เผยตำนาน #กระจกเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อไร


เผยตำนาน #กระจกเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อไร

#กระจกเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อไร และกระจกมีที่มาอย่างไร วันนี้แอดจะมาเล่าให้ฟังแบบคร่าวๆ ก่อนที่จะมีกระจกใช้กล่าวกันว่า...คนไทยในสมัยโบราณจะใช้คันฉ่อง #คันฉ่องไม่ใช่กระจก เพราะคันฉ่องในไทยแต่เดิมนั้นทำจากโลหะขัดเงาไม่ใช่กระจก ซึ่งสันนิษฐานว่า #คันฉ่องมาจากจีนโดยมีลักษณะเป็นแว่นสำริด หากย้อนไปก่อนหน้าที่จะมีคันฉ่องหรือกระจก มนุษย์เชื่อกันว่าในสมัยโบราณใช้น้ำสำหรับส่องดูเงาของตนเอง ซึ่งก็น่าจะเป็นมานานตั้งแต่ยุคหิน หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า...

หากน้ำอยู่ลึกหรือไกลเกินไปก็จะ #ตักน้ำใส่กะโหลกแล้วชะโงกดูเงา (กะโหลก คือ กะลามะพร้าวที่ตัดด้านตาออกเล็กน้อย จึงเหลือส่วนกลมของลูกมะพร้าวอยู่) เมื่อกาลเวลาผันผ่านจากที่เคยใช้น้ำก็แปรเปลี่ยนเรียงลำดับมาเป็นหินภูเขาไฟ โลหะ ทองแดง สัมฤทธิ์ ฯลฯ นำมาขัดจนเรียบเป็นเงาสามารถนำส่องได้ แต่เนื่องจากการส่องกับแผ่นโลหะที่มีลักษณะกลมเป็นแว่นสำริดหรือเป็นเหลี่ยม เมื่อนำมาถืออาจไม่ถนัดเท่าไรนักจึงนำมาต่อคันสำหรับไว้จับ
.
ดังนั้นด้ามหรืออะไรที่มีความยาวจนใช้มือจับได้คนสมัยนั้นจะเรียกว่า "คัน" เช่น คันธนู คันศร คันเบ็ด เป็นต้น ส่วนคำว่า "ฉ่อง" ก็คือ "ส่อง" เป็นคำที่มีความหมายอย่างเดียวกัน "ฉ" กับ "ส" ที่เรามักใช้แทนกันได้ เช่น "ฉลาก" กับ "สลาก" นั่นเอง นอกจากนี้คันฉ่องสันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามายังไทยนานมากแล้วดังที่ปรากฎในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ว่า "...คันฉ่องแต่โบราณใช้ขัดแผ่นทองเหลือง ทองแดงเป็นเงาส่องหน้าว่าเที่ยงกว่ากระจกฉาย..." (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นผู้แปลไว้)
.
ส่วนกระจกคาดว่าน่าจะเข้ามาไทยในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะมีหลักฐานว่าพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทที่สร้างในสมัยของพระองค์เคยติดกระจกเงา ถึงอย่างนั้นกระจกนับว่าเป็นของพิเศษหายากและยังใช้กันในวงแคบ กล่าวคือมีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่ใช้ เช่น พระมหากษัตริย์ เจ้าขุนมูลนาย ขุนนางและผู้มีฐานะ (กระจกยังได้เข้าไปแทนที่ทองสัมฤทธิ์ที่ตัว "ส่อง" เป็นแว่นแก้ว) ส่วนราษฎรทั่วไปยังคงใช้แว่นเงาแบบจีนมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ จากนั้นกระจกก็ค่อยๆ เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ส่วนผู้ที่นำกระจกเข้ามาสู่ไทยกล่าวกันว่าเป็นชาวเปอร์เซียนำเข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยา หลังจากนั้นอยุธยาก็ค่อยนำเข้ามาจากจีน ถึงแม้ว่ากระจกจะเข้ามาแทนที่คันฉ่องแต่เวลานั้นผู้คนก็ยังคงเรียกว่าคันฉ่องเช่นเดิม เนื่องด้วยมีคุณสมบัติที่นำมาส่องเหมือนกันนั่นเอง #แล้วกระจกมีที่มาจากไหนและใครเป็นคนประดิษฐ์ไปอ่านกันเลย
.
ก่อนที่มนุษย์ทั่วโลกจะมีกระจกไว้สำหรับส่อง เริ่มแรกเชื่อกันว่าในสมัยโบราณมนุษย์น่าจะใช้น้ำสำหรับส่องดูเงาของตนเอง คาดว่าน่าจะเป็นมานานตั้งแต่สมัยยุคหิน ในเวลาต่อมาผู้ที่มีฐานะได้หาซื้อเหล็กที่มีลักษณะเงา (โลหะขัดเงา) หรือหินภูเขาไฟ (หินออบซิเดียน / Obsidian) ที่มีลักษณะใสเหมือนแก้วนำมาใช้ส่องดูเงาของตนเอง ซึ่งมีการพบกระจกที่ทำจากหินภูเขาไฟมีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ ๖,๒๐๐ ปี ก่อนคริสตกาลโดยพบที่บริวณเมืองคาตาล ฮูยูค (Catal Huyuk) ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองคอนยาหรือประเทศตุรกีในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีการพบว่าผู้คนในอิหร่านใช้กระจกที่ทำมาจากทองแดงขัดเงาอย่างน้อยราว ๔,๐๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล
.
ส่วนจีนมีการกล่าวว่าเมื่อราว ๖๗๓ ปีก่อนคริสตกาล ราชินีได้ผูกกระจกติดกับเข็มขัดซึ่งกระจกอาจถือเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าที่สุดในสมัยนั้น โดยกระจกที่เก่าแก่ที่สุดของจีนกล่าวกันว่า...ทำมาจากหยกขัดเงาก่อนที่จะพัฒนามาเป็นเหล็กและสัมฤทธิ์ แต่มีนักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าชาวจีนได้รู้จักกระจกผ่านชาวซิเธียน หรือไซเธียนชนเผ่านักรบเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณทางตอนใต้ของเขตไซบีเรีย หรือรัสเซียในปัจจุบัน ซึ่งมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของตะวันออกกลาง แต่ยังก็เชื่ออีกว่าชาวจีนอาจจะคิดค้นกระจกได้เองก็เป็นได้
.
แต่ก็มีคำถามตามมาอีกว่า...แล้วกระจกแก้วที่เรารู้จักในปัจจุบัน? มันเกิดขึ้นเร็วอย่างน่าประหลาดใจ แล้วใครล่ะที่ทำแผ่นกระจกที่รองด้วยโลหะให้เป็นพื้นผิวสะท้อนแสงที่สมบูรณ์แบบ? ซึ่งข้อมูลเท่าที่มีเกี่ยวกับเรื่องกระจกกล่าวกันว่า...ช่างที่ทำกระจกกลุ่มแรกอาศัยอยู่ใกล้เมืองไซดอนประเทศเลบานอน เมื่อประมาณ ๒,๔๐๐ ปีก่อน ซึ่งช่างอาจจะเป็นชาวฟินีเซียนเพราะเลบานอนคือที่ตั้งถิ่นฐานหลักของชาวฟินีเซียน และอารยธรรมฟินีเซียนนั้นเคยยิ่งใหญ่มากในอดีต ชาวเลบานอนส่วนหนึ่งในปัจจุบันยังคงมีความภาคภูมิใจที่จะบอกใครต่อใครว่า...ตนเองคือเชื้อสายเผ่าพันธุ์ของชาวฟินีเซียนที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่ครั้งโบราณ แต่น่าเสียดายที่เราไม่ทราบว่าใครคือผู้ประดิษฐ์กระจกนี้ขึ้นมาเป็นคนแรก สำหรับกระจกที่ทำจากแก้วในยุคแรกคาดว่าจะเป็นกระจกแบบนูนที่มีลักษณะคล้ายกับที่เห็นในสวนสนุก ทำให้เวลาส่องกระจกหน้าจะดูใหญ่กว่าความเป็นจริง กระจกที่ทำจากแก้วนี้ค่อยๆ แพร่หลายไปทั้งตะวันออกกลาง ก่อนจะได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
.
สาเหตุที่กระจกแพร่ไปทั่วโลกสันนิษฐานว่า...ชาวฟินีเซียนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นทางการค้าทางเมดิเตอร์เรเนียน จึงไม่น่าแปลกใจที่กระจกจะแพร่กระจายไปทั่วเมดิเตอร์เรเนียนและตะวันออกกลางอย่างรวดเร็ว รวมถึงจักรพรรดิ "ดาไรอัสมหาราช" ของเปอร์เซีย (อิหร่าน) เมื่อ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตศักราชที่มีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องการใช้กระจกประดับรอบท้องพระโรง เป็นต้น นอกจากนี้ในขณะนั้นวัฒนธรรมในหลายประเทศมีความเชื่อว่ากระจกมีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกของวิญญาณ เช่น ในครอบครัวชาวยิวหากมีคนในครอบครัวเสียชีวิต สมาชิกในบ้านจะหาผ้ามาปิดกระจกทุกบานในบ้าน เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นการป้องกันไม่ให้วิญญาณของผู้เสียชีวิตติดอยู่ในกระจก



เผยตำนาน #กระจกเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อไร

เครดิตแหล่งข้อมูล : FB Love Thai Culture


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์