กำเนิดโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ อนุบาลแห่งแรก ใครให้ทุน-ใช้ครูจากไหน?


กำเนิดโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ อนุบาลแห่งแรก ใครให้ทุน-ใช้ครูจากไหน?

วันที่ 2 กันยายน 2483 โรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของรัฐ โรงเรียนอนุบาลละอออุทิส (ปัจจุบันคือ โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ) สังกัดกองฝึกหัดครู กระทรวงธรรมการ เปิดการเรียนการสอนอนุบาล เพื่อเป็นสถานที่ฝึกนักเรียนฝึกหัดครูอนุบาล ของโรงเรียนการเรือนวังจันทร์เกษม (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต)

ก่อนปี 2482 การเรียนในระดับอนุบาลยังไม่แพร่หลาย มีโรงเรียนเอกชน 2 แห่ง คือ โรงเรียนมาแตร์เดอี และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ที่มีการสอนในระดับบอนุบาล ต่อมา ม.จ.รัชฎาภิเษก โสณกุล อธิบดีกรมการศึกษาธิการ เห็นว่าการเรียนการสอนระดับอนุบาลมีความสำคัญในการพัฒนาเด็ก จึงมีการจัดตั้ง คณะกรรมการจัดโครงการโรงเรียนอนุบาล ประกอบด้วย นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา-ผู้เคยศึกษาการอนุบาลมอนเตสเซอรี่ จากประเทศอิตาลี, ม.ล.มานิจ ชุมสาย-หัวหน้ากองฝึกหัดครู และนางแพทย์ พัทยภาคย์-หัวหน้านางพยาบาลศิริราช

คณะกรรมการดังกล่าวตกลงว่า ให้โรงเรียนอนุบาลรับเด็กอายุ 3 ขวบครึ่ง เข้าเรียนแบบ มอสเตสเซอรี่ คือ เน้นการเรียนรู้จากการเล่น เช่น ร้องเพลง, เล่านิทาน, การสังเกตอักษรกับภาพจับคู่กัน ฯลฯ รวมถึงการดูแล สร้างนิสัยที่ดีให้กับเด็กๆ เช่น การรักษาความสะอาด, ความเป็นระเบียบ, สุขนิสัยในการกินอยู่, การมีเพื่อน ฯลฯ เพื่อพัฒนาร่างการและจิตใจเด็กในระหว่างการดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลนั้น กระทรวงธรรมการได้วางแผนจัดเตรียมครูอนุบาลให้กลับมารับราชการ

 โดยประกาศสอบคัดเลือกครูเพื่อไปเรียนวิชาอนุบาลที่ประเทศญี่ปุ่น มีผู้ผ่านการคัดเลือก 4 คน คือ น.ส.สมถวิล สวยสำอาง, น.ส.เบญจา ตุลคะศิริ, น.ส.สรัสวดี วรรณโกวิท และ น.ส.เอื้อมทิพย์ เปรมะโยธิน ซึ่งต่อมาเป็นผู้ที่มีบทบาทในการวางรากฐานการสอนในโรงเรียนอนุบาล

 



โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ (ภาพจากหนังสือ 50 ปี วิทยาลัยครูสวนดุสิต )

เนื่องจากการสร้างโรงเรียนอนุบาลดังกล่าว
นางสาวละออ หลิมเซ่งไถ่ มอบเงินจำนวน 80,000 บาท ให้เป็นทุนก่อสร้างอาคาร จึงใช้ชื่ออาคารเรียนว่า ละอออุทิส และชื่อโรงเรียนว่าโรงเรียนอนุบาลละอออุทิส (ภายหลังเปลี่ยนเป็น ละอออุทิศ) มี ม.ล.มานิจ ชุมสาย หัวหน้ากองฝึกหัดครู เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง, แต่งตำราเพื่อใช้เป็นคู่มือประกอบการสอน และนางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา เป็นครูใหญ่คนแรก

ปรากฏใน 1 ปีที่เปิดดำเนินการได้รับความสนใจจากประชาชนนำบุตรหลานมาเข้าเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้กระทรวงธรรมการมีนโยบายจะเปิดโรงเรียนอนุบาลของรัฐในต่างจังหวัด

ต่อมาในปี 2484 โรงเรียนการเรือนวังจันทร์เกษม ได้ย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ (ถนนราชสีมา) และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนการเรือนพระนคร แต่โรงเรียนทั้งสองแห่งนี้มีระบบการบริหาร จัดการแยกออกจากกัน

ระหว่างปี 2486-89 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ ได้รับผลกระทบจากสงคราม จึงอพยพไปจัดการเรียนการสอนที่วัดปรินายก (กรุงเทพมหานคร) เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง ก็ย้ายกลับมาเรียนที่เดิมแต่พบว่าอาคารเรียนเดิมถูกระเบิดทําลายหลายหลัง จึงได้ก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ในปี พ.ศ. 2490 (อาคาร 1 ใน ปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นอาคารที่เสียหายจากสงคราม

ภายหลังกระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งกรมการฝึกหัดครู ได้รวมการฝึกหัดครูที่สังกัดกรมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อประหยัดงบประมาณ, เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตครู โรงเรียนการเรือนพระนครจึงโอนมาสังกัด กรมการฝึกหัดครูด้วย

ต่อมาในปี 2498 แผนกฝึกหัดครูอนุบาล โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศโอนมาสังกัดโรงเรียนการเรือนพระนครอีกครั้ง โรงเรียนการเรือนพระนครเปิดสอนหลักสูตร ป.กศ. (ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา) สาขาคหกรรมศาสตร์, หลักสูตรประโยคครูการเรือน,หลักสูตรประโยคครูอนุบาล ระดับ ป.ป.(หลักสูตรครูประถม), และประโยคครูมัธยมการเรือน

ในปี 2499 และได้เปิดสอน หลักสูตร ป.กศ. (ขั้นสูง) สาขาคหกรรมศาสตร์ และสาขาอนุบาลศึกษา เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2501 ถึงปี 2504 โรงเรียนการเรือนพระนครยกฐานะเป็น วิทยาลัยครูสวนดุสิต

ต่อมาในปี 2518 พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 (ฉบับที่ 1) มีผลบังคับใช้ ทำให้กรมการฝึกหัดครูปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิทยาลัยครูสามารถเปิดสอนระดับปริญญาตรีได้ ต่อมาในปี 2520 โรงเรียนอนุบาลละออทิศจัดตั้งเป็น ภาควิชาการอนุบาลศึกษา สังกัดคณะครุศาสตร์ วิทยาลัยครูสวนดุสิต และเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag.com

กำเนิดโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ อนุบาลแห่งแรก ใครให้ทุน-ใช้ครูจากไหน?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์