ชุดพิธีการ ของแต่ละประเทศ ในโอลิมปิก เริ่มขึ้นเมื่อไหร่?


ชุดพิธีการ ของแต่ละประเทศ ในโอลิมปิก เริ่มขึ้นเมื่อไหร่?

เป็นที่ฮือฮากันในโลกโซเชียล หลังประเทศไทยประกาศชุดพิธีการ "โอลิมปิก เกมส์ ปารีส 2024" ที่มีสีฟ้า ทักถอด้วยผ้าไหม เกิดข้อถกเถียงกันมากมาย บางคนก็คิดว่าไม่สวย ไม่เหมาะกับการใส่ไปเมืองแห่งแฟชั่นอย่างปารีส แต่บางคนก็คิดว่าสวย เหมาะสม และนำเสนอประเทศไทยได้อย่างดีเยี่ยม

แต่บทความนี้ไม่ได้มาพูดถึงเรื่องเครื่องแบบของประเทศไทย แต่จะพาทุกคนย้อนอดีตและไขคำตอบว่า "ชุดพิธีการ" ของโอลิมปิก เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่?


"ชุดพิธีการ" ของโอลิมปิก เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่?

อย่างที่ทราบกันดีว่า การแข่งขันโอลิมปิกยุคโบราณจะให้ผู้เข้าแข่งขันเปลือยกาย จนกระทั่งเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ (Modern Olympics) ก็เกิดการคิดค้นและพยายามนำเสนออะไรให้แตกต่างออกไปจากเดิม หนึ่งในนั้นคือเรื่องเครื่องแต่งกาย 

ในรายงานการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรก ที่ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ค.ศ. 1896 ได้ระบุไว้ว่า มีผู้ชายสวมชุดกรีกโบราณผสมปนเปไปกับชาวยุโรปในชุดสูท ส่วนผู้ที่เข้ามาร่วมชมกีฬา จะมีบางกลุ่มแต่งตัวคล้ายกัน เช่น ทีมมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ที่ใส่ชุดสีขาวล้วนและสวมสายสะพาย

ส่วนในปี 1900 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็มีนักกีฬาประเภททีมใส่ชุดเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ได้มีการสวมชุดพิธีการแบบที่เห็นในปัจจุบัน 

กระทั่งมีการประชุมโอลิมปิกครั้งที่ 4 ที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ค.ศ. 1906 จากรายงานการประชุมจะเห็นว่า ที่ประชุมพยายามหวังให้มีการเฉลิมฉลองที่สามารถนำกีฬาและศิลปะมาข้องเกี่ยวกันได้ และแนะนำให้มีการเฉลิมฉลองควบคู่ไปกับการแข่งขันกีฬา เช่น การเฉลิมฉลองบนท้องถนน อย่าง พาเหรด มีดนตรี เครื่องแต่งกาย เพื่อเพิ่มสีสันให้พิธีสมบูรณ์

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้โอลิมปิก ค.ศ. 1908 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีผู้คนสวมชุดต่าง ๆ ในขบวนพิธีเปิด ชาวออสเตรเลียสวมใส่ชุดที่มีสัญลักษณ์บ่งบอกให้เห็นถึงความเป็นทีมเดียวกัน ส่วนนักกีฬาชาวสหรัฐฯ ก็สวมสูทในพิธีเปิดปีนั้นอีกด้วย 

แม้ว่าจะยังไม่ปรากฏการแต่งชุดพิธีการแบบเป็นรูปเป็นร่างเหมือนปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปีนั้นได้เริ่มมีการแต่งตัวให้เหมือนกัน ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันบ้างแล้ว

จน ค.ศ. 1912 ได้มีการจัดโอลิมปิก ที่ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน แต่ละประเทศก็แต่งตัวให้คล้ายคลึงหรือเหมือนกัน อย่างเช่นแคนาดาที่ใส่เสื้อยืดลายใบเมเปิ้ล เหมือนกับธงประจำชาติ พร้อมกับกางเกงขาสั้น หรืออังกฤษที่มีการใส่ชุดสูทที่มีลักษณะคล้ายกันเดินสวนสนามในงานพิธีเปิด

ต่อมา จึงเริ่มมีการใส่ชุดเหมือนกัน เพื่อบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าใครมาจากประเทศอะไร และพัฒนากลายมาเป็น "ชุดพิธีการ" อย่างในปัจจุบัน

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์