ย้อนดูวิถีชีวิตชาวนาภาคอีสาน...ยุคสงครามเย็น
"ขายข้าวเขียว" ผู้ที่ไม่คุ้นกับการปลูกข้าวทำนาอาจแปลกใจว่าคืออะไร เพราะปกติแล้วการขายข้าวมักจะขายในช่วงที่รวงข้าวเป็นสีเหลืองทอง แต่สำหรับชาวอีสานบางส่วนแล้ว บางช่วงพวกเขาต้อง ขายข้าวสีดังกล่าว เพื่อหาเงินมาประทังชีวิตให้รอด
"ขายข้าวเขียว" เป็นคำเปรียบเปรยถึงการกู้เงินอย่างหนึ่งซึ่งแพร่หลายอย่างมากในภาคอีสาน โดยชาวนาจะนำ "นาข้าว" ของตนเองที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ไปขายให้พ่อค้าเพื่อนำเงินมาใช้ก่อน และเมื่อถึงเวลาก็ต้องจ่ายคืนเป็นข้าวหรือเงินสด
เหตุผลที่ชาวนาจำนวนมาก "ขายข้าวเขียว" อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "ความไม่แน่นอน" ของวิถีชีวิตชาวนา เพราะการทำนาต้องใช้เวลา 3-4 เดือน ระหว่างนั้นก็จำเป็นต้องมีเงินมาใช้จ่าย พวกเขาจึงเลือกจะนำผืนนาไปเป็นหลักประกันในการกู้เงิน
จากงาน หมู่บ้านอีสานยุค "สงครามเย็น" : สังคมวิทยาของหมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สุเทพ สุทรเภสัช ได้วิเคราะห์เหตุผลที่ทำให้ชาวนาต้องขายข้าวดังกล่าวไว้ 4 ข้อใหญ่ ๆ คือ
มีที่นาน้อย แต่ครอบครัวขนาดใหญ่ไม่สามารถผลิตข้าวได้พอเลี้ยงสมาชิกครอบครัวได้ตลอดปี
2. เกิดความจำเป็นโดยรีบด่วนที่จะต้องใช้เงิน เป็นต้นว่า เจ็บป่วย หรือจำเป็นต้องสร้างหรือซ่อมบ้านเรือนในฤดูแล้ง แต่ไม่มีเงินพอ
3. อยากได้สัตว์ไว้ใช้งาน เพราะในฤดูแล้งวัวควายราคาถูก ต้องการซื้อไว้ใช้ในหน้านา แต่เงินไม่พอจึงต้องยืมนายทุนก่อน โดยขายข้าวเขียว
4. จำเป็นต้องกู้เงินใช้เพราะเสียการพนัน ข้อนี้มีจำนวนน้อยกว่าความจำเป็น 3 ข้อแรก
วิธีการซื้อ-ขายข้าวดังกล่าว จะเป็นพ่อค้าที่เข้าไปหาชาวนาเพื่อตกลงซื้อขายกันก่อนบริเวณลานนวดข้าว เนื่องจากต้องนำเกวียนของตนเองไปแบกขนของกลับมาขายให้โรงสีต่อ ซึ่งการซื้อขายดังกล่าวจะไม่มีราคามาตรฐาน เนื่องจากการขายข้าวเขียวถือได้ว่าเป็นการกู้เงินอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อขายจะตกลงกันว่าอย่างไร หากสนิทชิดเชื้อกันก็จะได้ราคาสูง
การขายข้าวเขียวนั้น หากขายในช่วงต้นปีจะได้ราคาต่ำกว่าปลายปี ซึ่งเป็นไปตามหลักการกู้ เพราะถ้าชาวนาขายข้าวเขียวตั้งแต่ต้นปี ก็จะมีระยะเวลาในการคืนมากกว่าคนที่ขายข้าวเขียวช่วงปลายปี ซึ่งใกล้จะเก็บเกี่ยวแล้ว ทำให้พ่อค้าต้องซื้อข้าวช่วงต้นปีในราคาที่ถูกกว่า เพื่อได้กำไรที่มากกว่า
ด้านการคืน ชาวนาสามารถคืนเงินที่กู้มาจากพ่อค้าได้ทั้งในรูปแบบข้าวหรือเงิน โดยคิดจากราคาข้าวเปลือกขณะทำการซื้อขายเป็นหลัก อย่างที่ สุเทพ อธิบายไว้ว่า
"การส่งคืนข้าวเขียวนั้น ไม่จำเป็นจะต้องส่งคืนเป็นข้าว มีจำนวนมากเหมือนกัน (ครึ่งต่อครึ่ง) ที่ส่งเป็นเงินสด แต่การส่งคืนเป็นข้าวหรือเงินสดก็ตาม ก็ต้องคิดจากราคาข้าวเปลือกในขณะที่ขายข้าวเขียวนั้น เช่น ขายข้าวเขียวเป็นเงิน 100 บาท ในราคาแสน [แสนเป็นหน่วยนับ 1 แสนเท่ากับ 120 กิโลกรัม] ละ 50 บาท ในขณะที่ราคาขายข้าวเปลือกในเวลานั้นแสนละ 80 บาท เวลาส่งเงินคืนก็ต้องคืน 160 บาท เป็นต้น"
การขายข้าวเขียว จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นของชาวนา โดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศไม่ส่งผลให้ผลผลิตเติบโตได้เท่าที่ควร อย่างใน พ.ศ. 2507 ข้าวเขียวเพียงหมู่บ้านเดียวถูกขายแก่พ่อค้าคนกลางไปถึง 100,000 กิโลกรัมเลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นว่ามีชาวนาภาคอีสานจำนวนไม่น้อยที่ต้องขายข้าวดังกล่าวเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม "ขายข้าวเขียว" ถึงถูกเรียกแทนคำว่า "ขายข้าวเหลือง" เพราะชาวนาไม่มีโอกาสรอเวลาให้ถึงวันที่รวงข้าวของพวกเขาเป็น "สีเหลืองทอง"
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น