เปิด 5 กลุ่มโรค ที่ชนชั้นสูงอยุธยา มักป่วยกันมาก


เปิด 5 กลุ่มโรค ที่ชนชั้นสูงอยุธยา มักป่วยกันมาก


สมัยกรุงศรีอยุธยา มีตำราการแพทย์ชื่อว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ที่รวบรวมตำรับยาหลวงไว้ปรุงถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) เพื่อรักษาบรรเทาอาการของโรคต่างๆ นับเป็นหลักฐานด้านการแพทย์เก่าแก่ที่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน

กำพล จำปาพันธ์ พูดถึงความสำคัญของตำรานี้ไว้ในหนังสือ "มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex" (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

พ.ศ. 2460 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกหอพระสมุดวชิรญาณในขณะนั้น จัดหาหนังสือตำราแพทย์มาตีพิมพ์แจกเพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาแพทย์พงษาธิบดี

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเลือกตำราพระโอสถพระนารายณ์จากต้นฉบับหอสมุดไทยโบราณมาตีพิมพ์แจกในงาน

ในพระนิพนธ์ "คำนำ" ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2460 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุถึงคุณค่าของเอกสารนี้ในฐานะตำราคู่มือว่า

"ได้ทราบว่า มีผู้ประกอบยาตามตำรานั้นรักษาโรค ว่าได้ผลดี กรรมการมีความยินดีที่ได้ทราบความอันนี้ เชื่อว่าตำราพระโอสถสมเด็จพระนารายณ์ที่พิมพ์ในเล่มนี้ ก็คงเป็นยาดีเหมือนกัน ด้วยเปนของได้ทดลองมาแล้ว เหมือนกับตำรายาที่ได้พิมพ์มาแต่ก่อนทั้ง ๒ เล่ม ถ้ารู้จักใช้ก็คงจะเปนประโยชน์ แต่ต้องขอตักเตือนซ้ำอีกครั้ง ๑ ว่า ถ้าผู้จะประกอบยามิใช่หมอ ควรปฤกษาหารือกับหมอที่ได้ร่ำเรียนรู้จริงๆ เสียก่อน ทำตามคำแนะนำของหมอ ทั้งในการประกอบแลในการใช้ยาในตำราพระโอสถนี้ จึงจะไม่ตั้งอยู่ในความประมาท"

เจ้านายและขุนนางอยุธยาป่วยด้วยโรคอะไรกันบ้าง?

กำพลเล่าในหนังสือว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ระบุแนวโน้มโรคที่เจ้านายและขุนนางอยุธยาป่วยกันมาก แบ่งเป็นกลุ่มโรค 5 ชนิด ได้แก่

โรคและอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการลงท้อง, เบื่ออาหาร, เจ็บในท้อง, ริดสีดวงทวาร, อาเจียน, ท้องขึ้น, ท้องพอง, พยาธิในลำไส้, ลมจุกเสียด

โรคและอาการที่เกี่ยวกับเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และประสาท เช่น อาการเส้นตึง, เส้นกล่อน, เส้นอัมพฤกษ์, อัมพาต, ตะคริวจับ, เมื่อยขบ

โรคและอาการของระบบการหายใจและโรคตา เช่น เป็นหวัด, คัดจมูก, ปวดศีรษะ, ปวดจมูก, ริดสีดวงจมูก, เลือดกำเดา, ปวดตา, ไอ, มองคร่อ (โรคหลอดลมโป่งพอง มีเสมหะแห้งเหนียวในลำคอ ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง)

โรคติดเชื้อ เช่น เป็นฝีแบบต่างๆ, เป็นแผลเปื่อย, เป็นหนอง, เป็นฝีในหู, กามโรค (ซิฟิลิส), ไส้ด้วน, ไส้ลาม, จุกกระผาม, ม้ามย้อย (ไข้จับสั่น)

โรคและอาการไม่สบายอื่นๆ เช่น ไข้ต่างๆ, ถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย, ผมร่วง, ปัสสาวะไม่ออก


แม้เวลาจะผ่านมากว่า 3 ศตวรรษ แต่ทั้ง 5 กลุ่มโรคก็ยังสามารถพบได้แพร่หลายในยุคปัจจุบัน

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpamag


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์