แอนนา เลียวโนเวนส์ ใครว่าหล่อนตอแหล?


แอนนา เลียวโนเวนส์ ใครว่าหล่อนตอแหล?


ไม่มีเรื่องอะไรน่าตื่นเต้นได้เท่ากับการค้นพบ "หลักฐานใหม่" ทางประวัติศาสตร์ ที่สามารถให้ความกระจ่างในเรื่องซึ่งเคยคลาดเคลื่อนมานานนับ ๑๐๐ ปี เช่นนี้อีกแล้ว

ปลายปี ๒๕๔๖ ศิลปวัฒนธรรมได้ค้นพบความน่าตื่นเต้นที่ว่าโดยบังเอิญเป็นสำเนาจดหมาย ๘ ฉบับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีไปถึง My Dear Madam! นางแอนนา เลียวโนเวนส์ สำเนาจดหมายทั้ง ๘ ฉบับนี้ไม่เคยตีพิมพ์ หรือถูกอ้างอิงที่ใดมาก่อน แต่เก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรนี่เอง

ที่มาของ "จดหมายแอนนา" ชุดนี้ แจ้งตามหนังสือของศาลาว่าการมหาดไทย ที่ ๓๓๔/๑๓๑๙๔ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๒) เป็นจดหมายของพระยาศรีสหเทพ มีขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่านายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ได้ไปพบมารดา ซึ่งเก็บพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้หลายฉบับ เดิมทีแอนนา "คิดว่าจะพิมพ์ให้แพร่หลาย แต่ก็ยังไม่ได้จัดการเรียบเรียงประการใด" นายหลุยส์จึงได้ทำสำเนาพระราชหัตถเลขานั้นมามอบให้พระยาศรีสหเทพก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

แม้จะมีการรวบรวมพระราชหัตถเลขาที่เป็น "จดหมาย" ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกันหลายครั้ง รวมจำนวนประมาณ ๑๔๔ ฉบับ แต่ในจำนวนนี้ก็ไม่เคยปรากฏ "จดหมาย" ที่ทรงมีไปถึงแอนนาแม้แต่ฉบับเดียว นอกจากนี้ "จดหมายแอนนา" ชุดนี้ต้องได้ผ่านพระเนตรของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว เมื่อยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตามในคำกราบบังคมทูลของพระยาศรีสหเทพว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าได้นำถวายพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว และข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายสำเนาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท"


แต่เมื่อหอสมุดวชิรญาณ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นสภานายกอยู่นั้น ได้รวบรวมพิมพ์พระราชหัตถเลขาครั้งแรกในปี ๒๔๖๒ ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๔๖๔ และครั้งที่ ๓ ในปี ๒๔๖๕ เป็นลำดับมา กลับไม่มีครั้งใดที่มี "จดหมายแอนนา" รวมอยู่ด้วย

สำเนาจดหมายชุดนี้จึงหายไปนับตั้งแต่มีการทูลเกล้าฯ ถวายถึง ๙๔ ปี จนกระทั่งศิลปวัฒนธรรมไปพบเข้าโดยบังเอิญ

แอนนา เลียวโนเวนส์ เดินทางเข้ามาสยามเพื่อถวายงานสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรส พระราชธิดา เจ้าจอม หม่อมห้าม ตามคำเชิญของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี ๒๔๐๕ และกลับออกไปจากสยามในปี ๒๔๑๐ รวมเวลาประมาณ ๕ ปีกว่า

ในเวลา ๕ ปีนี้เอง ที่เกิดปัญหาตามมาภายหลังขึ้นมามากมายว่าแอนนามีบทบาทอย่างไรในราชสำนักสยาม แอนนาผลักดันหรือชี้แนะอะไรบ้าง และทำจริงตามที่เขียนไว้ในหนังสือหรือไม่ เมื่อมีการสอบสวนเรื่องนี้โดยนักวิชาการ ก็ได้บทสรุปที่เชื่อกันว่าแอนนาแท้จริงแล้วไม่ได้มีบทบาทอะไรมากไปกว่าครูสอนภาษาอังกฤษ และลุกลามไปถึงการโจมตีหนังสือของแอนนาว่าโกหก หลอกลวง และดูหมิ่นเกียรติพระมหากษัตริย์สยาม

ข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นจากหนังสือ ๒ เล่นที่แอนนาเขียนขึ้น คือ The English Governess at the Siamese Court และ The Romance of the Harem เนื้อหาของหนังสือ ๒ เล่มนี้กล่าวพาดพิงโดยตรงถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและบทบาทของแอนนาในการ "ชี้นำ" นโยบายบางอย่าง ทำให้นักวิชาการไทยเดือดดาลต่อข้อเขียนนี้อย่างมาก รวมไปถึง "ฝรั่งคลั่งสยาม" อย่างมัลคอล์ม สมิธ (Malcolm Smith) และเอ.บี. กริสโวลด์ (A.B. Griswold) ที่ต่างก็ "สับ" แอนนาไม่มีชิ้นดี

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นเกี่ยวกับหนังสือ ๒ เล่มนี้ว่า

"แหม่มแอนนาอาจมีความจำเป็นต้องหาเงินมาเลี้ยงลูก จึงปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นให้มีรสชาติพอที่จะขายสำนักพิมพ์ได้ ตอนที่นางสอนหนังสืออยู่ในราชสำนักก็มิได้มีอิทธิพลมากมายถึงขนาดที่พระเจ้าอยู่หัวจะต้องไปใส่พระทัยรับฟัง เป็นไปได้ว่าสิ่งที่นางเขียนออกมานั้น ก็คือเรื่องที่ต้องการถวายความเห็นเป็นการย้อนหลังเพราะจริงๆ แล้วไม่เคยมีโอกาสได้พูดออกมาเลย" (จีระนันท์ พิตรปรีชา, ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์, ประพันธ์สาส์น, ๒๕๔๒)

ส่วนมัลคอล์ม สมิธ ก็กล่าวไว้ไม่ต่างกันมากนัก

"หนังสือที่เธอแต่งไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่สอง แสดงให้เห็นว่านางมีความสามารถในการแต่งเรื่องไม่จริงได้ สุดแล้วแต่ปากจะพาไป"
(มัลคอล์ม สมิธ, ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ, กรมศิลปากร, ๒๕๓๗)

เช่นเดียวกับกริสโวลด์ ที่ไม่ยอมรับหนังสือทั้งสองเล่มของแอนนาเหมือนกัน

"สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้นักประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงแค้นเคืองหนังสือของเธอ แม้ว่าหนังสือของนางเลียวโนเวนส์ จะมีสิ่งดีๆ อยู่เป็นอันมากแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะเหตุว่าเราไม่อาจยอมรับข้อความตอนใดได้ว่าเป็นความจริง ถ้าไม่มีหลักฐานยืนยันจากที่อื่น การวิจัยย่อมแสดงให้เห็นว่าวิธีแต่งหนังสือของเธอนั้นใช้ไม่ได้" (เอ.บี. กริสโวลด์, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุลทรงพิมพ์, ๒๕๐๘)

หากเรายอมรับข้อวิจารณ์เหล่านี้ ก็เท่ากับว่าเราควรจะประเมินหนังสือทั้ง ๒ เล่มของแอนนาว่าไม่ควรอยู่ในประเภท "หลักฐานทางประวัติศาสตร์" แต่ควรจะจัดไปอยู่ในประเภท "นิยาย" และเมื่อประเมินคุณค่าของหนังสือทั้ง ๒ เล่มนี้เป็นประเภทนิยายแล้ว นักวิชาการไทยก็ไม่ควร "หลง" ไปวิจารณ์หนังสือแอนนาในฐานะ "หลักฐานทางประวัติศาสตร์" อีก ยังไม่รวมนักวิชาการที่ "หลง" ไปวิจารณ์แอนนาจากหนังและละคร ซึ่งนักวิชาการกลุ่มนี้หาสาระที่จะกล่าวถึงในที่นี้ไม่ได้

แน่นอนว่าการวิพากษ์วิจารณ์ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ และแอนนาก็สมควรถูก "ด่า" ในบางเรื่อง ซึ่งการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในสายตาฝรั่งย่อมมีการผิดเพี้ยนไปเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งวันวลิต ลาลูแบร์ หรือปาเลกัว แต่น่าเสียดายที่นักวิชาการไทยไม่ยอมรับหนังสือของแอนนาทั้งหมด แม้กระทั่งไม่ยอม "สกัด" เอาส่วนที่น่าเชื่อถือมาใช้งาน

หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของหนังสือ The English Governess at the Siamese Court ซึ่งแอนนาเขียนเป็นบทความลงในนิตยสาร The Atlantic Montly ตั้งแต่ปี ๒๔๑๓ ก็จะพบว่าสิ่งที่แอนนารู้เห็นในราชสำนักสยามนั้นอยู่ในระดับ "หลักฐานทางประวัติศาสตร์" ได้ แต่บทความชุดนี้ไม่เคยมีนักวิชาการท่านใดเคยอ้างถึง จากนั้นบทความชุดนี้คงได้รับความนิยม จนแอนนาคิด "ปรุง" หนังสือเพราะ "จำเป็นต้องหาเงินเลี้ยงลูก" จึงกลายมาเป็นหนังสือ The Romance of the Harem นั้น แม้แอนนาจะมีเจตนาให้เป็น "นิยาย" แท้ๆ แต่ "หลักฐานใหม่" ที่พบนี้กลับชี้ร่องรอยบางประการของความเป็นจริงไว้อย่างไม่น่าเชื่อ

การค้นพบ "หลักฐานใหม่" นี้ทำให้เราต้องกลับมาทบทวน "ความเป็นแอนนา" กันใหม่ทั้งหมดโดยเฉพาะข้อวิจารณ์ที่ว่า "นางสอนหนังสืออยู่ในราชสำนักก็มิได้มีอิทธิพลมากมายถึงขนาดที่พระเจ้าอยู่หัวจะต้องไปใส่พระทัยรับฟัง เป็นไปได้ว่าสิ่งที่นางเขียนออกมานั้น ก็คือเรื่องที่ต้องการถวายความเห็นเป็นการย้อนหลังเพราะจริงๆ แล้วไม่เคยมีโอกาสได้พูดออกมาเลย" ความเห็นนี้ขัดแย้งกับ "จดหมายแอนนา" ชุดนี้อย่างสิ้นเชิง

เฉพาะจดหมายเลขที่ ๑๐๘ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาตอบเรื่องทาสนั้น ย่อมแสดงบทบาทของแอนนา "ในราชสำนักสยาม" ต่างไปจากการรับรู้เดิมโดยสิ้นเชิง จดหมายฉบับนี้ชี้ชัดว่าแอนนากับ "คิงมงกุฎ" มีการพูดคุยกันในระดับที่มากไปกว่านายจ้างกับครูภาษาอังกฤษ

"(ปัจฉิมลิขิตส่วนตัวแท้ๆ)...อย่างที่ฉันเคยบอกกล่าวกะเธอมาแล้วเมื่อก่อนนี้ที่เราได้พูดคุยกันเรื่องกิจการบ้านเมือง"

นอกจากนี้เรื่องการต่อสู้เพื่อให้อิสระกับทาสของแอนนา ตามที่ปรากฏใน The Romance of the Harem ก็มีเค้าความจริงในพระราชหัตถเลขาฉบับนี้เช่นกัน

"ส่วนตัวฉันเองนั้น, ถึงจะเป็นเจ้าแผ่นดินของชาวสยามก็จริง, ที่จะไปถอดถอนหญิงดังกล่าวทั้งสองจากข้อผูกมัดให้รับใช้สอยนายที่ถูกต้องตามบทกฎหมายแล้วก็ย่อมจะเป็นการล่วงล้ำกฎหมายแลธรรมเนียมของชาวสยามหนักหนาทีเดียว, หรือว่าจะช่วยเอื้อเฟื้อให้เธอไปซื้อหาหญิงทาสดังกล่าวมาแล้วค่อยปล่อยไป โดยไม่ได้ขอความยินยอมพร้อมใจจากคุณแพผู้เป็นนายเสียก่อน ก็เห็นเป็นการอุกอาจหนักหนาเท่ากัน"

นี่คือข้อเท็จจริงที่สูญหายไปเกือบร้อยปี จากนี้ไป "หลักฐานใหม่" ซึ่งเป็นจดหมายทั้ง ๘ ฉบับนี้คงจะเปิดโอกาสให้แอนนาได้อุทธรณ์ และแก้ข้อกล่าวหาบางส่วนได้บ้าง

"จดหมายแอนนา" ที่ศิลปวัฒนธรรมนำมาเปิดเผยนั้น อาจจะทำให้สังคมไทยได้รับมากไปกว่า "ความตื่นเต้น" แต่อาจถึงขั้น "พลิกประวัติศาสตร์" เลยก็เป็นได้ อยู่ที่ว่านักวิชาการไทยจะยอมรับข้อเท็จจริงแบบนี้ หรือยังคงชอบใช้หลักฐานประวัติศาสตร์ของฮอลลีวู้ดอยู่ก็ไม่ว่ากัน



แอนนา เลียวโนเวนส์ ใครว่าหล่อนตอแหล?

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
คุณ : มหากาพย์ ในตำนาน
สถานะ : บุคคลทั่วไป
IP : 58.10.221.201

58.10.221.201,,cm-58-10-221-201.revip7.asianet.co.th ความคิดเห็นที่ 1 [อ้างอิง]
ความเชื่อเรื่องคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนั้นถือเป็นนิทานหลอกเด็กที่ทรงอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างมาก ดังเห็นได้จากเมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ นายกฯ ก็ยังเชื่อว่า คนไทยมาจากที่นั่น กระทั่งปัจจุบันทหารบางหน่วยงานก็ยังเที่ยวตระเวนไปอบรมเผยแพร่ความเชื่อผิดๆ ให้กับครูและนักเรียนทั่วประเทศอย่างน่าเป็นห่วง


[ วันพุธ ที่ 28 ธันวาคม 2565 เวลา 18:23 น. ]
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์