“เกษตรแฟร์” ครั้งแรก ปี 2491 มากันตั้งแต่ตี 3!!!
แต่กว่าจะเป็นงานเกษตรแฟร์แบบที่รู้จักกันในปัจจุบัน งานออกร้านประจำปีในยุคแรกคืองานจัดแสดงสินค้าเกษตร และผลงานทางวิชาการของคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยกษตรศาสตร์ ยังไม่ได้มีลักษณะเป็นงานออกร้านของร้านค้าทั่วไปแบบที่เห็นกันทุกวันนี้
ต้นกำเนิดของการจัดงานเกษตรแฟร์ มาจากการริเริ่มของ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น ที่ประสงค์ให้คนภายนอกมหาวิทยาลัยได้รู้จักกิจการทั้งหลายของมหาวิทยาลัย และเป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักของคนภายนอกไปด้วยในตัว จึงร่วมมือกับกระทรวงเกษตราธิการ จัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3-4 มกราคม พ.ศ. 2491 ในชื่อ "ตลาดนัดเกษตรกลางบางเขน" เน้นจัดแสดงผลิตภัณฑ์และองค์ความรู้ของนิสิต เช่น การปลูกพืชพันธุ์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ฯลฯ
เกษตรแฟร์ครั้งแรกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการมาดูองค์ความรู้ด้านการเกษตรใหม่ ๆ เพื่อเอาไปใช้พัฒนาผลผลิตของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ห่างไกลจากชุมชนเมืองอย่างมากและยังเดินทางลำบาก แต่ผู้คนก็ยังมากัน ดังที่ ศ. จรัด สุนทรสิงห์ อาจารย์และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยในขณะนั้น บันทึกไว้ว่า
"....ประชาชนหลั่งไหลกันมาชมมากมาย มากันตั้งแต่ตีสามตีสี่ ผักหญ้าโดยเฉพาะมะเขือเทศ ทั้งของนิสิตและของคณะเกษตรศาสตร์ที่ปลูกไว้หลายสิบแปลง อันตรธานหายวับไปกับตาไม่ถึงครึ่งวัน เราก็ไม่ว่าอะไร ปล่อยให้เขาได้สนุกกันเต็มที่...."
ผลจากความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี เมื่อถึงปี 2496 ก็เปลื่อนชื่อเป็น "งานวันเกษตรแห่งชาติ" แต่จากนั้นก็ไม่ได้จัดงานต่อเนื่อง เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองมีความผันผวนรุนแรงในช่วงปลายทศวรรษ 2490 และต้นทศวรรษ 2500 ก่อนกลับมารื้อฟื้นการจัดงานเป็นประจำทุกปีอีกครั้งเมื่อปี 2507
ชื่องาน "เกษตรแฟร์" เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2532 สาเหตุเพราะช่วงเวลานั้นรูปแบบงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในงานไม่ได้จัดแสดงสินค้าหรือผลงานของนิสิตอย่างเดียว แต่ยังมีร้านค้าหรือหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาออกบูธมากขึ้น ผู้มาเที่ยวงานก็มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น นักศึกษาจากหลายสถาบัน คนวัยทำงาน ข้าราชการ ฯลฯ ทำให้มหาวิทยาลัยตัดสินใจเปลี่ยนชื่องานเป็นเกษตรแฟร์ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น กลายเป็นเกษตรแฟร์ที่ทุกคนคุ้นเคยกันในปัจจุบันนั่นเองเครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag