โลหิตจางจากการขาดเหล็ก

โลหิตจางจากการขาดเหล็ก


โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในผู้ใหญ่ หมายถึงภาวะที่มีระดับเฮโมโกลบินในเลือดต่ำ ชายต่ำกว่า ๑๓.๕ กรัม/เดซิลิตร หญิง ต่ำกว่า ๑๑.๕ กรัม/เดซิลิตร

และลักษณะรูปร่างของเม็ดเลือดแดงเปลี่ยนไปจากปกติ สาเหตุมักจะเกิดจาก
  • การบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อยเกินไป เช่น ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ธัญพืช หรือบริโภคน้อยเกินไป
  • การดูดซึมธาตุเหล็กไม่ดี เนื่องจากบริโภคผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีน้อยเกินไป การดูดซึมผิดปกติแบบเรื้อรัง หรือการผ่าตัดลำไส้ บริโภคอาหารประเภทรำข้าวมากเกินไป ทำให้ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก
  • การสูญเสียธาตุเหล็กจากร่างกายอย่างมาก เพราะมีการเสียเลือดเฉียบพลันเช่น อุบัติเหตุ คลอดลูก หรือการเสียเลือดเรื้อรัง เช่น มีประจำเดือนมาก หรือมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
  • ภาวะที่ร่างกายต้องการธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ภาวะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกถี่หรือตั้งครรภ์แฝด วัยรุ่น และวัยเด็ก
ดังนั้นบุคคลต่อไปนี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะขาดธาตุเหล็กหรือเป็นโรคโลหิตจาง อาการที่ชัดเจนของโลหิตจางคือ ซีดเหลือง เหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ เบื่ออาหาร ใจสั่น หายใจลำบาก
  • ในเด็กมักจะมีปัญหาด้านพัฒนาการสติปัญญา การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ขาดสมาธิในการเรียนรู้
  • ส่วนผู้ใหญ่มักมีอาการอ่อนเพลียและนำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง
 
สาเหตุการขาดธาตุเหล็กในแต่ละกลุ่ม ได้แก่
  • ทารก และเด็กที่หย่านมช้า หรือดื่มนมวัวไม่ได้ให้นมแม่ในขวบปีแรก บริโภคเนื้อสัตว์น้อย
  • เด็กวัยเรียน ขาดความหลากหลายของอาหาร รับประทานแต่ขนมขบเคี้ยวแทนอาหารหลัก รับประทานเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้น้อย
  • วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเพศหญิง ผู้ที่เป็นแบบมังสวิรัติแบบเคร่ง หรือผู้ที่ต้องจำกัดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก รับประทานอาหารไม่สมดุล ขาดอาหารมื้อเช้า รับประทานอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องเป็นประจำ
  • หรือผู้สูงอายุที่มีอาการเบื่ออาหาร ฟันเคี้ยวลำบาก และมีการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น ติดเชื้อ ตับอักเสบ
ธาตุเหล็กในอาหารมี ๒ ชนิดคือ ธาตุเหล็กในเนื้อแดง และธาตุเหล็กในพืช การดูดซึมของธาตุเหล็กในเนื้อแดงดีกว่าในพืช และอาหารที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี

ถ้าเราบริโภคธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงได้น้อยทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ดังนั้น ถ้าทราบว่าเราเป็นโรคโลหิตจาง หรืออยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยง จำเป็นต้องเปลี่ยนอาหารที่บริโภคให้มีสัดส่วนพอดี มีธาตุเหล็กและวิตามินซีเพิ่มขึ้น

 
เคล็ดลับการกินเพื่อป้องกันโลหิตจาง
      ๑. กินอาหารตามมื้อปกติอย่างสมดุลและเพียงพอ โดยเฉพาะมื้อเช้าอาหารสัดส่วนสมดุล ได้แก่
  • อาหารข้าว แป้ง ธัญพืช และขนมปัง ควรเป็นชนิดซ้อมมือหรือโฮลวีท และเสริมธาตุเหล็กร่วมกับวิตามินซี รับประทานวันละ ๘-๑๒ ทัพพี
  • ผักและผลไม้ควรรับประทานเป็นประจำทุกมื้อ โดยเฉพาะผักใบเขียว และผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ แคนตาลูป เมลอน มะเฟือง สตรอว์เบอรี่ กีวี สับปะรด ส่วนผักที่มีวิตามินซีสูงได้แก่ พริกหวาน ผักบุ้ง คะน้ำ ตำลึง พริก มะเขือเทศ บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ บีทรูท ถั่วหวาน มันฝรั่ง มันเทศ ผักกาด เป็นต้น ดังนั้น จึงควรรับประทานผักและผลไม้ร่วมด้วยทุกวัน เพื่อช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก โดยรวมกันให้ได้ประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อวัน ง่ายๆ เช่น ให้มีผักในมื้ออาหาร ๒-๓ ทัพพี และผลไม้มื้อละ 1 อย่าง ควรมีความหลากหลายของชนิดอาหาร
  • เนื้อสัตว์ ปลา และอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ เนื้อแดงเป็นแหล่งธาตุเหล็กที่ดีที่สุด และดูดซึมง่าย ควรเลือกเนื้อแดงไม่ติดมัน เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ตับ เครื่องในสัตว์ ปลาทะเล เช่น ปลาซาร์ดีน ทูน่า เป็นต้น ถั่วต่างๆ และไข่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นมังสวิรัติควรรับประทานถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ให้เพียงพอ วันละ ๑-๒ ถ้วยตวง
      ๒. รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี ๑๒ และโฟเลท เนื่องจากจำเป็นต่อกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง ได้แก่ ตับ เนื้อไก่ เนื้อวัว ปลาเนื้อขาว หอย และข้าวซ้อมมือ ซึ่งมักจะเป็นแหล่งอาหารของธาตุเหล็กอยู่แล้ว นอกจากนี้ในพืชยังมีโฟเลทสูง เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บรอกโคลี กระเจี๊ยบ บีทรูท ผักใบเขียว ผักกาด แขนงผัก เป็นต้น
      ๓. หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่มีผลยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น แคลเซียมและคาเฟอีน ดังนั้น ไม่ควรรับประทานยาแคลเซียมเม็ดพร้อมกับธาตุเหล็ก ขณะเดียวกันควรงดเครื่องดื่มชา กาแฟ และหากจะดื่มนมควรดื่มหลังอาหาร
      ๔. ระวังอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เช่น ขนมเค็ก อาหารทอด ช๊อกโกแลต ของหวาน ไม่ควรบริโภคมาก เพราะจะมีผลให้ขาดสารอาหารอื่นๆ ได้ เนื่องจากรับประทานในมื้อหลักได้น้อยลง
      ๕. ถ้าเป็นมังสวิรัติจำเป็นต้องบริโภคอาหารทดแทนเนื้อสัตว ซึ่งเป็นแหล่งที่ดีของธาตุเหล็ก เช่น ธัญพืชเสริม เหล็ก ถั่วต่างๆ ผักใบเขียวก็เป็นแหล่งธาตุเหล็กที่ดี และควรบริโภคผลไม้และน้ำผลไม้ให้มาก เพื่อจะได้วิตามินซี ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก
สรุปร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีนั้น ผู้ที่อยู่ในภาวะโลหิตจางควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ไก่ เนื้อ หมู หรือปลา รวมถึงผลไม้ที่มีส่วนประกอบของวิตามินซี ขณะเดียวกันให้เลี่ยงอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น แคลเซียม และ คาเฟอีน โรคโลหิตจางสามารถป้องกันและรักษาได้ อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกอาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามินบี ๑๒ และกรดโฟลิกได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอหรือไม่รวมทั้งรู้จักเลี่ยงอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก เพียงเท่านี้ภาวะโลหิตจางก็ไม่สามารถคุกคามคุณได้

โดย พี่ทิพ 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์