“นายการะหก” ทูตฝรั่งผู้น่ารัก!


“นายการะหก” ทูตฝรั่งผู้น่ารัก!

"นายการะหก" ทูตฝรั่งผู้น่ารัก! เสนาบดีไทยส่งสาสน์ไปชมถึงต้นสังกัด แถมยัง "ไข่" ไว้ในไทย!!

ชาวโปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่มาประเทศไทย ในสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่าที่เมืองเชียงกรานใน พ.ศ.๒๐๘๑ ก็มีทหารอาสาโปรตุเกสถือปืนไฟร่วมไปกับกองทัพของสมเด็จพระไชยราชาธิราชถึง ๑๒๐ คนจากชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๑๓๐ คน

เมื่อมีชัยชนะในสงครามครั้งนั้น สมเด็จพระไชยราชาจึงทรงตอบแทนด้วยการพระราชทานที่ดินให้ชาวโปรตุเกสสร้างโบสถ์และหมู่บ้านขึ้นเป็นหลักแหล่งในกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากรุงลิสบอนของโปรตุเกส ได้ส่ง อันโตนิโอ เดอ วิเสนท์ ซึ่งคนไทยเรียกว่า "องตนวีเสน" เป็นราชทูตเข้ามา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดพิธีให้เข้าเฝ้าอย่างใหญ่โต

จนในสมัยรัชกาลที่ ๒ โปรตุเกสซึ่งเช่ามาเก๊าจากจีนทำเป็นเมืองท่า ได้มีการค้าขายกับไทยมาก ในปี ๒๓๖๑ เจ้าเมืองมาเก๊าจึงส่ง ดอน การ์ลส มาโนเอล ดา ซิลวีรา ทูตน่ารักผู้ที่จะเล่านี้ นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และมีสาสน์ส่งมาถึงระดับเสนาบดีด้วย
ชื่อของ นายการ์ลส ถึงยุคนี้ก็ยังเรียกยาก ฉะนั้นเพื่อความสะดวกลิ้นในยุตนั้น นายการ์ลสจึงถูกเรียกกันว่า "นายการะหก"

ในสาสน์จากเจ้าเมืองมาเก๊าที่นายการะหกถือเข้ามาถึงเสนาบดีนั้น กล่าวว่าเพื่อสืบทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงลิสบอน จึงส่งนายกาลสมาเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวและคุมสิ่งของมาถวาย ไม่ได้มีข้อเรียกร้องแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้เรือโปรตุเกสที่ไปมาค้าขายกับสยามสะดวกดังแต่ก่อน และเสนอตัวว่าถ้าพระเจ้าอยู่หัวต้องการสิ่งใดก็ขอให้บอก จะจัดหามาให้ตามพระราชประสงค์

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงเห็นว่า เมื่อครั้งที่เรือกำปั่นหลวงชื่อ มาลาพระนคร มี หลวงสุรสาคร เป็นนายเรือออกไปค้าขายที่เมืองมาเก๊า เจ้าเมืองมาเก๊าก็เลี้ยงดูอย่างดี และสงเคราะห์ให้ค้าขายได้โดยสะดวก เมื่อเขามาก็สมควรจะรับรองตอบแทน อีกทั้งในเวลานั้นเราก็ต้องการหาซื้อปืนไฟไว้ป้องกันพระนคร การมีไมตรีกับโปรตุเกสก็จะทำให้การหาซื้อปืนได้สะดวกขึ้น จึงโปรดเกล้าให้พระยาสุริยวงศ์มนตรี ซึ่งดูแลการค้ากับโปรตุเกสอยู่แล้ว จัดการต้อนรับนายการ์ลสอย่างเต็มที่ และโปรดให้นำเข้าเฝ้าด้วย

นายการะหกมาเป็นทูตการค้าครั้งนี้ ได้ทำหน้าที่เป็นทูตการค้าอย่างเต็มตัว กำปั่นสองเสาชื่อ อิยันเต ที่ใช้เดินทางมานั้น ยังบรรทุกสินค้ามาเต็มลำ จะขอนำขึ้นมาขาย และจะขอพักอยู่ในเมืองไทยสักระยะหนึ่งเพื่อศึกษาดูลู่ทางการค้า ระหว่างที่พักอยู่นี้ก็ไม่อยากให้กำปั่นทอดสมออยู่เฉยๆให้เสียเปล่า จะขอซื้อน้ำตาลทราย สินค้าฮิตของไทยในยุคนั้น ไปขายที่เกาะหมากด้วย พระยาสุริยวงศ์มนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุญาตตามความต้องการของนายการะหกทุกอย่าง ทั้งในระหว่างที่อยู่ดูแลการค้าในเมืองไทยนี้ ยังพระราชทานเบี้ยงเลี้ยงให้นายการะหกอีกเดือนละ ๒ ชั่ง นายการะหกกว้านซื้อน้ำตาลทรายได้ ๔,๐๐๐ หาบ หรือ ๒๔๐,๐๐๐ กิโลกรัม ก็ส่งสำเภาอิยันเตไปขายที่เกาะหมาก

ระหว่างที่นายการะหกอยู่ในเมืองไทยนี้ พระยาสุริยวงศ์มนตรีก็ได้ให้หลวงฤทธิสำแดงเป็นนายเรือมาลาพระนครนำสินค้าไปขายที่มาเก๊าอีก พร้อมทั้งมีสาสน์ตอบเจ้าเมืองมาเก๊าที่ให้นายการะหกถือเข้ามา และขอให้เจ้าเมืองมาเก๊าช่วยจัดหาซื้อปืนคาบศิลาให้หลวงฤทธิสำแดงนำเข้ามาด้วย เจ้าเมืองมาเก๊าก็ได้หาปืนคาบศิลาได้ ๔๐๐ กระบอก ในราคากระบอกละ ๘ เหรียญ และยังสั่งให้ไปหาที่เมืองบั้งกล่าอีก ซึ่งจะส่งให้มาภายหลัง พร้อมทั้งยกค่าภาษีปากเรือและจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้หลวงฤทธิสำแดงด้วย
ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๒ กล่าวว่า นายการะหกเข้ามาเมืองไทยเมื่อเดือน ๔ แรม ๑ ค่ำ ปีขาล พ.ศ.๒๓๖๑ จนถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ.๒๓๖๒ จึงกราบถวายบังคมลา พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเสื้อผ้าและยกค่าธรรมเนียมปากเรือให้นายการะหก พร้อมพระราชทานพริกไทยหนัก ๕๐ หาบ งาช้างหนัก ๒ หาบ ดีบุกหนัก ๑๕ หาบ แก่เจ้าเมืองมาเก๊าด้วย

ขากลับไปนี้ นายการะหกก็ไม่ให้เสียเที่ยวอีกเช่นเคย ขนสินค้าไทยเต็มลำกลับไปมาเก๊า
ต่อมาในเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ.๒๓๖๓ เมื่อนายการะหกกลับไปได้ครึ่งปี พระราชินีมาเรีย แห่งโปรตุเกส ก็ให้เจ้าเมืองกัว ที่เป็นอุปราชดูแลอาณานิคมของโปรตุเกสในย่านนี้ ส่งนายการะหกเป็นทูตเข้ามาอีก ขอทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงสยาม ๒๓ ข้อ แต่บอกมาด้วยว่า ข้อใดไม่ถูกใจก็ขอให้แก้ไขได้ตามเห็นสมควร ที่สำคัญคือจะขอแต่งตั้งนายการ์ลสเป็นกงสุลเยนเนอรัล และขอพระราชทานที่ตั้งบ้านเรือนให้อยู่ พร้อมขอปักเสาธงด้วย

ในเวลานั้นไทยกำลังต้องการอาวุธปืนมาก และโปรตุเกสก็เคยช่วยเหลือเรื่องนี้มาอย่างดี อีกทั้งนายการะหกก็เป็นคนน่ารักในหมู่ข้าราชสำนักจนถึงพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานบ้านที่เคยให้องเชียงสือพักก่อนจะออกไปเป็นจักรพรรดิญวน อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นที่อยู่ของนายการะหก ซึ่งก็คือสถานที่ตั้งสถานทูตโปรตุเกสในปัจจุบัน ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายกาลสที่โปรตุเกสส่งมาเป็นกงสุล เป็นข้าราชการไทยด้วย มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภัยพานิช พระราชทานเครื่องยศเหมือนขุนนางไทย แต่สัญญา ๒๓ ข้อนั้นยังไม่มีเวลาได้ตรวจ เพราะอยู่ในช่วงอหิวาต์กำลังระบาด อีก ๗ เดือนต่อมาจึงมีเวลาพิจารณา แล้วประทับตราส่งออกไป อนุญาตให้โปรตุเกสทำได้ตามที่ขอมา

อีกทั้งเจ้าพระยาพิพัฒน์โกษา เจ้าพระยาพระคลัง ผู้ดูแลการต่างประเทศ ได้มีหนังสือไปถึงอุปราชของพระเจ้ากรุงโปรตุเกสที่เมืองกัว มีข้อความตอนหนึ่งว่า

"การที่ท่านได้เลือก เซนเฮอร การ์ล์ซ มาโนเวล ดา ซิลเวยรา ให้มาเป็นทูตที่นี่นั้นดีมาก ผู้นั้นก็ได้แสดงตนให้เห็นแล้วว่าเป็นคนสมควรที่จะได้รับเลือกมา ด้วยมีกิริยามารยาทน่ารัก พระองค์จึงทรงนับถือผู้นั้นเสมือนเป็นคนหนึ่งในหมู่ข้าราชบริพารของพระองค์เอง"

การทูตในรูปแบบของนายการ์ลส มาโนเอล ดา ซิลวีรา "การะหก" กับไทยนี้ นับเป็นการทูตแบบน่ารัก ไม่มีพิธีรีตองมาก แต่เต็มไปด้วยอัธยาศัยไมตรีที่มีต่อกัน และค้าขายให้ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งในขณะที่ขออยู่ดูลู่ทางการค้าในในเมืองไทย ยังสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับคนรอบด้าน ได้ความรักใคร่สนิทสนมมากมาย จนได้กลับมาเป็นราชทูตโปรตุเกสคนแรกของประเทศไทย

ยิ่งกว่านั้น ส.พลายน้อย ยังเขียนไว้ใน "ชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย" ว่า หลวงอภัยพานิช หรือ นายการะหก มีบุตรชายคนหนึ่งในเมืองไทยด้วย เข้ารับราชการได้เป็น มหาอำมาตย์โท พระยาพิพัฒโกษา ส่วนเรื่องราวของหลวงอภัยพานิชนั้น ไม่พบเรื่องราวของท่านอีก


เครดิตแหล่งข้อมูล : เรื่องเก่าเล่าสนุก

“นายการะหก” ทูตฝรั่งผู้น่ารัก!

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์