ชะตากรรมพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคแรกที่ถูกยุบในการเมืองไทย


ชะตากรรมพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคแรกที่ถูกยุบในการเมืองไทย


"พรรคเสรีมนังคศิลา" ก่อตั้งโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม
มีจุดมุ่งหมายเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่งจอมพล ป. ต้องการใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป "พรรคเสรีมนังคศิลา" ถือเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทย (ที่มีกฎหมายรับรอง) และเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของประเทศไทยที่ถูกยุบด้วยเช่นกัน

ภายหลังจากจอมพล ป. เดินทางเยือนต่างประเทศเป็นเวลากว่า 70 วัน เมื่อ พ.ศ. 2498 แล้วนั้น จอมพล ป. ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองครั้งสำคัญ คือให้มี "การฟื้นฟูประชาธิปไตย" ซึ่งได้สร้างบรรยากาศทางการเมืองให้ตื่นตัวอย่างมาก

จอมพล ป. ให้อิสระแก่หนังสือพิมพ์ โดยจะแถลงข่าวต่อหนังสือพิมพ์เป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำในต่างประเทศ จอมพล ป. มุ่งหวังว่า "ทั้งรัฐบาลและหนังสือพิมพ์เข้าใจในสิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่ายได้ดี หนังสือพิมพ์เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐบาลและประชาชนดีที่สุด"


นอกจากนี้ จอมพล ป. ยังให้เปิดการชุมนุมสาธารณะทั่วประเทศ ที่เรียกว่า "ไฮด์ปาร์ก" ซึ่งรับอิทธิพลมาจากอังกฤษ โดยเปิดให้ประชาชนมาชุมนุมกันเพื่อทำกิจกรรมเคลื่อนไหวและวิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ในสังคมอย่างเสรี

และการฟื้นฟูประชาธิปไตยที่สำคัญคือ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 เป็นพระราชบัญญัติที่รัฐบาลจอมพล ป. ผลักดันเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดยให้เหตุผลว่า "ระบอบประชาธิปไตยก็ดำเนินมากว่า 20 ปี ควรแก่เวลาที่จะได้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองให้สมบูรณ์ เพื่อบรรดาผู้สนใจในการก่อตั้งพรรคมีความมั่นใจ ไม่หวาดระแวงภัยต่าง ๆ อีกต่อไป"

พ.ร.บ. พรรคการเมืองผ่านการโหวตรับรองในสภาฯ ด้วยเสียง 101 : 1 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2498

พรรคการเมืองพรรคแรกที่จดทะเบียนหลัง พ.ร.บ. พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ คือ "พรรคเสรีมนังคศิลา" จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2498 ถือเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของไทย (ที่มีกฎหมายรับรอง) ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ จดทะเบียนวันที่ 30 กันยายน เป็นพรรคการเมืองลำดับที่ 2 ต่อจากพรรคเสรีมนังคศิลา

โดยก่อนหน้าที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ประเทศไทยมีพรรคการเมืองมาก่อนแล้ว แต่เป็นในรูปแบบที่บุคคลรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง มิใช่พรรคการเมืองที่จดทะเบียนพรรคอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

8 พรรคที่ก่อตั้งมาก่อน พ.ร.บ. พรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ได้แก่ พรรคก้าวหน้า พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคธรรมาธิปัตย์ พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย และพรรคกสิกรรมกร (สงวน คำวงษา, 2519. หน้า 20)

พรรคเสรีมนังคศิลา มีจอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค, พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค, พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และยังมี จอมพล ผิน ชุณหะวัณ และ จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี เป็นกรรมการพรรค

สำหรับชื่อพรรคนั้นมาจากชื่อบ้าน "มนังคศิลา" ตั้งอยู่บนถนนหลานหลวง เขตดุสิต อันเป็นสถานที่ที่จอมพล ป. ใช้ในการประชุม นอกจากนี้ พรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาลที่มีทุนหนุนหลัง ยังมีฉายาเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "พรรคอุดมสตางค์"

จอมพล ป. กล่าวถึงพรรคเสรีมนังคศิลา ดังคำแถลงต่อสภาฯ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ว่าเป็นพรรคที่สืบทอดอุดมการณ์มาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ตามความว่า

"...เป็นพรรคการเมืองพรรคแรก ที่ได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นตามวิถีทางของระบอบเสรีประชาธิปไตยของพรรคการเมือง...รัฐบาลของพรรคเสรีมนังคศิลามีรากฐานสืบเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะผู้ขอรัฐธรรมนูญเป็นผู้ให้กำเนิด...และวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้รับช่วงต่อสืบมา ในที่สุดเมื่อได้มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 แล้ว...ร่วมกันก่อตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาขึ้นตามกฎหมาย เป็นอันว่าพรรคเสรีมนังคศิลานี้ ได้เป็นพรรคการเมืองเริ่มแรกก็เก่าแก่มีอายุกว่า 24 ปีแล้ว..."

นรนิติ เศรษฐบุตร อธิบายถึงพรรคเสรีมนังคศิลาว่า "...เป็นพรรคการเมืองของคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ตั้งขึ้นเพื่อจะอาศัยเป็นองค์กรการเมืองแทนคณะรัฐประหาร หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อแปลงร่างให้แก่คณะรัฐประหารให้ดูดีขึ้น และเป็นการอาศัยรูปพรรคการเมืองมาสร้างความชอบธรรม เพื่อลงสู่สนามเลือกตั้ง..."

ก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พรรคเสรีมนังคศิลากับพรรคประชาธิปัตย์เป็นสองพรรคใหญ่ที่แข่งขันกันหาเสียงอย่างดุเดือด นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โจมตีฝ่ายรัฐบาลในประเด็น ส.ส. ประเภทที่ 2 ซึ่งถูกแต่งตั้งเข้ามาโดยคณะรัฐประหาร โดยเรียกร้องให้ยกเลิก ส.ส. ประเภทนี้ทั้งหมด, เรื่องการตั้งกระทรวงวัฒนธรรม และเรื่องการบริหารประเทศของจอมพล ป. ที่เป็นเผด็จการ

จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีมายาวนาน แต่ไม่มีครั้งใดที่ลงรับสมัครเลือกตั้งด้วยตนเอง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ จอมพล ป. มีจุดมุ่งหมายจะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. เดิมแสดงท่าทีจะลงรับสมัครเลือกตั้งในจังหวัดลพบุรี ขณะที่ชาวนครนายกร้องขอให้มาลงรับสมัครเลือกตั้งในจังหวัดนครนายกแทน เพราะ "เป็นจังหวัดที่เป็นมงคลนามเหมาะแก่ตำแหน่งราชการของนายกรัฐมนตรี" แต่สุดท้ายแล้ว จอมพล ป. ลงรับสมัครเลือกตั้งในจังหวัดพระนคร

สำหรับเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนคร คือฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ส่วนฝั่งตะวันตกนั้นยังเป็นจังหวัดธนบุรี โดยรูปแบบการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์ คือยึดเอาจังหวัดหนึ่งเป็นเขตการเลือกตั้งหนึ่งเขต จำนวนผู้แทนในแต่ละเขตขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร จะมีมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละเขต สำหรับเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนครมี ส.ส. ได้ทั้งหมด 9 คน

จอมพล ป. มีแนวคิดว่า ในระบอบประชาธิปไตย ผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีนั้นจะต้องเป็น ส.ส. ด้วย จอมพล ป. จึงให้บุคคลในรัฐบาลมาลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดพระนครแทน ส.ส. ชุดเก่าของพรรคทั้ง 6 คน

ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดพระนครของพรรคเสรีมนังคศิลามีดังนี้

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี
พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
พลเอก มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พลเอก หลวงสวัสดิ์สรยุทธ (ดล บุนนาค) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
พลเอก เดช เดชประดิยุทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
พันตรี รักษ์ ปันยารชุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ทว่า รัฐมนตรีบางคนไม่ได้มีใจลงรับสมัครเลือกตั้ง เช่น พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง "เพียงแต่ได้ยินว่าเขาให้สมัครก็ต้องสมัคร แต่จะขออยู่เฉย ๆ ไม่ออกไปรณรงค์เลือกตั้ง"

ส่วนพลเอก เภา ต้องลงเลือกตั้งเพราะจอมพล ป. ซ้ำยังไม่เคยมีประสบการณ์การหาเสียงมาก่อน โดยกล่าวว่า "ท่านจอมพลจะเอาของท่านอย่างนี้ ผมไม่รู้ว่าจะว่ายังไงก็ต้องเอาด้วย ซึ่งความจริงใจของผมนั้นไม่เคยคิดเลย ครั้นเมื่อต้องสมัครก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องพูดหาเสียงกับราษฎรอย่างไร"

ก่อนการเลือกตั้งมีเหตุการณ์ความวุ่นวายปรากฏ ผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคนถูกคุกคาม ทั้งการดักตีทำร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเศรษฐกร และการลอบยิงผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคธรรมาธิปัตย์ และเมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ก็ปรากฏว่าเกิดปัญหามากมายจนถูกครหาว่าเป็น "การเลือกตั้งสกปรก"

สำหรับผลการเลือกตั้งในจังหวัดพระนครนั้น พรรคเสรีมนังคศิลา ได้ไป 7 ที่นั่ง (พลเอก เดช และพันตรี รักษ์ไม่ได้รับเลือกตั้ง) อีก 2 ที่นั่งเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายควง และนาวาโท พระประยุทธชลธี (แป๊ะ วีราสา) ซึ่งก่อนการเลือกตั้งคาดการณ์กันว่า จังหวัดพระนครเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคเสรีมนังคศิลาก็เป็นรัฐมนตรีที่ไม่น่าจะมีคะแนนนิยมและจะแพ้เลือกตั้งหลายคน แต่ผลการเลือกตั้งกลับผิดคาด

สำหรับผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ สรุปจำนวน ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้ง ดังนี้

พรรคเสรีมนังคศิลา 86 ที่นั่ง
พรรคประชาธิปัตย์ 30 ที่นั่ง
พรรคเสรีพระชาธิปไตย 12 ที่นั่ง
พรรคธรรมาธิปัตย์ 9 ที่นั่ง
พรรคเศรษฐกร 9 ที่นั่ง
พรรคชาตินิยม 3 นิยม
พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ก 2 ที่นั่ง
พรรคอิสระ 2 ที่นั่ง
ไม่สังกัดพรรคการเมือง 7 ที่นั่ง
(รวม 160 ที่นั่ง)

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์และยุติธรรม มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และหนังสือพิมพ์ต่อต้านผลการเลือกตั้งอย่างครึกโครม เช่น หนังสือพิมพ์สารเสรีระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ "เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์"

จอมพล ป. จึงออกประกาศภาวะฉุกเฉิน พยายามลดกระแสความไม่พอใจของประชาชน ไม่ยอมรับว่ามีการเลือกตั้งสกปรก แต่เรียกว่า "การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย" ทว่า จอมพล ป. ก็จัดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่มุ่งหวัง แต่สถานการณ์ทางการเมืองยังคงร้อนระอุ

จอมพล ป. ต้องเผชิญปัญหาการเมืองรุมเร้าอย่างหนัก โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่าง "กลุ่มราชครู" โดยพลตำรวจเอก เผ่า และ "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์" โดยพลเอก สฤษดิ์ มิหนำซ้ำยังเผชิญปัญหาจากหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัฐบาล ปัญหาความไม่ลงรอยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัญหาจากงาน 25 พุทธศตวรรษ ปัญหาตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล และปัญหาภายในพรรคเสรีมนังคศิลา

เค้าลางความแตกแยกในพรรคเสรีมนังคศิลา มาจาก ส.ส. ภาคใต้ของพรรคที่ไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลแม้แต่คนเดียว ดังนั้น ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2500 นายเนิ่น เกษสุวรรณ ส.ส. กระบี่ จึงลาออกจากพรรคเสรีมนังคศิลามาเป็น ส.ส. อิสระ

ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม นายสงวน จันทรสาขา ส.ส. นครพนม ผู้เป็นน้องชายต่างมารดาของพลเอก สฤษดิ์ ได้นำ ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลารวม 10 คน (รวมนายเนิ่น ส.ส. กระบี่) มาตั้งพรรคใหม่ที่มีชื่อว่า "พรรคสหภูมิ" (จดทะเบียนพรรค วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2500) และได้ ส.ส. จากพรรคอื่นเพิ่มอีก 10 คน รวมแล้วพรรคสหภูมิมี ส.ส. ทั้งหมด 20 คน

จอมพล ป. กล่าวถึง ส.ส. ที่ย้ายพรรคว่าเป็น "พวกทรยศ" แต่ อารีย์ ตันติเวชกุล ส.ส. นครราชสีมาจากพรรคเสรีประชาธิปไตยที่ย้ายไปพรรคสหภูมิ กล่าวว่า "ท่านนายกฯ ก็ทรยศต่อรัชกาลที่ 7 เช่นกัน" ขณะที่หลวง อรรถพรพิศาล ส.ส. ตราด 1 ใน 10 ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลาที่ย้ายไปพรรคสหภูมิ กล่าวว่า ที่ออกจากพรรคเนื่องจากจอมพล ป. ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มราชครู

พรรคสหภูมิมีแนวทางสนับสนุนพลเอก สฤษดิ์ อย่างชัดเจน ทำให้ความแตกแยกระหว่าง "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์" กับ "กลุ่มราชครู" ยิ่งแตกร้าวอย่างหนัก ขณะที่จอมพล ป. เองก็ไม่ได้อยู่ข้าง "กลุ่มราชครู" เสียเต็มตัว เพราะก็ต้องคานอำนาจกับพลตำรวจเอก เผ่า อีกทางหนึ่งด้วย

และในที่สุด วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พลเอก สฤษดิ์ ได้ทำการรัฐประหาร ปิดฉากชีวิตการเมืองของจอมพล ป. อย่างสมบูรณ์ ทว่าพรรคเสรีมนังคศิลายังไม่ล้มหายตายจากไปไหน

ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสหภูมิได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดคือ 44 ที่นั่ง ส่วน "พรรคเสรีมนังคศิลา" ยังส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้ ส.ส. จำนวน 4 ที่นั่ง ได้แก่

ร้อยตำรวจตรี ชัยชาญ งามสง่า ส.ส. จังหวัดเพชรบูรณ์
นายมนัส พรหมบุญ ส.ส. จังหวัดเพชรบูรณ์
พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ส.ส. จังหวัดสระบุรี
พันเอก นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) ส.ส. จังหวัดเชียงราย

สำหรับ พลตรี ประมาณ และ พันเอก นายวรการบัญชา เป็น ส.ส. ในจังหวัดเดิม และสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาเช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ขณะที่ ร้อยตำรวจตรี ชัยชาญ เป็น ส.ส. ในจังหวัดเดิมแต่การเลือกตั้งครั้งก่อนสังกัดพรรคชาตินิยม สำหรับนายมนัส เป็น ส.ส. ในสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลาเป็นครั้งแรก

และเมื่อจอมพล สฤษดิ์ รัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และ "คณะปฏิวัติ" ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 8 ลงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ประกาศยกเลิก พ.ร.บ. พรรคการเมือง พ.ศ. 2498 มีผลให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวสิ้นสุดลงไปด้วย

"ด้วยคณะปฏิวัติเห็นว่า สถานการณ์ของประเทศในเวลานี้ไม่สมควรที่จะให้มีพรรคการเมือง ฉะนั้น จึงให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 บรรดาพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ให้เป็นอันสิ้นสุดลง และจะตั้งขึ้นใหม่มิได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"

หากอนุมานจากการที่พรรคเสรีมนังคศิลาเป็นพรรคการเมืองพรรคแรก ตาม พ.ร.บ. พรรคการเมืองของไทยแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า "พรรคเสรีมนังคศิลา" เป็นพรรคการเมืองพรรคแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกยุบพรรค เป็นการปิดฉากพรรคการเมืองของจอมพล ป. ที่มีอายุเพียง 3 ปี 21 วัน

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์