“สุรา” เครื่องดื่มที่เคยถูกแบน สู่สินค้า “กู้ชาติ” สหรัฐ
ในสหรัฐอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 Temperance Movement ซึ่งเป็นกลุ่มโปรเตสแตนท์เคร่งศาสนาได้ประณามสุราว่าเป็นอบายมุข เป็นหนทางไปสู่บาป และเป็นตัวการของปัญหาต่าง ๆ เช่น ความยากจน ความรุนแรงในครอบครัว
Temperance Movement ขยายตัวและมีบทบาทในกลุ่มผู้เคร่งศาสนา มีพลังจนสามารถกดดันให้รัฐและท้องถิ่นออกกฎหมายห้ามการผลิต จำหน่าย หรือการครอบครองสุรา ทำให้เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 20 กลุ่มผู้ต่อต้านสุราก็มีอยู่ในเกือบทุกชุมชน โดยเฉพาะชุมชนชนบท
กลับกัน ร้านเหล้าในลักษณะ "ซาลูน" (Saloon) ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในสังคมเมืองพร้อมกับการเติบโตทางอุตสาหกรรม มีลูกค้าเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งนิยมดื่มสร้างสรรค์เพื่อผ่อนคลายหลังจากการทำงานหนัก
นักการเมืองหลายคนเห็นช่องทางดึงคะแนนเสียง จึงเข้าไปเสนอแนวทางช่วยเหลือ ทั้งการงานกฎหมาย และอาหาร แลกกับคะแนนเสียงของผู้คนในซาลูน ทำให้สายตาของฝ่ายต่อต้านสุรามองว่า ซาลูนเป็นแหล่งเสื่อมทรามทางศีลธรรม
สังคมสหรัฐฯ จึงเกิดความขัดแย้งระหว่าง "ดรายส์" (Drys) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต่อต้านสุรา กับ "เว็ทส์" (wets) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนสุราอย่างดุเดือด
ดันกฎหมายแบน "สุรา" สร้างสังคมแห่งศีลธรรมกระแสระหว่างกลุ่มดรายส์กับกลุ่มเว็ทส์ดำเนินต่อไป จนกระทั่งกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสังคมและปฏิรูปการเมืองซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายก้าวหน้าด้านต่าง ๆ ไปเห็นพ้องด้วยกับกลุ่มดรายส์ เพราะเห็นว่าสุราเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งทำให้บ้านเมืองสหรัฐฯ ไม่ก้าวหน้า
การผลักดันกฎหมายการแบนสุราในระดับประเทศจึงเกิดขึ้นโดยสหพันธ์ Anti-Saloon League ของกลุ่มนักเคลื่อนไหว เพื่อสนับสนุนให้ชีวิตของอเมริกันชนดีขึ้นจากการลด ละ เลิกสุรา
เวน วีเลอร์ (Wanye Wheeler) ผู้นำ Anti-Saloon League รณรงค์ต่อต้านสุราอย่างหนัก โดยใช้ภาพศีลธรรมอันดีงามมาจูงใจชาวอเมริกันที่แม้จะเป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองต่อกัน แต่หากเพื่อสร้างสังคมที่เปี่ยมด้วยความดีงามแล้ว ทุกฝ่ายก็พร้อมจับมือกัน
เมื่อย้ำมากเข้า มวลชนจำนวนมากก็เริ่มเห็นด้วยกับวีเลอร์ กลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่ทำให้นักการเมืองต้องหันมาเห็นด้วยกับการแบนสุรา วีเลอร์จึงกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพล สามารถชี้นำสังคมอเมริกันได้
วีเลอร์ผลักดันร่างกฎหมายการแบนสุรา (National Prohibition Act) ยื่นสู่รัฐสภา และเข้าสู่การประชุมแก้รัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มมาตรา 18 ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เมื่อธันวาคม ปี 1917 มีเนื้อหาให้การผลิต การจำหน่าย การขนส่ง การนำเข้า และการส่งออกสุราในสหรัฐฯ ผิดกฎหมาย
กฎหมายการแบนสุราของวีเลอร์ผ่านการลงมติจากรัฐสภาอย่างง่ายดาย และรัฐต่าง ๆ ได้รับรองให้สัตยาบันผ่านกฎหมายข้อนี้ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม ปี 1920
แบนสุรา ทำสังคมป่วนหนัก
หลังกฎหมายการแบนสุรามีผลบังคับใช้ พบว่าการจับกุมข้อหามึนเมาลดลง และมีรายงานว่าอัตราการดื่มสุราลดลงถึง 30% แม้ดูเหมือนจะเริ่มสร้างสังคมที่ "ดีงาม" ตามความหมายของกลุ่มต่อต้านสุราได้ แต่การห้ามผลิตและจำหน่ายสุรา กลับทำให้อุตสาหกรรมซบเซา โรงงานต้องปิดตัว ส่วนแรงงานจำนวนมากต้องตกงาน
ตามกฎหมาย ผู้คนทำได้เพียงดื่มและครอบครองสุราตามครัวเรือน ไม่สามารถดื่มสังสรรค์กันได้ในที่สาธารณะ หลายครัวเรือนจึงกักตุนสุรา บ้างก็ซื้อน้ำองุ่นเพื่อบ่มไวน์ บ้างก็ต้มเหล้าเถื่อนที่หลายครั้งพบกรณีมีสารเคมีอันตรายปนเปื้อน จนทำให้มีคนตายจากการดื่มเหล้าเถื่อน
บางคนอยากดื่มแบบไม่ผิดกฎหมาย ก็เข้าร่วมพิธีกรรมของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และศาสนายิว ซึ่งยังคงสามารถดื่มสุราตามพิธีกรรม หรือขอให้แพทย์ออกใบสั่งยาเพื่อดื่มสุราได้
บางคนลงทุนเดินทางไปดื่มในประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาและเม็กซิโก รวมถึงประเทศในทะเลแคริบเบียน แล้วค่อยเดินทางกลับสหรัฐฯ
หรือไม่ก็เข้าร้านเหล้าที่ปรับตัวเปลี่ยนเป็น "speakeasy" ออกแนวร้านลับที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เอาใจคอสุรา หรือเข้าไนต์คลับที่แอบเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างลับ ๆ ช่วงนั้นมีการประมาณตัวเลขว่ามีร้านเหล้าผิดกฎหมายกว่า 100,000 แห่ง โดยสุราเหล่านี้มาจากการกักตุน การลักลอบผลิต และนำเข้าโดยแก๊งมาเฟีย
แก๊งมาเฟียครองเมือง
ฝ่ายต่อต้านสุราไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า การแบนสุราซึ่งควรจะช่วยให้สังคมอเมริกันดีขึ้น จะทำให้เหตุอาชญากรรมและคอร์รัปชันพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด
แก๊งมาเฟียคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าได้ว่า ผู้คนต้องไขว่คว้าหาเหล้าเถื่อนจากตลาดมืด จึงกักตุน ลักลอบนำเข้าสุราข้ามแดนจากแคนาดาหรือเม็กซิโก มาค้าขายในตลาดมืด
กลุ่มอาชญากรรมอื่น ๆ ใช้ความปั่นป่วนช่วงนี้เป็นโอกาสสร้างและขยายอิทธิพลของตัวเอง โดยการเข้าซื้อบาร์และสถานบันเทิงหลายแห่ง ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐให้เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ การทุจริตแพร่กระจายยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง
ขณะเดียวกัน อัตราการก่ออาชญากรรมก็สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เหตุจากการปะทะกันของแก๊งต่าง ๆ ที่ต้องการชิงความเป็นใหญ่ หนึ่งในกลุ่มที่โด่งดังที่สุดนำโดย อัล คาโปน (Al Capone) เจ้าพ่อแห่งชิคาโก ที่ร่ำรวยขึ้นจากการลักลอบขนและจำหน่ายสุราในประเทศ ซึ่งสามารถควบคุมตำรวจทั้งชิคาโกเอาไว้ในกำมือ ถึงขั้นที่ว่าเมื่อเกิดเหตุสังหารแก๊งคู่อริหมู่ในวันวาเลนไทน์ ปี 1929 ตำรวจหลายคนเลือกเมินเฉยกับเหตุการณ์ หรือไม่ก็เข้าร่วมกับการสังหารแก๊งคู่อริ
กฎหมายการแบนสุราที่ตั้งใจยกระดับคุณภาพชีวิตชาวอเมริกัน กลับทำให้จำนวนอาชญากรรมและคอร์รัปชันพุ่งพรวดเป็นประวัติการณ์ เห็นได้จากผลสำรวจที่ระบุว่า อัตราการลักขโมยและฆาตกรรมสูงขึ้นราว 9-12% ส่วนคดียาเสพติดก็เพิ่มขึ้นถึง 44%
สังคมอเมริกันทศวรรษ 1920-1930 จึงเต็มไปด้วยความโกลาหล บ้านเมืองไร้ขื่อแป ศีลธรรมย่อยยับ แก๊งมาเฟียครองเมือง การทุจริตติดสินบนกลายเป็นเรื่องปกติ ขัดแย้งกับภาพฝันที่กลุ่มต่อต้านการดื่มสุราวาดฝันไว้อย่างสิ้นเชิง!
"สุรา" กู้ชาติ
เมื่อการแบนสุราให้ผลตรงกันข้ามกับที่คิด ชาวอเมริกันจำนวนมากจึงไม่อาจทนได้อีกต่อไป เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลปลดล็อกการแบนสุรา เอาสุรากลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง เป็นการล้มล้างอิทธิพลแก๊งมาเฟีย และช่วยให้วิถีชีวิตของชาวอเมริกันแบบเดิม ๆ กลับมา
การผลักดันไม่เป็นผล เพราะประธานาธิบดีซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1921 ถึงต้นปี 1933 อย่าง วาร์เรน จี. ฮาร์ดิง (Warren G. Harding), แคลวิน คูลิดจ์ (Calvin Coolidge) และเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) ไม่ยกเลิกกฎหมายนี้
แต่เมื่อสหรัฐฯ ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในปี 1929 รัฐต่าง ๆ ต้องการรายได้จากภาษีสุราที่หายไปมาพยุงสภาพการเงินที่ย่ำแย่ และเห็นว่าการสร้างงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญกว่าศีลธรรม
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่กินเวลานานหลายปี ทำให้ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ที่เห็นว่าการแบนสุราไม่ได้ช่วยลดอาชญากรรม และยังทำให้ชีวิตชาวอเมริกันลำบากมากขึ้น ได้ชูประเด็นการยกเลิกการแบนสุรามาหาเสียงเลือกตั้งในปี 1932 โรสเวลต์กวาดคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอย่างขาดลอย
โรสเวลต์ลงนามยกเลิกกฎหมายการห้ามดื่มสุรา โดยการผ่านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 21 เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 18 ทำให้การซื้อขายสุรากลับมาถูกกฎหมายอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 1933 โรงงานผลิตสุรากลับมาฟื้นตัว อัตราการจ้างงาน และอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีส่วนช่วยคลี่คลายภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ยืดเยื้อยาวนาน ส่วนแก๊งมาเฟียเมื่อไม่สามารถหารายได้จากการค้าเหล้าเถื่อนในตลาดมืด อิทธิพลจึงลดวูบ ถูกรัฐปราบปราม ส่งผลให้การก่ออาชญากรรมน้อยลง
การยกเลิกกฎหมายสุดเคร่งครัดครั้งนี้ นับว่าเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของ "สุรา" จากที่เคยถูกมองว่าทำสังคมอเมริกันเสื่อมทราม ก็กลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่ทำให้สหรัฐฯ พ้นภาวะไอซียูทางเศรษฐกิจเครดิตแหล่งข้อมูล :silpa-mag