“อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” อนุสาวรีย์ “สามัญชน” ผู้ยิ่งใหญ่


“อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” อนุสาวรีย์ “สามัญชน” ผู้ยิ่งใหญ่

ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) หรือ "ย่าโม" เป็นที่เคารพนับถือของชาวโคราชอย่างยิ่ง มีการสร้าง "อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" ขึ้นที่หน้าประตูชุมพล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอนุสาวรีย์ย่าโมนี้ ถือเป็น "อนุสาวรีย์สามัญชน" แห่งแรกของไทยก็ว่าได้

ท้าวสุรนารี เป็นสตรีสามัญชน มีเรื่องเล่าสืบมาว่าใน "ศึกเจ้าอนุวงศ์" สมัยรัชกาลที่ 3 ท้าวสุรนารีมีบทบาทเป็นผู้นำในการต่อต้านการรุกรานของเจ้าอนุวงศ์ที่โคราช ซึ่งด้วยไหวพริบอันเฉียบแหลมของท้าวสุรนารี ทำให้ทหารของเจ้าอนุวงศ์ไม่สามารถรุกเข้ากรุงเทพฯ ได้

วีรกรรมของท้าวสุรนารีจึงได้รับการยกย่อง กระทั่งนำสู่การสร้างอนุสาวรีย์ในที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ เล่าประเด็นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี "อนุสาวรีย์สามัญชน" ไว้ในหนังสือ "การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรมสยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม" (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม โดยเน้นความเสมอภาคในสังคม ซึ่งเป็น 1 ในหลัก 6 ประการ ที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

งานศิลปกรรมยุคนั้น โดยเฉพาะงานประติมากรรมจะถูกถ่ายทอดออกมาด้วยลักษณะงานที่เน้นแสดงออกถึงลีลาและท่าทีขึงขัง ดุดัน ถ้าเป็นภาพปั้นรูปคนก็จะดูกำยำ แสดงท่าทางเคลื่อนไหวเต็มไปด้วยพลังแข็งแรง และมักเป็นการปั้นรูปคนธรรมดาสามัญ วิถีชีวิตชาวบ้านชาวนาธรรมดา หรือไม่ก็ทหาร ไม่นิยมปั้นเป็นรูปเทพเทวดาหรือวีรบุรุษทางประวัติศาสตร์ ที่ส่วนใหญ่เป็นกษัตริย์แต่อย่างใด

เรื่องนี้ปรากฏหลักฐานในหนังสือ "สาส์นสมเด็จ" ตามที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวกับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งมีการปั้น "อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" ว่า

"...เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจแล้วได้แนะนำว่า เราไม่รู้จักหน้าตาเป็นอย่างไรไม่รู้ ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า... มาเมื่อก่อนหน้าที่จะเขียนหนังสือถวายนี้ไปเห็นปั้นตัวเบ้อเร่ออย่างที่ทูลมา ถามว่าทำไมไม่ทำเป็นรูป Allegory แกบอกว่าเขาไม่เอา..."

อ. ชาตรี บอกว่า เหตุที่รัฐบาลไม่ต้องการจะปั้นรูปท้าวสุรนารีให้เป็นรูปเทวดานางฟ้านั้น น่าจะมาจากรูปแบบดังกล่าวไม่สามารถสื่อความหมายของสามัญชนได้ และการปั้นรูปเทวดานางฟ้าย่อมหนีไม่พ้นจะต้องปั้นด้วยลักษณะเครื่องประกอบตกแต่งอันวิจิตรตระการตาสมกับเป็นเทพ

ภาพลักษณ์ดังกล่าว คณะราษฎรย่อมไม่ต้องการ แม้แต่จะปั้นเป็นรูปผู้หญิงนั่งบนเตียง มีเครื่องยศพานหมากกระโถน อันแสดงออกถึงยศศักดิ์ประกอบอยู่ข้างๆ ก็ยังไม่ได้ สุดท้ายจึงเป็นเพียงรูปผู้หญิงยืนโดยไม่มีเครื่องยศประกอบ

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และ พระเทวาภินิมมิต ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวโคราช สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2476

ข้อมูลจากกรมศิลปากรระบุว่า อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 250 เซนติเมตร หน้าประตูชุมพล (ประตูเมืองนครราชสีมาด้านทิศตะวันตก) มีพิธีเปิดในช่วงต้น พ.ศ. 2477

พ.ศ. 2475-2481 เป็นช่วงเวลาที่ อ. ชาตรี เห็นว่า ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากสุดช่วงหนึ่ง ก่อนจะถูกปกครองด้วยระบบกึ่งเผด็จการในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ระยะเวลา 6 ปีนั้น มีอนุสาวรีย์ที่ริเริ่ม 3 แห่ง แต่สำเร็จลุล่วงจริงมี 2 แห่ง คือ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่โคราช และ อนุสาวรีย์ปราบกบฏ (อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ) ที่หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ส่วนอนุสาวรีย์ที่ริเริ่มแต่ไม่สามารถสร้างได้ คือ อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ที่วงเวียนใหญ่ (มาแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2492)

ด้วยเหตุนี้ อ. ชาตรี จึงสรุปว่า ภาพลักษณ์ความเป็นสามัญชนของท้าวสุรนารีผู้เป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ แต่สามารถสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่แก่ชาติบ้านเมืองได้นั้น...

"ช่วยส่งเสริมให้เห็นบทบาทแห่งความเป็นสามัญชนของคณะราษฎรที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศจากความล้าสมัยมาสู่ความเป็นสมัยใหม่ (ในมุมมองของคณะราษฎร) ได้เป็นอย่างดี"



เครดิตแหล่งข้อมูล :
silpa-mag


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์