สงครามญี่ปุ่น – มองโกล ความพินาศจากมหาพายุ


สงครามญี่ปุ่น – มองโกล ความพินาศจากมหาพายุ

สงคราม มองโกลบุกญี่ปุ่น (Ghost of Tsushima)

เมื่อทัพของจักรวรรดิมองโกล พร้อมไพร่พล เกาหลี จีน บุกข้ามทะเล เพื่อพิชิตแผ่นดินอาทิตย์อุทัย

นับแต่โบราณ ญี่ปุ่นกับจีนเคยติดต่อกันทางการทูตเป็นระยะ จนถึงกลาง ศตวรรษที่ 9 ก็ยุติลง เหลือเพียงการค้าทางเรือในเขตตอนใต้ของจีน แต่โจรสลัดญี่ปุ่นก็ได้ทำให้เขตน่านน้ำดังกล่าวไม่ปลอดภัยสำหรับเรือสินค้า ขณะเดียวกัน ทางการญี่ปุ่น ก็ไม่สนใจที่จะทำการค้ากับต่างประเทศ คือ จีนและเกาหลีมากนัก

ต้นศตวรรษที่ 13 เจงกีสข่าน ผู้นำมองโกลได้รวบรวมชนเผ่าทางเหนือของจีนและก่อตั้งอาณาจักรก่อนจะขยายอำนาจครอบครองจีนทางเหนือและเอเชียกลางกลายเป็นจักรวรรดิ ในปี ค.ศ.1260 เจ้าชายกุบไล พระนัดดาเจงกีสข่าน ขึ้นเป็นมหาข่านปกครองจักรวรรดิมองโกลหลังพระเชษฐาคือมองเกข่าน สิ้นพระชนม์ขณะยกทัพไปตีอาณาจักรซ่งใต้ของจีน

หลังครองราชย์ กุบไลข่านต้องทำสงครามกลางเมืองกับ ออริบุค ผู้เป็นอนุชา โดยหลังจากปราบฝ่ายของออริบุคลงได้ กุบไลข่านก็ได้เปิดศึกกับอาณาจักรซ่งใต้และในปี ค.ศ.1271 พระองค์ก็สถาปนาราชวงศ์หยวนเฉลิมพระนามเป็น จักรพรรดิหยวนซื่อจู



เวลานั้น จักรวรรดิมองโกลมีอาณาเขตกว้างขวาง จากลุ่มน้ำดานูบในยุโรปตะวันออก รัสเซีย ตะวันออกกลางและ เอเชียกลางจนถึงชายฝั่งตะวันออกของจีน

สำหรับญี่ปุ่นนั้น กุบไลข่านเห็นว่า ในอดีต ญี่ปุ่นเคยส่งทูตมาถวายบรรณาการให้จีน ทั้งเคยมีสัมพันธ์ทางการทูตกับโครยอที่เป็นรัฐบริวารของมองโกล พระองค์จึงต้องการให้ญี่ปุ่นยอมอ่อนน้อมเป็นรัฐบริวารเช่นเดียวกับโครยอ

ในเวลานั้น ญี่ปุ่นอยู่ในการปกครองของโชกุน (ผู้สำเร็จราชการ)ตระกูลโฮโจ มีศูนย์กลางอยู่ที่คามาคูระ ส่วนองค์จักรพรรดิทรงมีอำนาจแต่ในนามและประทับอยู่ที่เกียวโต

ปี ค.ศ.1266 กุบไลข่านส่งทูตถือสาส์นไปยังราชสำนักญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในรัชสมัยของจักรพรรดิคาเมยามะ โดยมี โฮโจ โทคิมูเนะ ดำรงตำแหน่งโชกุน 

เนื้อความของสาส์นที่เกลี้ยกล่อมเชิงบีบบังคับให้ญี่ปุ่นยอมเป็นรัฐบริวาร ทำให้เกิดการถกเถียงเคร่งเครียดในที่ประชุม ทว่าโชกุนได้ยุติการถกเถียงด้วยการส่งสาส์นเปล่ากลับไปให้กุบไลข่าน
กุบไลข่านได้สั่งให้ส่งสาส์นไปญี่ปุ่นอีกหลายครั้งจนถึงปี ค.ศ.1268 แต่โทคิมูเนะก็ส่งกระดาษเปล่ากลับไปทุกครั้ง จนทำให้กุบไลข่านทรงพิโรธและมีดำริจะส่งทัพไปตีญี่ปุ่น แต่เนื่องจากเวลานั้น จักรวรรดิมองโกลยังติดพันการศึกกับอาณาจักรซ่งใต้ จึงไม่อาจส่งทัพไปตีญี่ปุ่นได้
  
จนถึงปี ค.ศ.1274 เมื่อมองโกลใกล้พิชิตอาณาจักรซ่งใต้ได้ กุบไลข่านจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะสั่งสอนญี่ปุ่นให้สมกับความโอหัง โดยมีพระบัญชาให้ระดมทหาร มองโกล จีนและเกาหลี รวม 40,000 นาย เรือรบ 900 ลำ นำโดย ฮินตุน หลิวฟู่เหิงและ คิมบังกยอง เพื่อบุกญี่ปุ่น โดยในศึกนี้นอกจากพวกมองโกลจะใช้ทหารม้าอันเกรียงไกรเป็นหัวหอกในการบุกแล้ว ยังมีระเบิดจำนวนมากด้วยซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ชาวญี่ปุ่นได้พบกับอาวุธชนิดนี้

ทางฝ่ายญี่ปุ่น จักรพรรดิคาเมยามะได้สละบัลลังก์ให้พระโอรสขึ้นครองราชย์เป็น จักรพรรดิอูดะ โดยโฮโจ โทคิมูเนะ ยังคงเป็นโชกุนเช่นเดิม ซึ่งหลังทราบข่าวศึกโทคิมูเนะก็ได้ระดมกำลังเพื่อตั้งรับที่อ่าวฮากาตะซึ่งเป็นจุดที่คาดว่า ข้าศึกจะยกพลขึ้นบก

สงครามญี่ปุ่น – มองโกล ความพินาศจากมหาพายุ

ทัพเรือมองโกลเคลื่อนพลในเดือนกันยายน จากที่มั่นในคาบสมุทรเกาหลีและโจมตีเกาะทสึชิมะเป็นที่แรก 

สุเกะคุนิ ข้าหลวงทสึชิมะพร้อมซามูไร 100 นายพลีชีพในการรบ โดยทหารมองโกลได้สังหารหมู่ชาวบ้านกว่าสามร้อยคน ก่อนบุกเกาะอิคกิ เกาะฮิราโดะ เกาะทากะ เกาะโนโคะโนะ สังหารซามูไรหลายร้อยนาย และสังหารหมู่ชาวบ้านอีกนับพันคนก่อนกองเรือจะมาถึงอ่าวฮากาตะของเกาะคิวชู(ปัจจุบัน คือ เมือง ฟูกูโอกะ)ในเดือนพฤศจิกายน และเมื่อทัพมองโกลยกพลขึ้นบก ก็ถูกโจมตีโดยซามูไร 10,000 นาย นำโดยโชนิ สุเกะโยชิ และ โอะโทะโมะ โยริยาสุ ที่รออยู่

เวลานั้น ญี่ปุ่นยังมีธรรมเนียมอย่างหนึ่ง คือยามที่สองทัพประจัญหน้ากันในสนามรบ แต่ละฝ่ายจะส่งขุนพลออกมาทำการรบตัวต่อตัวก่อน ทว่าโชคร้ายที่มองโกลไม่รู้จักธรรมเนียมนี้ิ 

ซึ่งในการรบที่อ่าวฮากาตะนี้ ได้มีขุนพลญี่ปุ่นชื่อ ทาเคะซากิ ซูเอะนากะ ขี่ม้าออกมาท้าฝ่ายมองโกลให้ส่งนักรบไปสู้กันตัวต่อตัวทว่ามองโกลกลับส่งทหารนับร้อยเข้าตะลุมบอนกับขุนพลผู้นี้ แต่ซูเอะนากะก็ต่อสู้อย่างกล้าหาญจนบาดเจ็บสาหัสก่อนที่ซามูไรหนึ่งร้อยนายจะมาช่วยเขาออกไปจากวงล้อม
ในการรบอันดุเดือดของวันแรก นอกจากมองโกลจะมีพลธนูชั้นเยี่ยมแล้ว ยังมีระเบิดที่ญี่ปุ่นไม่รู้จักมาก่อนด้วย ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นต้องเป็นฝ่ายปราชัยล่าถอยไป

กองทัพมองโกลได้พักแรมบนเรือรบที่จอดทอดสมออยู่ในอ่าว ทว่าคืนนั้น เกิดพายุใหญ่โหมกระหน่ำอ่าวฮากะตะ ทำให้เรือรบจมไปถึง 200 ลำ พร้อมกับทหารอีก 13,500 นาย ทำให้กองทัพมองโกลต้องล่าถอยไปอย่างบอบช้ำ

แม้จะปราชัย แต่กุบไลข่านก็ยังไม่ยอมแพ้ ทว่าเวลานั้น อาณาจักรซ่งใต้ที่เดิมมีท่าทีจะพ่ายแพ้ กลับยืนหยัดขึ้นมาสู้ต่ออีก ทำให้มองโกลต้องระดมกำลังเผด็จศึกซ่งใต้ จนไม่อาจเปิดศึกใหญ่กับญี่ปุ่นได้
ปี ค.ศ.1279 ทัพเรือมองโกลสามารถทำลายกองทัพเรือซ่งใต้ซึ่งมีจำนวนมากกว่าถึงสิบเท่าได้ที่หย่าเหมินและปิดฉากอาณาจักรซ่งใต้โดยสิ้นเชิง

หลังพิชิตซ่งใต้ได้สำเร็จ กุบไลข่านจึงส่งทูตไปข่มขู่ให้ญี่ปุ่นยอมเป็นรัฐบริวาร ทว่าโชกุนโทคิมูเนะได้สั่งตัดหัวคณะทูตมองโกลทั้งหมดแทนคำตอบ

กุบไลข่านทรงพิโรธเป็นอย่างมากและในปี ค.ศ.1281 พระองค์ก็ให้ระดมทหารจำนวน 142,000 นาย เรือรบ 4,400 ลำ นำโดยอาตาไก ฮินตุน ฮงดากู คิมบังกยอง และฟ่านเหวินหู่ เพื่อทำลายญี่ปุ่นให้จงได้ 
ทางฝ่ายญี่ปุ่น นับแต่สงครามปี ค.ศ. 1274 ก็ได้เตรียมพร้อมที่จะรับมือการรุกรานที่จะเกิดขึ้นอีก โดยได้สร้างกำแพงสูง 2.5 เมตร ยาว 20 กิโลเมตร เลียบตลอดอ่าวฮากะตะเพื่อป้องกันอาวุธดินระเบิดและกองทหารม้าของมองโกล

เดือนมิถุนายนปี ค.ศ.1281 กองทัพมองโกลได้เคลื่อนทัพออกจากเกาหลีและมุ่งหน้าสู่คิวชู ซึ่งทันทีที่ทราบข่าวศึก โชกุนโทคิมูเนะได้ระดมซามูไร 40,000 นาย เพื่อรับมือข้าศึกและเรียกทหารอาสาสมัครเข้าเป็นกองหนุนด้วย

สงครามญี่ปุ่น – มองโกล ความพินาศจากมหาพายุ

ทางฝ่ายมองโกลซึ่งไม่ทราบข่าวการสร้างกำแพงที่ อ่าวฮากาตะ ดังนั้นกองทัพหน้าของมองโกลจึงยกพลขึ้นบกตรงกับแนวกำแพงพอดี และเผชิญกับทัพซามูไรที่นำโดย โฮโจ ซาเนะมาสะ และ โอะโทะโมะ โยริยาสุทหารทั้งสองฝ่ายปะทะกันอย่างดุเดือดบริเวณชายฝั่งทะเล ฝ่ายมองโกลต้องเสียทหารไปกว่าสามพันโดยที่ไม่อาจบุกผ่านกำแพงไปได้ จึงเห็นว่า การโจมตีแนวกำแพงจะทำให้เสียกำลังพลโดยเปล่าประโยชน์ จึงถอนกำลังและแล่นเรือไปทางตะวันตกเพื่อรวมพลกับกองทัพใหญ่ที่เพิ่งจะมาถึง
จากนั้นกองทัพมองโกลได้เข้ายึดเกาะทากาชิ เพื่อใช้เป็นฐานทัพบุกคิวชู แต่ก็เผชิญการต่อต้านอย่างหนักโดยในสงครามครั้งนี้ แม้พวกโจรสลัดญี่ปุ่นก็ยังช่วยโจมตีกองทัพเรือมองโกลด้วย

ขณะเดียวกันทางเกียวโต องค์จักรพรรดิอูดะและอดีตจักรพรรดิคาเมยามะทรงมีพระบรมราชโองการให้เหล่าราษฎรทั่วญี่ปุ่น ช่วยกันสวดขอพรจากเทพเจ้าในวิหารชินโตทั่วประเทศ เพื่อให้ปกป้องญี่ปุ่นจากมหันตภัยในครั้งนี้ 


เพื่อข่มขวัญชาวญี่ปุ่น ทหารมองโกลได้ตัดมือเชลยหญิงญี่ปุ่นหลายร้อย แขวนไว้กับกราบเรือ แต่กลับยิ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นเคียดแค้นและสู้รบอย่างบ้าบิ่น

การรบระหว่างสองฝ่ายดำเนินมาเรื่อย โดยที่ทางฝ่ายมองโกลแม้ว่าจะยังไม่พ่ายแพ้ แต่ก็ยังไม่อาจรุกคืบหน้าไปได้กลางดึก คืนวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1281ขณะกองทัพเรือมองโกลตั้งค่ายพักที่เกาะทากาชิ กองทัพญี่ปุ่นได้ระดมกำลังเข้าปล้นค่ายมองโกลอย่างดุเดือด โดยในการรบครั้งนี้ ทาเคะซากิ ซูเอะนากะ(ที่รอดจากโดนมองโกลรุมสกรัม)ได้นำกำลังบุกถึงกองบัญชาการฝ่ายมองโกลอย่างบ้าระห่ำ จนทำให้เหล่าแม่ทัพข้าศึกต้องหนีกลับขึ้นเรือ แม้ทัพญี่ปุ่นจะไม่อาจตีค่ายมองโกลได้ แต่ก็ทำให้ข้าศึกเสียขวัญจนต้องถอนกำลังกลับลงไปพักในเรือ

และในวันที่ 15 สิงหาคม ก็เกิดพายุใหญ่โหมกระหน่ำเกาะทากาชิ ทัพเรือมองโกลโดยพายุทำลายยับเยินเรือรบเกือบ 4,000 ลำจมลงพร้อมกับทหารร่วมแสนนาย ส่วนพวกทหารที่หนีขึ้นฝั่งได้ ก็ถูกซามูไรที่รออยู่บนฝั่งสังหารจนเกือบหมด

สงครามญี่ปุ่น – มองโกล ความพินาศจากมหาพายุ

สงครามครั้งนี้ จักรวรรดิมองโกลต้องสูญเสียทหารไปกว่า 130,000 นาย และต้องถอนทัพกลับจีนอย่างยับเยิน โดยชาวญี่ปุ่นเรียกลมพายุที่ปกป้องประเทศในครั้งนี้ว่า ลมเทพเจ้า หรือ กามิกาเซ่ แม้จะพ่ายแพ้ยับเยิน แต่กุบไลข่านก็ยังคิดจะบุกญี่ปุ่นอีก ทว่าได้เกิดสงครามในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ต้องยกเลิกแผน จากนั้นมองโกลก็ไม่ได้บุกญี่ปุ่นอีกเลย

ขณะเดียวกัน ผลจากสงครามครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นตระหนักถึงภัยคุกคามจากแผ่นดินใหญ่ และเริ่มเห็นความสำคัญของคาบสมุทรเกาหลีในฐานะจุดยุทธศาสตร์ นอกจากนี้การรุกรานครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลโชกุนต้องเก็บภาษีอย่างหนักเพื่อใช้จ่ายในการศึก


อีกทั้งเหล่าขุนศึกที่ร่วมรบในสงครามก็ไม่ได้รับรางวัลตอบแทนเป็นที่ดินทำให้เกิดความไม่พอใจในรัฐบาลคามาคูระ จนนำไปสู่ยุคเสื่อมถอย มีการกบฏของเหล่าขุนศึก และเกิดสงครามกับกลุ่มสนับสนุนจักรพรรดิ กลายเป็นจุดสิ้นสุดของสมัยคามาคุระในปี ค.ศ.1333 จากนั้นในปี ค.ศ.1336 ตระกูลอะชิคางะก็ขึ้นมากุมอำนาจเป็นโชกุนแทน

สงครามญี่ปุ่น – มองโกล ความพินาศจากมหาพายุ

เครดิตแหล่งข้อมูล : ประวัติศาสตร์สโมสร

สงครามญี่ปุ่น – มองโกล ความพินาศจากมหาพายุ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์