ชีวิตของชาวจีนโพ้นทะเลในสยาม


ชีวิตของชาวจีนโพ้นทะเลในสยาม

      ชีวิตของชาวจีนโพ้นทะเลในสมัยก่อนที่อพยพเข้ามาในสยามง่ายที่สุดก็เป็นกุลีแบกหามทุกชนิด ถนนในกรุงเทพฯ สมัยก่อนใช้กุลีจีนแบกก้อนหินใหญ่ๆ ถมก่อน แล้วเอาหินก้อนเล็กๆ ถมตาม เกลี่ยแล้วเอายางมะตอยราด แม้กระทั่งถนนหลวงสายแรกไปอยุธยา ถมหินราดยางมะตอยไปถึงวังน้อยแล้วจึงตัดเข้าอยุธยา เป็นหยาดเหงื่อคนจีนทั้งสิ้น แม้กระทั่งขุดคลองรังสิตนับสิบๆ คลอง ก็เป็นฝีมือกุลีจีนอีกเหมือนกัน มีมากที่ไปเป็นกุลีตามโรงสี โกดังข้าว โกดังผลิต​ผลการเกษตร โรงเลื่อยทำกระทั่งหาบปี๊บน้ำจากท่อประปาสาธารณะส่งบ้านผู้รากมากดี ยังอีกพวกขนขี้ใส่ปี๊บไปทิ้งก็มี แบกหามตามหน้าตลาดก็มาก บ้านเรือนก็ทำกระต๊อบหลังคาใบจาก สร้างติดต่อกันตั้งแต่วัดปทุมคงคาถึงสำเพ็ง พอนอนกันได้หลายๆ คน

ที่ชอบทำกันมากที่สุดเป็นรถลากหรือที่เรียกว่ารถเจ๊ก มีนายทุนจีนสร้างรถแล้วให้กุลีจีนเช่า มากมายขนาดแย่งผู้โดยสารกัน ลำบากลำบนไม่รู้ภาษาไทย ไม่รู้ว่าคนเรียกรถจะให้ไปที่ไหน ส่วนใหญ่ไม่มีบ้าน กิน นอน บนรถนั่นเอง

คนจีนที่เป็นคนเสียงดังโล้งเล้ง พูดกันก็เหมือนทะ​เลาะกัน เมื่อมาอยู่รวมกันมากๆ ก็ย่อมมีการวิวาทลงไม้ลงมือกัน ไม่ค่อยมีระเบียบ เนื้อตัวเสื้อผ้ามอมแมม ดูสกปรก ขากถุยเป็นนิจ เลยถูกเรียกแบบจิกหัวว่ากุ๊ย ยิ่งแบกหามเกะกะตามตลาดก็ถูกเรียกว่ากุ๊ยหน้าตลาด

ส่วนเรื่องอาหารการกิน กุลีจีนนั้นกินอย่างอดอยาก ก็มีมากมายที่เจ้าของกงสีเลี้ยงดูกุลี มีข้าวให้กิน แต่กับ​ข้าวถูกๆ ง่ายๆ ส่วนใหญ่มีถั่วลิสงคั่วใส่เกลือ หนำเลี๊ยบดองเค็มที่ใช้ดูดๆ แล้วกินกับข้าวต้ม มีหมูสามชั้นต้ม ปลานึ่งกินกับซีอิ๊ว หัวไชโป๊วเค็มหั่น จะได้กินเป็ด ไก่ ก็ต้องคอยตอนตรุษจีนถึงจะได้กิน

พวกกุลีทั่วไปจะฝากท้องไว้ตามหาบเร่แถวโรงสูบฝิ่น เป็นพวกเครื่องในวัว เครื่องในหมูต้ม กินกับข้าว พอยุคปักหลักปักฐานได้แน่นอนแล้วก็มีร้านข้าวต้ม ทั้ง​หมดจะอยู่ตามตลาดและที่คนจีนอยู่กันมากๆ แถบถนนบริพัตร ตรงริมคลองรอบกรุงหรือคลองโอ่งอ่าง และที่เวิ้งนาครเกษมนั้น มีตลาดปีระกาใหญ่ที่สุด คนพลุกพล่านตลอดเวลา มีร้านข้าวต้มในห้องแถวอยู่หลายร้าน รูปร่างร้านจะมีตู้ไม้หน้าร้าน หน้าตู้ไม้มีแผ่นไม้กว้างๆ ยาวๆ ทำหน้าที่เป็นโต๊ะ มีม้านั่งยาวๆ ให้นั่ง ส่วนในตู้นั้นมีถาดกับข้าว เป็นถาดเคลือบลายดอกไม้จีน ถาดใหญ่สุดตั้งด้านหน้า แล้วมีชั้นวางถาดไต่ระดับสูงขึ้น 2 - 3 ชั้น นั่นเป็นเทคนิคของเขา กับข้าวทำใหม่จะใส่ถาดใหญ่ตั้งข้างหน้า พอกับข้าวพร่องก็อุ่นใหม่แล้วถ่ายใส่ถาดอีกขนาดยกไปตั้งบนอีกชั้น แล้วก็ทำของใหม่มาวางข้างหน้าเหมือนเดิม ถาดกับข้าวจะหมุนเวียนกระเถิบสูงขึ้นและลึกเข้าไปเรื่อยๆ ชั้นในสุดเป็นถาดขนาดเล็กสุด ซึ่งถาดเล็กสุดนั้นจะมีปลายทางที่ไม่ใช่เททิ้ง แต่เทใส่หม้อต้มจับฉ่าย ฉะนั้นจับฉ่ายในร้านข้าวต้มสมัยก่อน จึงมีทั้งคอเป็ด คอไก่ ตีนไก่ ถั่วงอก ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ฟัก กระดูกหมู เต้าหู้ กุนเชียง

คนกินเป็นกุลีที่นั่งกินอยู่หน้าตู้ ซึ่งวิธีกินจะพิสดารหน่อย คือแทนที่จะนั่งบนม้า กลับเหาะขึ้นไปนั่งยองๆ บนม้า การกินใช้ตะเกียบเขี่ยข้าวเข้าปาก ถ้าเป็นข้าว​ต้มจะซดดังสนั่นหวั่นไหว แล้วเวลาเคี้ยวก็ดังจั๊บๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว นั่นเป็นการกินธรรมดาๆ ของคนจีน ไม่ว่ากินที่ไหน ยุคไหน ก็นั่งยองๆ อย่างนั้นพอดีมาเข้าทางคนมีอคติที่ไม่ชอบอย่างนั้น ยิ่งคนจีนมีลักษณะมอม​แมมเข้าไปด้วย เลยถูกเรียกว่ากุ๊ยกินข้าวต้ม คำว่าข้าวต้มกุ๊ยก็มาจากนั่นแหละ​ บ้างก็ว่าข้าวต้มกุ้ยเพี้ยนมาจากคำว่า "พุ้ย" ซึ่งเป็นลักษณะของการเขี่ยข้าวในชามเข้าปากด้วยการใช้ตะเกียบของชาวจีน



ชีวิตของชาวจีนโพ้นทะเลในสยาม

#Credit Photoนิทรรศการฟิลม์กระจก
#แปลและเรียบเรียง Danny karn
#FB:คันฉ่อง ส่องไท


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์