ลอยกระทงกับคำสอน นางนพมาศ แฝงคติเตือนอย่า เล่นเพื่อน
เป็นที่แน่ชัดว่าเนื้อหาของวรรณคดีมีน้ำเสียงเชิงสั่งสอนสิ่งพึงปฏิบัติไม่พึงปฏิบัติโดยเฉพาะสำหรับนางสนม สุพจน์ แจ้งเร็ว ตั้งข้อสังเกตเนื้อหาส่วนหนึ่งในวรรณกรรมที่นางนพมาศพูดถึงนิทาน นางนกกระเรียนคบนางนกไส้ช่างยุ ในบทความ คำสอนนางนพมาศ (ว่าด้วยการเป็นนางบำเรอบาท)
ผู้เขียนบทความมองว่า นิทานอุปมาเรื่องที่นางนพมาศยกขึ้นสาธกเป็นคำตอบแก่พระศรีมโสถ ผู้เป็นบิดานั้น แสดงถึงลักษณะของ ลามกสตรี อัน เป็นฝ่ายข้างอัปมงคล ที่ ทำทุจริตลุอำนาจแก่ความรัก หากอ่านแบบเผินๆ อาจรับรู้ถึงสารเชิงเตือนสตินางสนมให้ตั้งใจปฏิบัติ ราชกา" อย่าคบเพื่อนฝูงจนเลยละราชการ (นิทานเล่าว่า นางนกกระเรียน คบกับ นางนกไส้ ร่วมรังเดียวกันจนลืมร้องถวายเสียงแก่กรุงกษัตริย์ เมื่อนึกได้ก็กลางคัน ไม่ได้เป็นใจเปล่งเสียงร้องให้ไพเราะ คิดแต่จะกลับคืนรังไปอยู่กับนางนกไส้)
อย่างไรก็ตาม สุพจน์ แจ้งเร็ว แสดงความคิดเห็นว่า หากนางสนมได้อ่านอาจต้องสะอึกกันบ้าง เนื่องจากนิทานเรื่องนี้บริภาษการ เล่นเพื่อน อย่างรุนแรงเรื่องการเล่นเพื่อนนี้เป็นเรื่องที่ว่ากันว่าอยู่คู่กับราชสำนักมา เคยถูกบัญญัติเป็นกฎมณเฑียรบาล ระบุโทษนางสนมกำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกันดุจชายเป็นชู้เมียกัน ต้องลงโทษด้วยลวดหนัง 50 ที และโดนประจานรอบพระราชวัง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่สืบค้นไม่พบว่าในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์เคยมีการจับสนมเล่นเพื่อนได้ แต่เชื่อว่าเป็นที่รู้กันอยู่ภายใน และมีกลอนเพลงยาว หม่อมเป็ดสวรรค์ ในหมู่ชาววังเป็นที่สนุกสนานกัน
กลอนเพลงยาวนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่บ้างก็ว่าแต่งโดยคุณสุวรรณ นางข้าหลวงในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ขณะที่นายหรีด เรืองฤทธิ์ ผู้รู้ของกรมศิลปากรสันนิษฐานว่ากลอนเพลงยาวแต่งเมื่อราว พ.ศ. 2348-2358 ก่อนกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพประชวรในปีเถาะ พ.ศ. 2386
สำหรับเรื่องราว หม่อมเป็ดสวรรค์ แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของหม่อมสุด (ชื่อในเรื่องคือ คุณโม่ง) กับหม่อมขำ (ชื่อในเรื่องคือ หม่อมเป็ด) ซึ่งต่างมีหน้าที่อ่านหนังสือ-ถวายงานรับใช้เมื่อทรงบรรทม คราวหนึ่งถึงคลุมโปงประกอบกิจกันอุตลุดที่ปลายพระบาท โดยคิดว่าเจ้านายทรงพระบรรทมแล้ว แต่เรื่องที่เล่นเพื่อนนั้นโชคดีที่เจ้านายไม่ทรงกริ้ว
แต่สำหรับพระมหากษัตริย์แล้ว การ เล่นเพื่อน นี้ ไม่เป็นที่พอพระทัยในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับเจ้าจอมของพระองค์ อันเห็นได้จากกลอนพระราชนิพนธ์ว่า
การสิ่งใดที่ไม่ดีเรามิชอบอ้อนวอนปลอบจงจำอย่าทำหนา
ก็ไม่ฟังขืนขัดอัธยา
ยิ่งกับว่าตอไม้ไม่ไหวติง
ที่ข้อใหญ่ชี้ให้เห็นเรื่องเล่นเพื่อน
ทำให้เฟือนราชกิจผิดทุกสิ่ง
ถ้าจะเปรียบเนื้อความไปตามจริง
เสมอหญิงเล่นชู้จากสามี
นี่หากวังมีกำแพงแขงแรงรอบ
เปนคันขอบดุจเขื่อนคีรีศรี
ถ้าหาไม่เจ้าจอมหม่อมเหล่านี้
จะไปเล่นจ้ำจี้กับชาย เอย
เมื่อกลอนพระราชนิพนธ์แสดงให้เห็นว่ามีเจ้านายทรงไม่พอพระทัย (แม้จะมีบางพระองค์ไม่ทรงกริ้วก็ตาม) สุพจน์ แจ้งเร็ว เชื่อว่า บริบทที่เจ้านายไม่พอพระทัยนี้มีแนวโน้มนำมาสู่เนื้อหาเชิงสั่งสอนตักเตือนหรือกำราบพฤติกรรมนางสนมที่ลุแก่ความรักจนทำให้ เฟือนแก่ราชกิจ เหมือนนางนกกระเรียนที่ลืมร้องถวายเสียงว่า พึงใจแต่จะให้นางนกไส้เข้าซอกไซ้ใต้ปีกใต้หางไม่ว่างเว้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตอีกประการว่า การพิจารณาวรรณคดีตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ บางส่วนสะท้อนสังคมฝ่ายในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกวรรคทุกวลีของวรรณกรรมคือ สัญลักษณ์ ที่ถอดสมการออกมาได้ แต่การทดลอง ลากเข้าวัด ก็สามารถช่วยให้เห็นแนวทางอื่นได้ และหากพบคำตอบที่ดีกว่าย่อมควรพิจารณาเปลี่ยนแปลงได้เช่นกันเครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag