“วรรณะ” ของคนรับใช้อินเดีย สิ่งที่เจ้าอาณานิคมต้องยอม


“วรรณะ” ของคนรับใช้อินเดีย สิ่งที่เจ้าอาณานิคมต้องยอม

วันที่ 1 พฤศจิกายน 1858 สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียประกาศพระราชโองการสถาปนาอินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษในนาม "บริติชราช" โดยถ่ายโอนอำนาจจากอีสต์อินเดียคอมปานีมาสู่การปกครองโดยตรงของราชสำนักอังกฤษ และส่งข้าหลวงต่างพระองค์มาปกครองแทน

นั่นทำให้ "หนุ่มอังกฤษ" ส่วนใหญ่ ต่างมุ่งเดินทางสู่อาณานิคมแห่งใหม่ ตามมาด้วยหญิงสาวอังกฤษก็เดินทางตามมา เพื่อหาคู่ครอง และสร้างครอบครัวในอินเดีย (เพราะประชากรผู้ชายในประเทศลดลงอย่างมาก)

แต่สิ่งที่ครอบครัวใหม่ต้องเผชิญ ก็คือ "ระบบวรรณะ" ของ "คนรับใช้" ใน "บ้าน" บนดินแดนอาณานิคม

สาวอังกฤษที่เดินทางมาอินเดีย พวกเธอทุกคนต้องทำความคุ้นเคยกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และศาสนาของชาวอินเดีย โดยเฉพาะ "คนรับใช้" ในบ้านที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญยิ่งในชีวิตของพวกเธอ

คนรับใช้ที่มาจากวรรณะต่างๆ ความสลับซับซ้อนของระบบวรรณะสร้างความหงุดหงิดให้กับหญิงสาวชาวอังกฤษที่เป็น "คุณผู้หญิงของบ้าน" บางคนอยู่ไม่น้อย เช่น จีน ฮิลารี่ ขุ่นเคืองที่คนซักรีดผ้าในบ้านหลังหนึ่งที่เธอไปพักมีวรรณะสูงเกินกว่าที่จะมาซักผ้าอนามัยให้เธอ

ภริยาผู้บริหารเมืองบอมเบย์บันทึกถึงหน้าที่การงานของคนรับใช้ในทำเนียบว่า "วรรณะหนึ่งจัดแจงเรื่องดอกไม้ อีกวรรณะล้างจาน วรรณะที่สามเอาเทียนไปใส่เชิงเทียน แต่วรรณะที่สี่เป็นคนมาจุดไฟ คนหนึ่งเทน้ำใส่เหยือก ขณะที่ต้องให้อีกคนไม่ว่าจะวรรณะสูงหรือต่ำกว่าเป็นคนมาเทน้ำออกจากเหยือก บุรุษที่ทำความสะอาดรองเท้าบู๊ตของคุณจะไม่ลดตัวลงมาเสิร์ฟชาให้คุณ และคนที่ปูเตียงให้คุณจะเสื่อมเกียรติถ้าไปทำงานส่วนอื่นๆ ในห้อง

ผลที่ตามมาคือ แทนที่จะมีคนรับใช้ที่ทำงานเป็นระเบียบเรียบร้อยเพียงคนเดียว เมื่อคุณขึ้นมาที่ ‘ส่วนที่พำนักฝ่ายสตรีของฉัน' คุณจะเจอกับผู้ชาย 7 หรือ 8 คนสวมเสื้อผ้าแตกต่างกันไป แต่ละคนกำลังทำงานเล็กๆ น้อยๆ ที่จำเป็นต้องทำให้เสร็จ"


เมื่อ เดซีเร่ ฮาร์ต มาถึงอินเดีย เลดี้เฟรเซอร์ ภริยาข้าหลวงแห่งแคชเมียร์ ได้ส่งคนรับใช้ของเธอมารับที่ท่าเรือพร้อมจดหมายแนะนำว่า "โดสท์ มูฮัมเหม็ด คนรับใช้ส่วนตัวของฉันจะดูแลคุ้มกันเธอในการเดินทาง เขาพูดภาษาอังกฤษพอได้ และเธอไว้วางใจเขาได้อย่างที่สุด"

ไอริส บัทเลอร์ เล่าถึงโกปาล-คนรับใช้ของครอบครัวว่า "เขาไม่สามารถยืนรอที่โต๊ะหรืออยู่ตรงไหนที่ใกล้อาหารของเราเพราะเขามาจากวรรณะสูง หนึ่งในคำสั่งห้ามของแม่เมื่อฉันกลับมาอยู่ด้วย คือห้ามรบกวนโกปาล หรือขอให้เขาทำอะไรตอนบ่ายสองและบ่ายห้าโมงเย็น เพราะเป็นเวลาที่เขาต้องปฏิบัติกิจทางศาสนาสำหรับอาหารมื้อหลักและชำระล้างให้บริสุทธิ์"

ไลลาห์ วิงฟีลด์ บันทึกความรู้สึกรังเกียจคนรับใช้ชาวอินเดีย ในปี 1911 ว่า "ก่อนอาหารค่ำ สาวใช้มาแปรงผมให้ฉัน ผมสกปรกมาก แต่ฉันไม่เคยคุ้นกับการยอมให้มือผอมเกร็งเล็กๆ ดำๆ มาถูกเนื้อต้องตัว แต่หลังจากนั้นไม่นานฉันก็คุ้นชินกับเรื่องนี้ และยอมรับได้โดยไม่มีความรู้สึกรังเกียจ เพราะฉันคิดว่าฉันน่าจะทำเช่นนั้น"

แอน วิลสัน ผู้ตกใจและหวาดกลัวชาวอินเดียจำนวนมากมายที่เธอได้เห็นครั้งแรกที่ท่าเรือเมื่อมาถึงอินเดียในปี 1875 แต่หลังจากแต่งงานมีครอบครัว แอนมีคนรับใช้ชาวอินเดียถึง 13 คน สำหรับทำงานในบ้าน, เลี้ยงม้า, แบกน้ำ, ส่งนม ซึ่งทำงายได้มีประสิทธิภาพเยี่ยมยอด

คนรับใช้ชาวอินเดียยังรู้ทุกอย่างในชีวิตของนาย เพราะบ้านพักในอินเดียห้องต่างๆ มักจะเปิดประตูถึงกัน แทบไม่มีการแยกกัน คนรับใช้ทั้งหมดไม่ค่อยเคาะประตู และเดินเท้าเปล่าอย่างไร้เสียงอาจเข้ามาอยู่ในห้องก่อนที่ใครจะรับรู้ว่าพวกเขาปรากฏกายอยู่ แม้ว่าส่วนที่พักของพวกเขาแยกออกไปอย่างไม่ปะปนกันชัดเจน แต่พวกเขาสามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านได้ ตั้งแต่ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวที่ซ่อนเร้น อาการป่วยไข้ หรือการตั้งครรภ์

“วรรณะ” ของคนรับใช้อินเดีย สิ่งที่เจ้าอาณานิคมต้องยอม


อย่างไรก็ตามในยุคบริติชราช งานรับใช้ในบ้านสำหรับชาวอินเดียไม่ได้เป็นเรื่องต่ำต้อย แต่กลับเพิ่มฐานะให้มากกว่า คนรับใช้ถูกคัดมาจากพวกมีสถานะสูงในสังคมหมู่บ้าน ได้รับค่าจ้างที่พวกเขาไม่เคยคิดฝันว่าจะเป็นไปได้ และความภักดีของคนรับใช้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์แห่งบริติชราชบ่อยครั้งที่คู่แต่งงานใหม่ๆ หรือเจ้านายบางบ้าน ไม่มีอุปกรณ์จัดงานดินเนอร์ หรือปาร์ตี้ แต่คนรับใช้ที่ทรงประสิทธิภาพสามารถแก้ปัญหาให้ได้ด้วยการ "หยิบยืม" จากบ้านข้างเคียงเพื่อที่จะรักษาเกียรติยศของเจ้านายไว้

คุณผู้หญิงมือใหม่หลายคนประหลาดใจ เมื่อเห็นกระปุกเกลือและเชิงเทียนที่เธอได้มาใหม่ปรากฏอยู่บนโต๊ะของเจ้าภาพที่เชิญเธอไปร่วมงาน หรือพบอุปกรณ์แปลกตาบนโต๊ะจัดเลี้ยงในบ้านของตัวเอง "มีดปอกผลไม้ด้ามมุกของนายพลจัตวาจัดวางอยู่ในงานเลี้ยงของเราเสมอ เหมือนกับชุดถ้วยกาแฟสีเขียวของเราไปประดับอยู่บนโต๊ะของนายพันเอกเป็นประจำ" เอเวอลีน บาเร็ต เขียนเล่า "แน่ล่ะ ไม่มีใครพูดอะไร"

นี่คือสิ่งที่คนอังกฤษ โดยเฉพาะสาวๆ ตระหนักดีว่า "คนรับใช้" เป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิตในอินเดีย เพราะคนรับใช้เป็นทั้งกันชนและตัวเชื่อม ระหว่างคนแปลกหน้าผู้มาปกครองกับพื้นที่กว้างใหญ่ในความรับผิดชอบของพวกเขา ชาวอังกฤษในบริติชราชตระหนักกันดีว่าคนรับใช้ที่ดีมีค่ายิ่ง

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag.com

“วรรณะ” ของคนรับใช้อินเดีย สิ่งที่เจ้าอาณานิคมต้องยอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์