เตือนภัย หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

เตือนภัย หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท


"หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท" อีกโรคฮิตคนเมือง

มีใครบ้างที่ในชีวิตนี้ไม่เคยปวดหลัง ?

ทายว่าไม่มีใครยกมือเลยละสิ เพราะอาการปวดหลังนั้นเป็นโรคคู่กับชีวิตการทำงานมาโดยตลอด ยิ่งในช่วงภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ การทำงานยิ่งต้องมุ่งมั่นตั้งใจจนแทบลืมความเจ็บป่วยของร่างกาย

เคยคิดกันไหมว่าอาการปวดหลังเป็นๆ หายๆ คู่กับชีวิตของเรานั้น หากไม่แก้ไขให้ดีจะเรื้อรังกลายเป็นโรคชื่อยาวๆ ว่า
"โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท"

โรคที่ว่าสามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีอายุช่วง 20 ปีขึ้นไป โดยอาการที่พบได้ คือ ปวดหลังร้าวลงขา มีอาการชาตั้งแต่เอวร้าวลงขา หรือหลังเท้า กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ส่งผลให้การควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระผิดปกติ โดยสาเหตุเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บที่หมอนรองกระดูก และอาจพบได้ในกิจวัตรประจำวัน เช่น ยกของหนักหรือยกของผิดท่า การออกกำลังกายผิดท่าหรือรุนแรง รวมไปถึงการเสื่อมของหมอนรองกระดูกตามอายุ หรือการใช้งานกระดูกสันหลังหนักมากเกินไป ทำให้กระดูกสันหลังทรุดลงจนกดทับเส้นประสาท

น.พ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ศัลยแพทย์ระบบประสาท คลินิกศัลยกรรมกระดูกสันหลังผ่านกล้อง โรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวว่า โดยทั่วไปคนทำงานนั่งโต๊ะมักจะมีอาการ "ปวดหลัง" ซึ่งบริเวณที่มีปวดแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงเอว-ก้นกบ และต้นคอ สะบัก หัวไหล่ เหล่านี้จะเกิดจากการที่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นระยะเวลานาน อย่างเช่นเวลานั่งโต๊ะทำงานแล้วเราไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ การที่เราอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน น้ำหนักตัวจะลงที่หมอนรองกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกก็จะถูกบีบอัดเป็นเวลานาน อาทิ นั่งทำงานแค่ครึ่งก้น หรือนั่งในท่าที่ผิดปกติ

อาการปวดหลังที่เกิดขึ้นจากหมอนรองกระดูกปลิ้น ฉีกขาด หรือกดทับเส้นประสาทจะปวดหลังร้าวลงถึงขา เพราะเส้นประสาทจะวิ่งลงไปที่ขา ที่เราเรียกว่า "หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท" คนทั่วไปจะคิดว่าเกิดจากการเล่นกีฬาที่ผิดท่า หรือยกของหนัก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เกิดจากการบาดเจ็บครั้งเดียว ทว่าเกิดจากการสะสม การบีบอัดหมอนรองกระดูกนานๆ

นอกจากปวดหลังแล้ว
"ปวดคอ" ก็เป็นอีกอาการยอดฮิตไม่แพ้กัน คุณหมอบอกว่าที่กระดูกคอก็สามารถเป็นหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทได้

"ปกติกระดูกคอคนเราจะอยู่ในท่าแหงนนิดๆ แต่การทำงานเราจะก้มหน้า นานๆ ไปหมอนรองกระดูกคอก็จะกดทับเส้นประสาท คล้ายกับที่กระดูกเอว พอถึงจุดหนึ่งหมอนรองกระดูกก็จะกดทับเส้นประสาทที่คอ แล้ววิ่งไปที่แขน ทำให้แขนชา หรืออ่อนแรง อาการคล้ายๆ กัน แต่ปวดไล่จากคอไปเลย บางกรณีปวดถึงปลายนิ้ว หรือชาที่ปลายนิ้ว อาการที่คอไม่รุนแรงเท่าที่เอว เนื่องจากกระดูกคอรับน้ำหนักแค่ศีรษะเท่านั้น ส่วนมากพักแค่ 3-5 วันให้กินยา เดี๋ยวก็หายไป แต่อาการที่คอจะเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ไม่รุนแรงเท่าที่เอว ซึ่งจะปวดจนเดินไม่ได้"

ในส่วนของ "การป้องกัน" ไม่ให้เกิดโรคนี้นั้น คุณหมอบอกว่าทำได้ง่ายๆ แค่ปรับท่าทางการทำงาน เวลาที่นั่งทำงานก็ต้องนั่งให้เต็มก้น, อิงพนักเก้าอี้, เลื่อนเก้าอี้เข้ามาให้ใกล้กับโต๊ะทำงาน, เลือกเก้าอี้ที่ซัพพอร์ตกับร่างกาย เพราะเอวเราต้องแอ่นเล็กน้อยเวลานั่ง และไม่ยกของในท่าที่ผิด สำหรับผู้หญิงไม่แนะนำให้ใส่รองเท้าส้นสูงมากๆ (อาจจะใส่ได้บ้าง แต่ไม่ควรใส่นาน) เพราะเวลาที่ใส่รองเท้าส้นสูงน้ำหนักจะเทไปข้างหน้า ทำให้ต้องแอ่นหลังสู้ นานๆ เข้าก็มีผลถึงกระดูกสันหลังเช่นกัน

อีกทั้งการออกกำลังกายทำให้ช่วงหลังแข็งแรงก็จำเป็น โดยเฉพาะช่วงกล้ามหลังและกล้ามท้องให้แข็งแรง เพราะจะช่วยป้องกันส่วนหลังของเราเอาไว้ได้

สำหรับ "การรักษา" ส่วนใหญ่ถ้าเป็นการปวดกล้ามเนื้อคุณหมอจะให้รับประทานยาระงับปวด เพื่อลดการอักเสบ ทำกายภาพและฉีดยาลดการอักเสบที่เส้นประสาทและพักผ่อน ซึ่งถ้าอาการไม่รุนแรงมาก 3-5 วันก็หาย แต่ถ้าเกิน 1 อาทิตย์แล้วยังไม่หาย อันนี้หมอแนะนำว่าควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะถ้าปวดรุนแรงที่แขนหรือขา เนื่องจากอาจจะเกี่ยวกับเส้นประสาท (แต่ถ้าปวดที่หลังจะเป็นกล้ามเนื้อเสียเป็นส่วนมาก)

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์