“ไข่ของโคลัมบัส” ที่มาสุภาษิตดังในโลกตะวันตก
หลังเดินทางกลับจากการสำรวจทวีปอเมริกาครั้งแรก โคลัมบัสได้รับการสรรเสริญสดุดีจากราชสำนักสเปนที่เขาทำงานให้ มีการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองให้กับโคลัมบัสและลูกเรือ ซานตา มาเรีย ของเขา (อย่างไรก็ตามมีเอกสารบางแหล่งกล่าวว่างานเลี้ยงนี้จัดโดยอาร์คบิชอปแห่งโตเลโด ไม่ใช่ราชสำนักสเปน)
มีเรื่องเล่ากันว่า ขุนนางที่อยู่ในงานเลี้ยงเกิดอิจฉาความสำเร็จของนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ จึงพยายามทำลายความสำเร็จของโคลัมบัส โดยกล่าวว่า
"ท่านโคลัมบัสช่างโชคดีเสียจริงที่ค้นพบหมู่เกาะเวสต์ อินดีส (ชื่อเรียกของทวีปอเมริกาในขณะนั้น) แต่ถ้าเดินทางไปทางตะวันตกเรื่อย ๆ ไม่ว่าใครก็ต้องพบอยู่ดี ก็แค่ไปทางตะวันตกเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง"
เมื่อโคลัมบัสได้ยินดังนั้นก็ไม่ตอบโต้อะไร แต่หยิบไข่ต้มใบหนึ่งที่อยู่บนโต๊ะขึ้นมา และกล่าวกับขุนนางผู้นั้นว่า "ถ้าอย่างนั้น ท่านสามารถตั้งไข่ฟองนี้บนโต๊ะได้หรือไม่"
ขุนนางรับไข่มาและพยายามตั้งไข่ให้ได้ แต่เมื่อปล่อยมือไข่ก็ล้มลงทุกครั้ง เมื่อพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าไม่สำเร็จ ขุนนางจึงกล่าวว่า "ไม่มีใครตั้งไข่ได้หรอก" แล้วท้าทายให้โคลัมบัสทดสอบ โคลัมบัสจึงรับไข่ใบนั้นมา เคาะเบา ๆ ให้ไข่บุบ จากนั้นก็นำไข่ตั้งบนโต๊ะ ไข่ใบนั้นไม่ล้ม
เมื่อเห็นดังนั้น ขุนนางจึงพูดขึ้นมาอย่างหัวเสียว่า "อะไรกัน เล่นทำให้แตกอย่างนี้ ไม่ว่าใครก็ตั้งได้ทั้งนั้นแหละ เหลวไหลจริง"
โคลัมบัสจึงยิ้มและตอบกลับไปว่า "การพูดหลังจากที่มีคนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จน่ะ มันง่าย ถ้าหากท่านรู้อยู่ว่าการทำแบบนี้จะประสบความสำเร็จ ทำไมท่านกับคนอื่น ๆ ไม่ทำก่อนที่ข้าพเจ้าจะทำจนสำเร็จเล่า ? การค้นพบโลกใหม่นี้ก็เช่นกัน"
เหตุการณ์นี้ถูกนำมาเป็นสุภาษิตที่ใช้กันโลกตะวันตกว่า "ไข่ของโคลัมบัส" สื่อความหมายถึงการที่ทุกความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านความยากลำบากมากมาย จึงไม่ควรด้อยค่าความสำเร็จของผู้อื่นเครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag