“เจ้าพระฝาง” ผู้ร้ายในคราบอลัชชี
"เจ้าพระฝาง" ผู้ร้ายในคราบ "อลัชชี" กับ "พระอาจารย์ธรรมโชติ" พระดีใน "ผ้าเหลือง"
เจ้าพระฝางเป็นภิกษุชาวเมืองเหนือ เดิมมีชื่อว่า "เรือน" ลงมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจนได้เป็นพระพากุลเถระ พระราชาคณะอยู่ ณ วัดศรีอโยธยา ต่อมาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงตั้งให้ครองตำแหน่งสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี
เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก พระพากุลเถระได้ซ่องสุมผู้คน ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าอีกตำบลหนึ่ง โดยหาได้สึกเป็นคฤหัสถ์ไม่ คงอยู่ในเพศสมณะ แต่นุ่งห่มผ้าแดง คนทั้งปวงเรียกว่า "เจ้าพระฝาง" เป็นที่เกรงกลัวของบรรดาเจ้าเมืองกรมการหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป
หลักฐานจากพงศาวดารอ้างว่า กองทัพเจ้าพระฝางนอกจากจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของศูนย์อำนาจรัฐกรุงธนบุรีแล้ว ยังถูกเสนอในภาพของกลุ่มพระภิกษุที่ไม่ปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัย ตามที่ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่า "ประพฤติพาลทุจริตทุศีลกรรมลามกบริโภคสุรา" การกระทำของพระภิกษุในชุมนุมเจ้าพระฝางจึงเป็นภัยต่อทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักร (อ้างไว้ในบทความ ศึกเจ้าพระฝาง พ.ศ. 2313 : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับการปราบ "พวกสงฆ์อลัชชี" ที่เมืองสวางคบุรี โดย ธีระวัฒน์ แสนคำ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2559)
ขณะที่ ธีระพงษ์ มีไธสง นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญาเสนอว่า "โดยสถานภาพการเป็นพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ น่าจะมีสามัญสำนึกต่อความอยุติธรรม และมีความเห็นอกเห็นใจประชาชน...ทำให้เจ้าพระฝางซึ่งเป็นผู้นำชุมชนที่ชาวบ้านศรัทธาอยู่แล้ว ลุกขึ้นมาช่วยเหลือชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยไม่ยอมรับอำนาจส่วนกลาง (ธนบุรี) ซึ่งอยู่ห่างไกล และไม่ได้เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในแง่ของสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ แต่ได้เอารัดเอาเปรียบด้วยการเก็บบรรณาการในฐานะเป็นเมืองขึ้นของธนบุรี" (อ้างไว้ในบทความ พระสงฆ์กับอำนาจรัฐไทย: บทเรียนจากอดีต-พระธรรมยุตสายอีสาน โดย ธีระพงษ์ มีไธสง ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2557)
ธีระพงษ์กล่าวต่อไปว่า การที่กองทัพของเจ้าพระฝางถูกตีแตกใน 3 วัน มิใช่เพราะกองทัพอันเกรียงไกรของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่เป็นเพราะชุมนุมของเจ้าพระฝางเป็นเพียงการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากอำนาจรัฐ โดยมีพระสงฆ์แสดงบทบาทเป็นผู้นำชุมชนเท่านั้น และการที่เจ้าพระฝางยอมแพ้ต่อ พระเจ้าตาก อย่างง่ายดาย อาจเป็นไปเพื่อเลี่ยงความรุนแรงจนเสียเลือดเสียเนื้ออีกด้วย
ธีระพงษ์มองว่า เจ้าพระฝางได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ในฐานะพระนักพัฒนาที่ไม่ละเลยต่อความทุกข์ยากของประชาชนในขณะนั้น แต่ถูกทำให้เป็นผู้ร้ายในบริบทของประวัติศาสตร์ชาตินิยม เป็นกบฏต่อบ้านเมืองและเป็นอลัชชีในฐานะสงฆ์ที่ละเมิดวินัย
ในทางกลับกัน ธีระพงษ์กล่าวว่า พระอาจารย์ธรรมโชติ แห่งหมู่บ้านบางระจัน ที่ได้รับนิมนต์มาปลุกขวัญชาวบ้านเพื่อต่อต้าน "พม่า" โดยการแจกตะกรุด ทำพิธีไสยศาสตร์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านบางระจันไปทำสงคราม ซึ่งในทางธรรมวินัยถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการละเมิดต่อชีวิต (ปาณาติบาต) แล้ว แต่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมกลับเชิดชูให้พระอาจารย์ธรรมโชติเป็นพระเอก เป็นวีรภิกษุไปเครดิตแหล่งข้อมูล :silpa-mag