บ้านเมืองครั้ง เพิ่งเริ่มสร้างถนน เจริญกรุง ถนนสายแรกของไทย
" ... เสมือนหนึ่งถนนเจริญกรุง ฤาจะเอาตามปากชาวเมืองว่า ถนนใหม่ชาวต่างชาติเขาเข้าชื่อกันขอให้ทำขึ้น เพื่อจะใช้ม้า ใช้รถ เพื่อให้สบาย ให้ถูกลมเย็น เส้นสายเหยียดยืดสบายดี
ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยามเห็นชอบด้วยจึงได้ยอมทำตามขึ้น ครั้นสร้างขึ้นแล้ว คนใช้ม้า ทั้งคนของเราแลทั้งชาวต่างชาติสักกี่คน ใช้เกวียนอยู่กี่เล่ม ใช้ก็ไม่เต็มถนน ใช้อยู่แต่ข้างหนึ่ง ก็ส่วนถนนอีกข้างหนึ่งก็ทิ้งตั้งเปล่าอยู่ ไม่ใคร่เห็นมีใครเดินม้า เดินรถ แลเดินเท้า.
ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยามทำถนนกว้าง เสียค่าจ้างถมดิน ถมทรายเสียเปล่าไม่ใช่ฤา ถ้าจะทำแต่แคบ ๆ พอคนเดินก็จะดี แต่ซึ่งทำใหญ่ไว้นี้ก็เผื่อไว้ว่า เมื่อนานไปภายน่าบ้านเมืองสมบูรณ์ มีผู้คนมากขึ้นรถแลม้าแลคนจะได้คล่องสดวก จึงทำให้ใหญ่ไว้ แต่เดี๋ยวนี้บ้านเมืองยังไม่เจริญทันใจ ครึ่งหนึ่งของถนนเพราะไม่มีคนเดินคนใช้ก็ยับไปเสียก่อน ... "
นี้คือพระราชปรารภในรัชกาลที่ ๔ เจ้ากรุงสยามผู้ปกครอง ซึ่งพระองค์มีบันทึกพระราชปรารภนี้ไว้ ดังมีใจความข้างต้น ..
ใจความนี้ย่อมทำให้เห็นพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างดียิ่งว่าทรงมองการณ์ไกล
กระทั่งการณ์พัฒนามาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นช่วงที่ถนนเจริญกรุงกลายเป็นถนนที่ทันสมัย สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง และยังเป็นย่านการค้าที่ทันสมัยสุดในยุคสมัยนั้น
จากการสร้างตึกสองฟากถนนในช่วงรัชสมัย พระพุทธเจ้าหลวง ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ (ช่วงแรกแต่เดิมนั้นผู้อยู่อาศัยยังเป็นแต่ผู้มีเงินมีทรัพย์เท่านั้น)
ลักษณะบ้านเรือนสมัยแต่แรกเป็นหลังคามุงด้วยจากสลับกับโรงบ่อนเบี้ยถึง ๗ โรงตลอดแนวถนนนิวโรด หรือ ถนนเจริญกรุง
อย่างไรก็ตามกลับมีเสียงร่ำลือว่าถนนใหม่นั้นก็มีมุมมืดอยู่บ้าง ดังที่มีเสียงฝรั่งติเตียนกันเรื่องข้อบกพร่องในการทำความสะอาดเข้ามา และจะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ถึงพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ซึ่งข้าหลวงสิงคโปร์จะเข้ามาในสยามแลต้องผ่านถนนเจริญกรุงนี้ พระองค์จึงทรงกำชับให้เร่งทำถนนให้สะอาด ซึ่งคงจะพอทำให้เห็นเรื่องการรักษาความสะอาดที่ยังไม่ค่อยจริงจังนัก.
พระราชหัตถเลขาล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ มีใจความบางช่วงตอนดังนี้ ..
ด้วยตามถนนเจริญกรุงตลอดมารกเปื้อนด้วยฝุ่นฝอยยอดอ้อยเปลือกมะพร้าวทุกหนทุกแห่งนั้น ..
.. ให้พระยายมราชรองเมืองคิดชำระเสียให้หมดให้ได้ในสองสามวันนี้
.. จะเกณฑ์ให้เจ้าของบ้านผู้ทำรกเปื้อน ช่วยขนตามหน้าบ้านของตัวบ้างก็ตาม ให้คนโทษขนบ้างก็ได้ สุดแต่อย่าให้รกเปื้อนอยู่ได้จนถึงวันที่ ๔ ตั้งแต่วันนี้ไปเป็นอันขาดทีเดียว "
(หมายเหตุ คนโทษ หมายถึงผู้ต้องโทษ).
_____________________________
ภาพที่ท่านเห็นนี้เป็นภาพแม่หญิงชาวสยามเดินอยู่ริมถนนเจริญกรุง ที่อยู่ในช่วงกำลังบูรณะ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เจ้ากรุงสยาม.
หล่อนแต่งกายทันยุคคาดอกด้วยผ้าแถบ นุ่งโจงกระเบนตามยุคสมัยนั้น.
ขอเรียนถามท่านที่ได้ชมภาพที่ทางเพจเผยแพร่นี้ว่า ..
" แม่หญิงท่านนี้ หล่อนกระเดียดตะกร้ากระจาดไว้ข้างเอว อยากรู้ว่าภายในกระจาด คืออะไรกัน และอีกมือหนึ่งนั้นหล่อนถืออะไรรึ " ?