เรื่องจริงของ “เนสซี” สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ กับการตบตาครั้งใหญ่ของโลก
ก่อนที่ล็อกเนสส์ (Loch Ness) หรือทะเลสาบเนสส์ (Loch แปลว่า ทะเลสาบ) จะโด่งดังกลายในช่วงยุค 30s และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้สนใจจากทั่วโลก พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้คึกคักดังเช่นปัจจุบัน ทะเลสาบเนสส์ เป็นพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงได้ยาก แต่ไม่ใช่อีกต่อไปเมื่อมีการตัดถนนเมื่อ ค.ศ. 1933
การตัดถนน
การตัดถนนครั้งนั้นทำให้ทะเลสาบที่มองแต่ไกลแล้วคล้ายเห็นผืนน้ำดำมืดกลายเป็นทะเลสาบที่น่าค้นหา ทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสกอตแลนด์ บางครั้งมีหมอกปกคลุมพื้นผิวน้ำ รายล้อมด้วยบรรยากาศของต้นสน ปราสาทตระหง่าน และหอคอยที่ถูกทิ้งร้าง อันเหมาะแก่บรรยากาศและกลิ่นอายแห่งความลี้ลับชวนน่าค้นหาดึงดูดผู้เดินทางมาสัมผัสกับตำนานเรื่องราวลี้ลับต่างๆ และบ่อยครั้งที่พื้นที่ลักษณะนี้มักมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดที่ไม่เคยมีผู้ใดพบเห็นมาก่อน
ทันทีที่ถนนตัดผ่านแล้ว เรื่องราวจากปากของผู้สัญจรที่พบเห็นสัตว์ที่ไม่สามารถระบุประเภทได้และเป็นที่รู้จักในนาม "เนสซี" หรือ "สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์" ก็เริ่มแพร่กระจายจากปากสู่ปาก และเริ่มไปสู่สื่อท้องถิ่น ข้อมูลจากการบันทึกของสื่อมวลชนบันทึกว่า เรื่องสัตว์ประหลาดในล็อกเนสส์ เริ่มตกเป็นข่าวระดับท้องถิ่นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 1933 (พ.ศ. 2476) โดยหนังสือพิมพ์ Inverness Courier เป็นผู้รายงานว่า ชายหญิงคู่หนึ่งพบเห็นสัตว์ขนาดใหญ่ดำผุดเหนือผิวน้ำของล็อกเนสส์
วันที่ 22 กรกฎาคม หนุ่มสาวจากตระกูลสไปเซอร์ (Spicer) ไปพักผ่อนใน Highlands ขณะที่กำลังขับรถอยู่ พวกเขาเห็น "สัตว์ที่น่าทึ่งที่สุด" เคลื่อนที่ผ่านถนนตัดหน้าพวกเขา พวกเขาอ้างว่า สัตว์ที่พบเห็นสูงประมาณ 4 ฟุต (1.2 เมตร) ยาว 25 ฟุต (8 เมตร) ลักษณะลำคอยาว ตัวกว้างเกือบเท่าถนน (ประมาณ 10-12 ฟุต หรือ 3-3.5 เมตร) ในปากคาบซากสัตว์อยู่ด้วย มันเคลื่อนที่ด้วยการไถลหรือเลื้อยลงไปในทะเลสาบ พวกเขาอ้างว่า ไม่เห็นท่อนล่างของมัน
นายสไปเซอร์ ยังอ้างว่า สิ่งที่พวกเขาพบเห็นนั้นน่าจะใกล้เคียงกับมังกรหรือกลุ่มสัตว์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์มากที่สุด
คำอธิบาย "เนสซี"
ในช่วงข่าวลือเริ่มต้นแพร่สะพัด เอริค ชาไลน์ (Eric Chaline) ผู้เขียนหนังสือ "การตบตาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์" (History's Greatest Deceptions) เล่าว่า ผู้คนเริ่มมีทฤษฎีอธิบายที่มาที่ไปของสัตว์ที่ไม่สามารถระบุประเภทอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่รอดจากการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์และอาศัยอย่างโดดเดี่ยว ยักษ์ หรือตัวนิวท์ (Newt) สายพันธุ์ที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบหรือไม่มีบันทึกข้อมูล หรือแม้แต่เป็นงูทะเลยักษ์ ทั้งที่ทะเลสาบเนสส์เป็นทะเลสาบที่ไกลจากทะเล ไม่มีทางระบายไปสู่ทะเลโดยตรง น้ำในทะเลสาบก็เป็นน้ำจืด
หลังจากที่ Inverness Courier รายงานเรื่องการพบเห็นอีกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม หลังจากนั้นเริ่มมีรายงานการพบเห็นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนเดียวกัน อาร์เธอร์ แกรนท์ (Arthur Grant) อ้างว่า ขณะขี่มอเตอร์ไซค์บนถนนเลียบทะเลสาบในช่วงเช้าตรู่ เขาเกือบชนสัตว์ชนิดหนึ่ง คำอธิบายของแกรนท์ ใกล้เคียงกับสิ่งที่คู่หนุ่มสาวสไปเซอร์ส เล่า
กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 1933 มีหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายปรากฏในหน้าสื่อเป็นครั้งแรก ภาพเป็นฝีมือของนายฮิวจ์ เกรย์ (Hugh Gray) ชาวบ้านในหมู่บ้านละแวกนั้นพบเห็นวัตถุที่สังเกตเป็นรูปทรงได้พ่นน้ำทำให้เกิดน้ำกระเพื่อมขนาดใหญ่ เขาเล่าว่า โชคดีที่พกกล้องมาด้วย และถ่ายได้ขณะเดินทางกลับจากโบสถ์ (แต่เหตุผลพื้นฐานว่า ทำไมเขาพกกล้องด้วยขณะไปโบสถ์นั้น ไม่เคยมีข้อมูลอธิบายมาก่อน) มีเพียงภาพเดียวที่เห็นว่าเหมือนมีบางอย่างอยู่ในน้ำ แต่ความละเอียดของภาพก็ไม่ชัดเจนขั้นสามารถบอกได้ว่าอะไรอยู่ใต้น้ำ
เมื่อข่าวลือแพร่สะพัด มีผู้ที่สนใจสืบค้นหาที่มาที่ไปของสัตว์ลึกลับนี้อยู่บ้าง ส่วนใหญ่แล้วได้ทุนสนับสนุนโดยสื่ออังกฤษ มีรายงานว่าสื่ออังกฤษตั้งเงินรางวัลสำหรับผู้ที่พบสัตว์ประหลาด สำนักข่าว Daily Mail จ้างพรานนามว่า มาร์มาดุก เวเธอเรลล์ (Marmaduke Wetherell) มาค้นพาหาด้วย เอริค บรรยายว่า พรานรายนี้ไม่พบสัตว์ประหลาดแต่อย่างใด สิ่งที่พบกลับเป็นรอยเท้าของสัตว์บนชายฝั่งของทะเลสาบบริเวณที่เต็มไปด้วยหิน เชื่อว่า เป็นร่องรอยของสัตว์ขนาดใหญ่ที่กำลังกลับลงน้ำ
Daily Mail อ้างว่า พวกเขาค้นพบหลักฐานกายภาพครั้งแรกของสัตว์ประหลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อส่งหลักฐานไปให้พิพิธภัณฑ์ British Natural History Museum ในลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาของพิพิธภัณฑ์ระบุว่า หลักฐานถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยตัวช่วยเป็นแท่นวางร่มทรงเท้าฮิปโปโปเตมัส อันเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้นจากอิทธิพลของชนชั้นกลางในยุควิกตอเรียและสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด
สื่อดังและพรานผู้เชี่ยวชาญถูกแหกตาโดยคนมือบอน!!
สื่อคู่แข่งต่างเยาะเย้ย Daily Mail และนายพรานผู้นี้อย่างหนัก จนนายพรานดังกลับกลายเป็นเสมือนเสือที่เคยกล้าแกร่งแล้วต้องหลบหนีถอนตัวไปเลียแผล และเก็บตัวจากสาธารณะ
ภาพถ่ายที่ตบตาได้นานหลายทศวรรษ
วันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1934 สำนักข่าว Daily Mail ยังไม่เข็ดกับประสบการณ์ก่อนหน้านี้ พวกเขาเผยแพร่ภาพที่ภายหลังเรียกกันต่อมาว่า "ภาพถ่ายของศัลยแพทย์" (Surgeon's photograph) แสดงให้เห็นส่วนหัวและคอของสัตว์ชนิดหนึ่งโผล่พ้นจากผิวน้ำ ภาพถ่ายนี้ถูกเชื่อว่าเป็นฝีมือของโรเบิร์ต วิลสัน (Robert Wilson) แพทย์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากลอนดอน เขาอ้างว่า ถ่ายได้ระหว่างขับรถผ่านถนนทางตอนเหนือของทะเลสาบในช่วงเช้าวันที่ 19 เมษายน
ภาพถ่ายนี้ถูกเชื่อถือกันมาว่าเป็นภาพจริงนานหลายทศวรรษ ซึ่งภาพนี้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญสำหรับผู้ที่เชื่อเรื่องตัวตนของเนสซี สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์
ต้นยุค 90s สารคดีของช่อง Discovery มีเนื้อหาโดยสรุปว่า "ภาพนี้เหมือนน้ำกระเพื่อมจากวัตถุบางอย่างที่ถูกลากไป" ข้อสรุปของสารคดีเห็นด้วยกับแนวคิดของแคมเบลล์ ที่ว่าวัตถุนี้ไม่น่าจะยาวเกิน 3 ฟุต และภาพนี้ถูกตัดย่อ (crop) เพื่อให้ดูเหมือนกับว่าวัตถุมีขนาดใหญ่กว่าปกติ
เมื่อข่าวลือขยายวงกว้างจากสื่อท้องถิ่นไปถึงสื่อระดับชาติ ในช่วงศตวรรษที่ 20 สถาบันวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่หลายแห่งก็สนใจตามไปด้วย และมอบทุนสำหรับการสืบหาความจริง เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้มีตั้งแต่คลื่นโซนาร์, ไฮโดรโฟน (อุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ใช้ศึกษาสิ่งมีชีวิตในทะเล) และ เรือดำน้ำขนาดเล็ก เชื่อกันว่า หากนับงบประมาณที่ใช้ในการค้นหาความจริงก้นทะเลสาบจนถึงวันนี้น่าจะมีตัวเลขรวมแล้วไม่ต่ำกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ
แทบจะเป็นเรื่องปกติทั่วไปของเรื่องราวลี้ลับที่เมื่อคนส่วนใหญ่ยกกันไปค้นหา มันจะไม่โผล่มาให้เห็นแบบชัดเจน สิ่งที่พบคือสัญญาณบางอย่างเท่านั้น และการค้นหาในล็อกเนสส์ก็เป็นเช่นเดียวกัน ปฏิบัติการค้นหาในช่วงแรกไม่สามารถเก็บภาพถ่ายสัตว์ขนาดใหญ่ใต้น้ำได้ แต่อีริค เล่าว่า หลายปีที่ค้นหากันนั้น มีรายงานว่าทีมนักสำรวจพบว่าคลื่นโซนาร์สัมผัสกับวัตถุขนาดใหญ่
"ความจริง"
ท้ายที่สุดแล้ว ภาพนี้ถูกแฉโดยคริสเตียน สเปอร์ลิง (Christian Spurling) ลูกเลี้ยงของมาร์มาดุก เวเธอเรลล์ สเปอร์ลิงยอมรับว่า เขาเป็นคนแกะหัวของสัตว์ประหลาดขึ้นมาที่เดิมทีมาจากชิ้นส่วนหนึ่งของเรือดำน้ำของเล่น วีรกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของเวเธอเรลล์ โดยมีเอียน ลูกชาย และโรเบิร์ต วิลสัน ร่วมด้วย เวเธอเรลล์ เป็นคนถ่ายภาพ และวิลสัน ส่งต่อภาพไปให้สื่อดังเพื่อให้ดูมีเครดิตน่าเชื่อถือ โดยแผนการนี้เป็นไปเพื่อแก้เผ็ดจากกรณีของ Daily Mail และสื่ออื่นในแดนผู้ดี
ถึงจะมีข้อมูลเปิดเผยขั้นนี้แล้ว แต่ในปัจจุบันยังมีผู้ไม่เชื่อในคำอธิบายนี้อยู่ แม้ผู้ที่เชื่อในตัวตนของสัตว์ลึกลับจะยอมรับว่าภาพนี้เป็นของปลอม แต่พวกเขาเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ได้ปฏิเสธการมีตัวตนของเนสซี หรือสัตว์ลึกลับแห่งทะเลสาบเนสส์ หลังจากการเปิดเผยก็ยังมีการสำรวจอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง
เอริค ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีสัตว์เหล่านี้อยู่จริง ย่อมต้องมีจำนวนมากกว่าหนึ่งตัว และน่าจะมีรายงานหรือบันทึกการพบเห็นก่อนปี 1933 แต่หลักฐานก่อนหน้านี้ก็พบเพียงตำนานการพบเห็นของนักบุญโคลัมบา (Columba) ซึ่งเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 7
ตำนานเล่าว่า ระหว่างนักบุญเดินทางไปที่ดินแดนพิกต์ (Picts) ในสกอตแลนด์ นักบุญพบเห็นสัตว์ร้ายในแม่น้ำเนสส์ สัตว์ร้ายฆ่าคนนอกรีตรายหนึ่งในท้องถิ่น และนักบุญอีกรายหนึ่ง และเพื่อพิสูจน์อำนาจของพระเจ้า นักบุญโคลัมบาสั่งให้นักบุญอีกรายหนึ่งว่ายข้ามแม่น้ำไป เมื่อสัตว์ร้ายปรากฏตัวขึ้น นักบุญโคลัมบาก็ร่ายเตือน และมันก็หนีหายไปด้วยความกลัว
หากพิจารณาจากข้อมูลเชิงพื้นที่แล้ว สัตว์ในตำนานเรื่องนี้อยู่ในแม่น้ำเนสส์ที่เพียงแค่อยู่ใกล้กับทะเลสาบเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวของนักบุญที่พบปะสัตว์ประหลาดหรือปีศาจ และขับไล่พวกมันไปนั้น ก็เป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในชีวประวัตินักบุญ
และหากพิจารณาในแง่มุมวิทยาศาสตร์ สิ่งมีชีวิตเดียวที่มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับสัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ คือ เพลซิโอซอร์ (Plesiosaurs) สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยในน้ำอุ่นแห่งท้องทะเลในยุคจูราสสิก มีหัวขนาดเล็ก ลำตัวกว้าง หางสั้น คอยาว มีครีบ 2 คู่ ซึ่งทำให้คาดว่า พวกมันไม่สามารถเคลื่อนที่ในน้ำได้เร็วนัก สายพันธุ์ของมันมีหลากหลาย ขนาดเล็กที่สุดมีความยาว 9 ฟุต (3 เมตร) ขนาดใหญ่ที่สุดยาวประมาณ 60 ฟุต (20 เมตร)
ลักษณะของเพลซิโอซอร์ ใกล้เคียงกับคำบรรยายของเนสซีแทบทั้งสิ้น ติดเพียงแค่ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ดึกดำบรรพ์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เพลซิโอซอร์ ไม่สามารถยกหัวขึ้นมาเหนือผิวน้ำได้เหมือนกับภาพที่เรียกว่า "Surgeon's photograph" นอกจากนี้ ทะเลสาบล็อกมีอุณหภูมิเย็นกว่าน้ำที่เพลซิโอซอร์ จะอาศัยได้ และยังไม่มีแหล่งอาหารเช่นปลาอย่างเพียงพอให้ดำรงชีพได้
เอริค สรุปได้น่าคิดทีเดียวว่า "หากแผ่นดินบริติชมีเพลซิโอซอร์รอดชีวิตในทะเลสาบเนสส์ พวกเขาคงมีจูราสสิก ปาร์ค ของตัวเองไปแล้ว"