เป็นไปได้ไง...“พระยา” ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ขุน”!


เป็นไปได้ไง...“พระยา” ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ขุน”!


เป็นไปได้ไง..."พระยา" ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "ขุน"! เพราะมุ่งมั่นจะรักษาผลประโยชน์ของชาติ!!

บรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยนั้น สมเด็จเจ้าพระยา เป็นตำแหน่งพิเศษซึ่งทรงแต่งตั้งขึ้นในบางรัชกาลเท่านั้น ส่วนบรรดาศักดิ์ประจำจะมี เจ้าพระยา เป็นตำแหน่งสูงสุด รองลงไปก็เป็น พระยา พระ หลวง และขุน

แต่ในประวัติศาสตร์มีพระยาท่านหนึ่งมีตำแหน่งสูงถึง สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี หากจะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นไปก็จะได้เป็น เจ้าพระยา แต่ท่านกลับได้รับตำแหน่งใหม่เป็น "ขุน"

เรื่องพิสดารนี้ไม่ใช่เกิดจากความผิดพลาดแต่อย่างใด แต่ในการจัดเก็บอากรค่าน้ำในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น ได้ให้มีนายอากรรับประมูลจากกระทรวงคลังมหาสมบัติ ไปเก็บจากราษฎรทั้งค่าน้ำจืดและน้ำเค็ม แต่การจัดเก็บวิธีนี้ทำให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่นนายอากรเก็บอากรแล้วส่งมาไปครบตามจำนวนที่ประมูล อ้างว่าเก็บไม่ได้ บ้างก็เอาไปขายช่วงให้ผู้อื่นเป็นช่วงๆไป และผู้ที่ซื้อช่วงนั้นก็ไปเรียกเก็บเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ราษฎรที่ไม่รู้อัตราจริงก็ยอมเสียให้ ส่วนกรมการเมืองและนายอำเภอก็ไม่ได้ประกาศให้ราษฎรรู้ว่าต้องเสียเท่าใด

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชโองการประกาศอัตราอากรค่าน้ำให้ราษฎรรู้โดยทั่วกันว่าต้องจ่ายเท่าไร เช่น

น้ำจืด เรือแหพานลำหนึ่งปีละ ๑๐ บาท เรือแหโปงลำหนึ่งปีละ ๖ บาท เรือแหทอดลำหนึ่งปีละบาท เรือช้อนใหญ่ลำหนึ่งปีละสองสลึง เรือช้อนเล็กลำหนึ่งปีละสลึง... แล้วเรียกเก็บไปจนถึงสุ่มจับปลา ตาข่าย ฉมวกแทงปลา แทงกบ จนเบ็ด อวน แห

ส่วนน้ำเค็มก็เก็บ เรือฉลอมลำหนึ่งปีละ ๑๐ บาท เบ็ดลากลำหนึ่ง ๑๐ สลึง โพงพางปากน้ำปีละตำลึง โพงพางที่ถัดเข้ามาปีละ ๓ บาท ทอดแหทะเลปีละบาท เบ็ดกุเลาปีละสลึง รั้วปูปีละสองสลึง เบ็ดวางตับๆหนึ่งปีละ ๒ สลึง ช้อนกุ้งช้อนปลาปีละเฟื้อง เป็นต้น

ถ้านายอากรเรียกเก็บเกินนี้ก็อย่าจ่าย ให้นำเรื่องไปร้องทุกข์ได้ และถ้ากรมการเมืองหรือผู้สำเร็จราชการเมืองไม่ว่ากล่าวจัดการ ก็ให้ร้องทุกข์ต่อเสนาบดี และถ้าเสนาบดีไม่จัดการอีก ก็ให้ทำฎีกาถวายวันเสด็จออกพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ รับเรื่องร้องทุกข์ของราษฎร อย่ากดนิ่งไว้ให้เนิ่นช้า จะลงโทษกรมการเมืองจนถึงผู้สำเร็จราชการเมืองด้วยที่ยอมให้นายอากรเก็บเงินเกิน

หลังจากนั้นได้มีการประชุมสมุหเทศาภิบาลมณฑลต่างๆทั่วราชอาณาจักร มหาอำมาตย์ตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข ชูโต) สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี ได้เสนอต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขอให้เปลี่ยนวิธีเก็บอากรค่าน้ำ จากให้มีนายอากรมาประมูลจัดเก็บ มาเป็นให้สมุหเทศาภิบาลเป็นผู้จัดเก็บ และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นพนักงาน วิธีนี้นอกจากจะเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ราษฎรยังไม่ตกเป็นเหยื่อของนายอากรด้วย

เมื่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนำความเห็นนี้เสนอไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนศิริธัชสังกาศ เสนาบดีไม่เห็นด้วย ทรงให้เหตุผลว่า

"ให้เทศาเก็บเงิน ถ้าไม่ส่งมาให้ ฉันเอาเข้าตะรางไม่ได้ ให้นายอากรเก็บอย่างเดิมจะเหมาะกว่า ถ้าไม่ส่งเงินที่เก็บได้ส่งมา ฉันเอาเข้าตะรางได้"

ข้อเสนอเปลี่ยนวิธีเก็บนี้จึงตกไป

เมื่อนายอากรเมืองปราจีนรู้เรื่อง เห็นว่าเป็นทีของตนแล้ว จึงเสนอขอลดอัตราผูกอากรค่าน้ำ อ้างว่าขาดทุน และขู่ว่าถ้าไม่ลดให้ก็จะไม่มีใครผูกขาด

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงขอปรึกษากับเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกครั้ง ขอทดลองให้สมุหเทศาภิบาลเก็บค่าน้ำแทนนายอากรเฉพาะมณฑลปราจีนก่อน ถ้าได้ผลจะได้ขยายไปถึงมณฑลอื่นๆด้วย

กรมขุนศิริธัชฯยังทรงติดพระทัยที่ว่า ถ้าสมุหเทศาภิบาลไม่ส่งเงินจะเอาเข้าตะรางไม่ได้ จึงทรงหาทางออกด้วยการแต่งตั้ง มหาอำมาตย์ตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี สังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกตำแหน่งหนึ่ง รับหน้าที่จัดเก็บอากรค่าน้ำ มีบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนมัจฉา"

ถ้าขุนมัจฉาเก็บเงินแล้วอมไม่ส่งเข้ากระทรวงพระคลังฯ กรมขุนศิริธัชฯก็จะเอาเข้าตะรางได้ ส่วนพระยาฤทธิรงค์รณเฉท ที่อยู่กระทรวงมหาดไทย จะไม่เข้าด้วยก็ตามใจ แต่เรื่องนี้ก็ลงเอยด้วยดี ทั้งพระยาฤทธิรงค์รณเฉทและขุนมัจฉาก็ก้าวหน้าในราชการตลอดมา

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการทูตกับญี่ปุ่นใหม่ หลังจากขาดหายไปตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในปี ๒๔๔๐ แล้ว ก็มีการแต่งตั้งราชทูตไทยคนแรกประจำกรุงโตเกียว มีชื่อ นายพลตรีพระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ศุข ชูโต) ส่วน "ขุนมัจฉา" งานนี้ก็คงไม่ได้ไปด้วย

นี่ก็เป็นเรื่องราวของข้าราชการไทยท่านหนึ่ง ซึ่งมุ่งมั่นที่จะหาวิธีรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ส่วนตัวเองนั้นจะให้เป็นอะไรก็ได้ ขอให้ได้ทำงานเพื่อชาติตามความเห็นก็พอใจ



เป็นไปได้ไง...“พระยา” ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ขุน”!


เป็นไปได้ไง...“พระยา” ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ขุน”!

เครดิตแหล่งข้อมูล : FB เรื่องเก่าเล่าสนุก

เป็นไปได้ไง...“พระยา” ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ขุน”!

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์