ที่มาลัมโบร์กีนี ซูเปอร์คาร์ที่เกิดจากแรงแค้นของเจ้าพ่อแทรกเตอร์
ลัมโบร์กีนี (Lamborghini) คือซูเปอร์คาร์ที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดี ถ้าไม่เป็นเจ้าของเสียเอง ก็เป็นได้เห็น "กระทิงดุ" รูปร่างโฉบเฉี่ยวพุ่งทะยานอยู่บนท้องถนน
ที่มาของลัมโบร์กีนีนับว่าน่าสนใจ เพราะมากกว่า "ความฝัน" ในการสร้างสรรค์ ก็คือ "แรงแค้น" ที่ผลักให้ เฟอร์รุชโช ลัมโบร์กีนี (Ferruccio Lamborghini) สร้างซูเปอร์คาร์ที่ดีที่สุดในโลก และที่สำคัญคือต้องเอาชนะเฟอร์รารีให้ได้!
ลัมโบร์กีนีเป็นชาวอิตาเลียน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาไปสมัครเป็นทหารในกองทัพอากาศอิตาลี รับผิดชอบงานด้านขนส่ง แต่โชคร้ายถูกกองทัพอังกฤษจับตัวเป็นเชลยศึก ยังดีที่ลัมโบร์กีนีมีทักษะช่างซ่อมเครื่องยนต์ที่ฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก เลยได้ทำงานในฝ่ายเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นประโยชน์กับเขามาก เพราะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ซ่อมรถยนต์ด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีอย่างจำกัด
เมื่อสงครามสิ้นสุด ลัมโบร์กีนีเดินทางกลับบ้านเกิด และนำอะไหล่เก่าที่หลงเหลือจากสงครามมาดัดแปลงเป็นรถแทรกเตอร์จำหน่ายให้เกษตรกร เขาค่อย ๆ สร้างตัวจากกิจการดังกล่าว จนวันหนึ่งก็พอมีทุนรอนเปิดโรงงานผลิตแทรกเตอร์ที่ใช้ชิ้นส่วนใหม่หมดได้ และขึ้นแท่นเป็นเจ้าพ่อรถแทรกเตอร์ไปในที่สุด
ส่วนชีวิตนอกสังเวียนธุรกิจ เป็นที่รู้กันว่าลัมโบร์กีนีเป็นแฟนพันธุ์แท้รถหรู มีทั้งเมอร์เซเดส-เบนซ์, จากัวร์, มาเซราติ ขาดไม่ได้คือ เฟอร์รารี แบรนด์ซูเปอร์คาร์ที่เขารักมากแทบจะที่สุด แต่ต่อมาก็ทำเอาเขากระอักสุด ๆ เหมือนกัน เพราะคลัตช์ของรถสุดที่รักไหม้อยู่หลายครั้ง หมดเงินซ่อมไปก็หลายหน
ลัมโบร์กีนีเกิดสงสัยเรื่องเครื่องยนต์ขึ้นมา เมื่อคลัตช์ของรถเฟอร์รารีไหม้อีกรอบ เขาเลยเปลี่ยนอะไหล่ที่โรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ของตัวเอง แล้วก็พบว่า คลัตช์ในเฟอร์รารีแทบไม่ต่างอะไรจากคลัตช์ในรถแทรกเตอร์เลยสักนิด แต่ราคากลับแตกต่างกันเป็นร้อยเท่า
เมื่อเจอ เอ็นโซ เฟอร์รารี (Enzo Ferrari) เจ้าของค่ายเฟอร์รารี ลัมโบร์กีนีจึงถามไปว่า ทำไมรถเฟอร์รารีถึงใช้ชิ้นส่วนเหมือนรถแทรกเตอร์ล่ะ คำถามนี้คงไม่เข้าหูเฟอร์รารีเท่าไหร่ เจ้าตัวเลยตอบกลับไปว่า "นายน่ะมันแค่คนขับรถแทรกเตอร์ เป็นพวกชาวไร่ธรรมดา ๆ เท่านั้นแหละ อย่าริมาบ่นเรื่องขับรถเฟอร์รารีเลยดีกว่า เพราะมันเป็นรถที่ดีที่สุดในโลก"
คำตอบที่ได้ยินน่าจะทำให้ลัมโบร์กีนีโมโหเอาการ กลายเป็นแรงผลักให้เขามุ่งมั่นสร้างซูเปอร์คาร์ที่ดีที่สุดในโลก เฟอร์รารีเจ๋งแค่ไหน รถของเขาต้องเจ๋งกว่า!
น้อยคนนักจะเชื่อว่าลัมโบร์กีนีทำสำเร็จ แต่ "Automobili Ferruccio Lamborghini" ก็ถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1963 จากนั้นปี 1964 ก็ส่ง Lamborghini 350 GT ออกมาท้าชิงซูเปอร์คาร์แบรนด์อื่น พอปี 1966 ก็ผลิต Lamborghini 400 GT ตามด้วย Lamborghini Islero ในปี 1968 Lamborghini Jarama ในปี 1970 เป็นต้น
ด้วยการออกแบบและเทคโนโลยียานยนต์ที่ไม่เป็นรองใคร ทำให้เพียงไม่กี่ปี ลัมโบร์กีนีก็ผงาดขึ้นเป็นคู่แข่งของเฟอร์รารีอย่างเต็มตัว
"เมื่อก่อนผมซื้อรถกรันตูริสโมไว้หลายคัน แต่ในเครื่องยนต์อันแสนวิเศษเหล่านั้น ผมกลับพบข้อผิดพลาดบางอย่าง ร้อนไปบ้าง หรือวิ่งได้ไม่เร็วพอบ้าง ไม่ก็สร้างเสร็จแบบไม่สมบูรณ์ ตอนนี้ผมจึงต้องการสร้างรถ G.T. ที่ปราศจากข้อผิดพลาดใด ๆ เป็นรถที่เรียบง่าย ธรรมดา ๆ แต่ต้องเป็นรถที่สมบูรณ์แบบ" ลัมโบร์กีนีบอกไว้ในปี 1963 ถึงรถ G.T. (รถที่สามารถทำความเร็วได้สูง เหมาะกับการวิ่งทางไกล) ในฝันของเขา
ราวสิบปีผ่านไปนับแต่ก่อตั้ง ลัมโบร์กีนีขายหุ้นของเขาใน Automobili Ferruccio Lamborghini ให้เพื่อน เพราะธุรกิจแทรกเตอร์อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจซูเปอร์คาร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จวบจนปี 1987 บริษัทก็ไปอยู่ภายใต้ "ไครสเลอร์" (Chrysler) และมีการเปลี่ยนมือเจ้าของอีกหลายครั้ง กระทั่งทุกวันนี้ ลัมโบร์กีนีอยู่ภายใต้ "ฟ็อลคส์วาเกิน" (Volkswagen) หนึ่งในค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลก
น้อยคนนักจะเชื่อว่าลัมโบร์กีนีทำสำเร็จ แต่ "Automobili Ferruccio Lamborghini" ก็ถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1963 จากนั้นปี 1964 ก็ส่ง Lamborghini 350 GT ออกมาท้าชิงซูเปอร์คาร์แบรนด์อื่น พอปี 1966 ก็ผลิต Lamborghini 400 GT ตามด้วย Lamborghini Islero ในปี 1968 Lamborghini Jarama ในปี 1970 เป็นต้น
ด้วยการออกแบบและเทคโนโลยียานยนต์ที่ไม่เป็นรองใคร ทำให้เพียงไม่กี่ปี ลัมโบร์กีนีก็ผงาดขึ้นเป็นคู่แข่งของเฟอร์รารีอย่างเต็มตัว
"เมื่อก่อนผมซื้อรถกรันตูริสโมไว้หลายคัน แต่ในเครื่องยนต์อันแสนวิเศษเหล่านั้น ผมกลับพบข้อผิดพลาดบางอย่าง ร้อนไปบ้าง หรือวิ่งได้ไม่เร็วพอบ้าง ไม่ก็สร้างเสร็จแบบไม่สมบูรณ์ ตอนนี้ผมจึงต้องการสร้างรถ G.T. ที่ปราศจากข้อผิดพลาดใด ๆ เป็นรถที่เรียบง่าย ธรรมดา ๆ แต่ต้องเป็นรถที่สมบูรณ์แบบ" ลัมโบร์กีนีบอกไว้ในปี 1963 ถึงรถ G.T. (รถที่สามารถทำความเร็วได้สูง เหมาะกับการวิ่งทางไกล) ในฝันของเขา
ราวสิบปีผ่านไปนับแต่ก่อตั้ง ลัมโบร์กีนีขายหุ้นของเขาใน Automobili Ferruccio Lamborghini ให้เพื่อน เพราะธุรกิจแทรกเตอร์อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจซูเปอร์คาร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จวบจนปี 1987 บริษัทก็ไปอยู่ภายใต้ "ไครสเลอร์" (Chrysler) และมีการเปลี่ยนมือเจ้าของอีกหลายครั้ง กระทั่งทุกวันนี้ ลัมโบร์กีนีอยู่ภายใต้ "ฟ็อลคส์วาเกิน" (Volkswagen) หนึ่งในค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลก
เมื่อรถยนต์ไม่ได้เป็นเพียงยานพาหนะ แต่ยังสะท้อนไลฟ์สไตล์ รสนิยม และสถานะทางสังคมของผู้ครอบครอง ซูเปอร์คาร์อย่างลัมโบร์กีนีจึงได้รับความนิยมต่อเนื่อง อย่างปี 2019 มีการส่งมอบลัมโบร์กีนีให้ลูกค้าทั่วโลกจำนวน 8,205 คัน ปี 2020 ซึ่งโลกเผชิญวิกฤตโควิด-19 โรงงานผลิตลัมโบร์กีนีต้องหยุดการผลิตถึง 70 วัน และยังต้องเจอช่วงล็อคดาวน์ แต่ก็สามารถส่งมอบรถได้ถึง 7,430 คัน ปี 2021 ส่งมอบไป 8,405 คัน ส่วนปี 2022 สร้างสถิติใหม่ด้วยการส่งมอบไป 9,233 คัน และเมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์หันทิศทางเข้าสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ลัมโบร์กีนีก็วางแผนผลิต EV ด้วยเช่นกัน คาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในปี 2028
ลัมโบร์กีนีเสียชีวิตในปี 1993 เมื่ออายุ 76 ปี แม้จะจากไปหลายสิบปีแล้ว แต่เรื่องราวความมุ่งมั่นในการสร้างซูเปอร์คาร์ที่ดีที่สุดในโลก ยังคงได้รับการเล่าขานมาถึงปัจจุบัน ล่าสุดคือภาพยนตร์เรื่อง Lamborghini: The Man Behind the Legend (2022) ที่ปลุกชีวิตของชายชื่อ "เฟอร์รุชโช ลัมโบร์กีนี" ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น