะ-รุ-ฑะ ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงครุฑในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้แก่คัมภีร์ฤคเวท กล่าวถึงนกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า "ครุตมัน" ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ "ครุฑ" ในภายหลัง ตามคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู "ครุฑ" ถือว่าเป็นเทพพาหนะของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ และไทยก็รับเอาคติความเชื่อนี้มาใช้เช่นกัน

ในสมัยอยุธยา "ครุฑ" ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เพราะในสมัยนี้จะเปรียบพระมหากษัตริย์เป็นดั่ง "พระนารายณ์" อวตารมาเป็น "พระราม" กษัตริย์แห่งสูรยวงศ์ผู้ครองเมืองอโยธยาในคัมภีร์มหากาพย์รามายณะ ด้วยเหตุนี้ "ครุฑ" ในฐานะสัญลักษณ์แห่ง "พระนารานยณ์" จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์แห่งอยุธยา ซึ่งปรากฏในรูปเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ในตราพระราชลัญจกร ธง และโขนเรือพระที่นั่งรูปครุฑ

 




ที่มาของคติสัญลักษณ์ “ครุฑ” และ “นาค” ในโขนเรือพระราชพิธี

เรือครุฑที่เป็นเรือพระที่นั่งในสมัยอยุธยานั้นปรากฏหลักฐานการกล่าวถึงหลายครั้งในพระราชพงศาวดาร เช่น เรือพระที่นั่งครุฑพาหนะที่ใช้ในการพระราชพิธีอาศวยุชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถและในสมัยพระนารายณ์ และในสมัยอยุธยาตอนปลายมีการกล่าวถึงเรือครุฑในกาพย์เห่เรือ "เห่ชมเรือกระบวร" พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ดังความตอนหนึ่งกล่าวว่า

เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทอง ร้องโห่เห่โอ้เห่มา...

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ" ครั้งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูปพระนารายณ์ประดิษฐานไว้เหนือโขนเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ" ต่อมาได้มีการสร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 9 โดยกองทัพเรือเมื่อ พ.ศ. 2539 และได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 9 ว่า "เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9"

กล่าวได้ว่าโขนเรือพระราชพิธีที่เป็น "ครุฑ" เป็นการรับเอาคติมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของผู้ประทับนั่นคือพระมหากษัตริย์ที่เปรียบเสมือนพระนารายณ์ประทับครุฑ

สำหรับ "พญานาค" ตามคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ปรากฏในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ หลายคัมภีร์ เช่น คัมภีร์ภาควัตปุราณะ และคัมภีร์วิษณุปุราณะ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของพญานาคไว้ โดยเฉพาะ "พญาเศษนาค" หรือ "พญาอนันตนาคราช" ซึ่งถือกันว่าเป็นเจ้าแห่งนาคทั้งหลายและเป็นใหญ่เหนือบาดาล ทั้งเป็นบัลลังก์ที่บรรทมพักของพระนารายณ์ในระหว่างการสร้างโลก อีกทั้งเป็นบัลลังก์ที่ประทับของพระนารายณ์กลางทะเลน้ำนมหรือเกษียรสมุทร นอกจากนี้พญานาคยังเกี่ยวข้องกับการอวตารของพระนารายณ์ในปางต่างๆ




ที่มาของคติสัญลักษณ์ “ครุฑ” และ “นาค” ในโขนเรือพระราชพิธี

"นาค" ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในฐานะบัลลังก์ของพระนารายณ์ ด้วยเหตุนี้ "พญานาค" จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์อยุธยา

ดังนั้น ตั้งแต่สมัยอยุธยาจึงมีการนำ "พญานาค" มาสร้างเป็นโขนเรือพระที่นั่งเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระนารายณ์ เพราะพระนารายณ์ประทับอยู่บนพญานาคที่ชื่อ "พญาอนันตนาคราช" ดังนั้น พระมหากษัตริย์อยุธยาที่ประทับบนเรือพระที่นั่งนาคจึงมีฐานะเป็น "พระนารายณ์" ดังปรากฏหลักฐาน "เรือนาค" ซึ่งเป็นเรือพระราชพิธีในบทเห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ มีความตอนหนึ่งว่า

นาคาหน้าดังเป็น ดูขะเม่นเห็นขบขัน
มังกรถอนพายผัน ทันแข่งหน้าวาสุกรี

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช" ต่อมาพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์" โดยโขนเรือแกะสลักเป็นรูปพญานาค อันเป็นลักษณะของ "พญาอนันตนาคราช" ผู้เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ ดังนั้น การใช้ "นาค" มาสร้างโขนเรือจึงสอดคล้องกับคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

กล่าวได้ว่า "ครุฑ" และ "นาค" เป็นเทพในคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่เกี่ยวข้องกับ "พระนารายณ์" โดย "ครุฑ" เป็นพาหนะ และ "นาค" เป็นบัลลังก์ประทับ ทั้งนี้กษัตริย์เปรียบเสมือนร่างอวตารของ "พระนารยณ์" เมื่อคติความเชื่อนี้ส่งอิทธิพลเข้าสู่ไทย ทำให้โขนเรือพระราชพิธีอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์จึงมักทำโขนเรือเป็นรูป "ครุฑ" และ "นาค"

 



เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag





เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์