ตะแลงแกง คำนี้มาจากไหน? ไฉนจึงเป็นแดนประหาร?


ตะแลงแกง คำนี้มาจากไหน? ไฉนจึงเป็นแดนประหาร?


เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ตะแลงแกง คนไทยทั่วไปมักนึกถึง "แดนประหาร" แท้จริงคำว่าตะแลงแกงในความหมายเดิมไม่ได้หมายถึง "แดนประหาร" แต่ประการใด ถ้าอย่างนั้นคำว่า "ตะแลงแกง" ในภาษาไทยมีที่มาจากภาษาใด มีความหมายดั้งเดิมในภาษานั้นอย่างไร?

"ตะแลงแกง" เป็นคำเขมรที่ไทยยืมมาใช้ มาจากคำ "ตฺรแฬงแกง" ออกเสียง "ตรอแลงแกง" พจนานุกรมภาษาเขมร ฉบับของพุทธศาสนบัณฑิตย์ กรุงพนมเปญ ให้ความหมายว่า "ที่มี 4 หน้า หรือที่แยกเป็น 4 (ชื่อปราสาท, วิหาร, หนทาง)" เช่น "ปฺราสาทตฺรแฬงแกง" แปลว่า "ปราสาทจตุรมุขที่มีมุขสี่ด้าน" หรือในคำว่า "ผฺลูวตฺรแฬงแกง"

"วัดตฺรแฬงแกง" เป็นวัดโบราณตั้งอยู่กลางเมือง "ละแวก" เดิมวัดนี้น่าจะเป็นศาสนสถานของเขมรตั้งแต่สมัยเมืองพระนคร ก่อนเขมรจะย้ายมาตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ละแวก เมื่อเจ้าพญาจันทราชา (พระองค์จันท์) ย้ายเมืองหลวงเขมรมาตั้งอยู่ที่เมืองละแวก ก็โปรดให้สร้างวัดขึ้นบริเวณนี้ ด้วยเหตุที่สร้างเป็นวิหารมีมุขสี่ด้าน จึงให้ชื่อว่า "พระวิหารจัตุรมุขมหาปราสาท" ตรงกับชื่อที่เรียกกันทั่วไปแพร่หลายว่า "วัดตฺรแฬงแกง" เนื่องจากมีวิหารสร้างเป็นมุขมีสี่ด้าน ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาบันทึกไว้ว่า ในวิหารจตุรมุขเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสสูง 18 ศอก ถึง 4 องค์ หันพระพักตร์ไปตามทิศต่าง ๆ พระบาทสร้างจากศิลา



ตะแลงแกง คำนี้มาจากไหน? ไฉนจึงเป็นแดนประหาร?

วัดตฺรแฬงแกง กลางเมืองละแวก เป็นวัดโบราณที่มีวิหารประดิษฐานพระอัฏฐารสทั้ง ๔ ทิศ ชื่อของวัดจึงเป็นที่เรียกกันแพร่หลายด้วยเหตุนี้

ต่อมาเมื่อกรุงละแวกแตก วิหารหลังนี้ถูกทำลาย และน่าจะบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพนมเปญ พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่ิองปางห้ามสมุทรแทนพระอัฏฐารสยังคงหลงเหลืออยู่จนปัจจุบัน รวมทั้งชื่อ "วัดตฺรแฬงแกง" ด้วย จะเห็นได้ว่าความหมายของ "ตะแลงแกง" ในภาษาเขมรเป็นความหมายถึง "สิ่งที่เป็นแยกเป็นสี่ หรือที่มี 4 หน้า" ทั่วไปไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็น "แดนประหาร" เท่านั้น แสดงว่าการเลื่อนความหมายของคำว่า "ตฺรแฬงแกง" จากสิ่งที่ "แยกเป็นสี่หรือสี่หน้า" มาเป็น "แดนประหาร" ก็น่าจะเกิดในภาษาไทยนี่เอง

เมื่อไทยรับคำว่า "ตฺรแฬงแกง" (ตรอแลงแกง) มาใช้ได้มีการเปลี่ยนรูปคำและการออกเสียงไปบ้าง เป็น "ตะแลงแกง" ความหมายในตอนแรกนำมาใช้น่าจะยังตรงกับความหมายในภาษาเขมร คือแปลว่า "ที่มีทางแยกไปสี่ทาง, ทางสี่แพร่ง" หรืออีกนัยหนึ่งคือ "สี่แยก"

ตะแลงแกง คำนี้มาจากไหน? ไฉนจึงเป็นแดนประหาร?

ถนนตรงหน้าคุ้มขุนแผน ก็มีลักษณะทางเป็น ๔ แพร่ง สมัยอยุธยาเรียกกันว่า ถนนตะแลงแกง

หลักฐานของการใช้คำว่า "ตะแลงแกง" ในความหมายว่าสี่แพร่งนั้นพบได้ในกฎหมายตราสามดวง เช่น กฏหมายพระไอยการลักษณะผัวเมีย (พ.ศ. 1904) กล่าวว่าหากหญิงใดมีชู้ "...หญิงนั้นให้โกนศีศะเปนตะแลงแกง เอาขึ้นขาหย่างประจาน..."

เหตุต่อมาที่ความหมายของ "ตะแลงแกง" เลื่อนไปเป็น "สถานที่ประหาร" นั้น น่าจะเนื่องมาจากในสมัยโบราณสถาน ที่สำหรับประหารนักโทษประจานคือ "สี่แยก" หรือ "ตระแลงแกง" เช่น ความในกฎหมายพระไอยการลักขณโจรว่า "...ถ้าลักเส้นผักฟักถั้วเปดไก่...พิจารณาเปนสัจท่านว่าคือโจร ให้มัดประจานไปตะแลงแกงตีด้วยไม้หวาย 50 ที..."

ดังนั้นต่อมาเมื่อใช้คำว่า "ตะแลงแกง" ก็เป็นที่ปักศรีษะเสียบประจาน เช่น กฎหมายพระไอยการลักขณโจร กล่าวถึงการลงโทษโจรปล้นบ้านว่า "...แล้วให้ฆ่าโจรแลพวกโจรซึ่งลงมือ ตัดศีศะเสียบไว้นะตะแลงแกง..." หลักฐานที่ยืนยันว่าคำนี้เลื่อนความหมายมานานแล้วคือ พจนานุกรมของหมอบรัดเลย์ หรือหนังสือ "อักขราภิธานศรับท์" ได้ให้ความหมายคำว่า "ตะแลงแกง" ไว้ว่า "เป็นชื่อสำรับเปนที่ฆ่าคน" และใช้ในความหมายนี้เพียงความหมายเดียว (ไม่อธิบายว่าหมายถึงทางสี่แพร่ง)

แสดงว่าเมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คำว่า "ตะแลงแกง" ได้เลื่อนความหมายแล้ว จึงใช้ในความหมายนี้ต่อมาจนปัจจุบัน โดยลืมนึกไปว่าเดิม "ตะแลงแกง" หมายถึง "ทางสี่แพร่ง, สี่แยก" ธรรมดา ๆ นี่เอง

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์