ทางออกคนเป็นหนี้

ทางออกคนเป็นหนี้


ทุกข์ของคนเป็นหนี้


นางสาวพศนา บุญทอง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาพปัญหาของคนเป็นหนี้ว่า การเป็นหนี้นั้นมี 2 ระบบคือ เป็นหนี้ในระบบ นั่นก็คือหนี้บัตรเครดิตทีทำธนาคารหรือบริษัทต่างๆ และนอกระบบนั่นก็คือผู้ให้เงินกู้ต่างๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ทั่วไปทั้งเสาไฟฟ้า ใบปลิวต่างๆ เป็นต้น

ปัญหาหลักของผู้เป็นหนี้นอกจากต้องหาเงินมาชำระเจ้าหนี้แล้ว ระบบการทวงหนี้ที่ก่อให้เกิดความอับอ้ายก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งนั่นคือมีการส่งแฟกซ์มาจะประจานที่ทำงาน หรือโทรศัพท์ไปทวงหนี้ที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งมีการข่มขู่ให้ชำระหนี้โดยเร็ว และบริษัทที่รับทวงหนี้นั้นเป็นผู้รู้กฎหมาย

จากลักษณะการทวงหนี้ต่างๆนั้น ทำให้ลูกหนี้บางรายต้องตกงาน เพราะทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงและบั่นทอนคุณภาพการทำงาน ทำให้ลูกหนี้บางรายคิดฆ่าตัวตายเพื่อหนี้ปัญหา อย่างล่าสุดมีผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาร้องเรียนต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า เขาได้พยายามฆ่าตัวตายมา 2 ครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพราะเมื่อคิดว่าลูกจะทำอย่างไรเมื่อตนตายไปแล้ว เขาก็เลิกล้มความตั้งใจ และเล่าวนไปวนมา ต้องพาไปหาหมอก่อนจึงจะคุยกันรู้เรื่อง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกล่าว


การทวงหนี้โหดๆ โดยนักกฎหมายทำได้หรือไม่


คุณเสงี่ยม บุญจันทร์ รองโฆษกสภาทนายความ ให้ความเห็นต่อกรณีการทวงหนี้โหดของนักกฎหมายหรือทนายความว่า ไม่สามารถกระทำการข่มขู่หรือประจานได้ถือเป็นความผิด หากพบว่าทนายความทำผิดจริงสามารถร้องเรียนได้ หรือการออกเอกสารต่างๆ เป็นการข่มขู่ว่าจะเอาไปติดคุกบ้าง ซึ่งนั่นถือเป็นความผิดทางแพ่งจะเอาผิดทางอาญาไม่ได้ หรือโดยใช้การขู่เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้เร็วอย่างหนึ่งคือการพาคนอื่นไปทำลาย ไปข่มขู่ในลักษณะอย่างนั้น ผู้บริโภคสามารถแจ้งความได้ เช่นการกรรโชกทรัพย์ การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาในลักษณะต่างๆ เช่นส่งแฟกซ์ การเขียนป้ายประจาน หรือการพาคนไปประจานหน้าที่ทำงาน เป็นต้น

แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าบุคคลนั้นเป็นทนายหรือไม่ สามารถตรวจสอบชื่อได้ที่ สภาทนายความทั่วประเทศ เพราะทนายความทุกคนจะต้องทำการขึ้นทะเบียน

ในกรณีหนี้นอกระบบ สภาทนายความก็ได้รับเรื่องร้องเรียนเช่นกัน โดยจะมองประเด็นไปที่การคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา หรือการทำสัญญาผิดรูปแบบเช่นทำไว้ 1,000 บาท ไปเขียน 10,000 บาท เป็นต้นนั่นถือว่าสัญญาเป็าโมฆะ และการทวงหนี้นั้นหากพาคนไปข่มขู่ลูกหนี้นั้น ถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งสามารถเอาผิดได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลหนี้ต่างๆที่มีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และดอกเบี้ยก็เป็นโมฆะ ส่วนเงินต้นหากมีหลักฐานชัดเจนก็ว่ากันไปตามจริง


คนเป็นหนี้ลักษณะไหน


ถามถึงลักษณะการเป็นหนี้ของประชาชน รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้ข้อมูลว่าหนี้ภาคครัวเรือนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากจาก 75,000 บาทต่อครัวเรือนเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน 110,000 บาท ต่อครัวเรือน คิดรวมทั้งประเทศประมาณ160,000 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าในปี 2544 2546 มีอัตราการเพิ่มของหนี้มากกว่าการเพิ่มของรายได้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆก็ไม่มากนัก แต่ถ้าหากรายได้ผันผวน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนไป หรือสถานการณ์การจ้างงานเปลี่ยนไป ทุกคนก็เดือดร้อน

หากมองในภาพรวมอาจจะเป็นไม่ปัญหา แต่เมื่อมองแยกออกมาเป็นส่วนน้อยนั้น บางครัวเรือนมีหนี้ถึง 3 แสน 4 แสน บาท และรายได้ก็น้อย จากการไม่มีงานทำ ผมไม่อยากให้มองดูแต่เพียงภาพรวมเพียงอย่างเดียว ต้องดูทิศทาง และมองปัญหาของคนส่วนน้อยที่เป็นหนี้มากด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว


ทำไมคนถึงเป็นหนี้


หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกล่าวถึงสาเหตุของการเป็นหนี้ของผู้บริโภคว่า สาเหตุหลักๆมาจาก รัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจรายย่อยต่างๆ มีเงินเดือน 5,000 บาท มีบัตรเครดิตได้หลายใบ ส่วนที่สองคือคนปล่อยให้กู้ ซึ่งก่อนนี้จะปล่อยให้กู้เงินนั้นต้องมีข้อมูลว่าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ให้ได้หรือไม่ ส่วนที่สามคือผู้บริโภค

รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวถึงนโยบายกระตุ้นการบริโภคเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวว่านโยบายเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาของรัฐนั้นเป็นการลงทุนโดยภาครัฐ รัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปและเงินเหล่านั้นก็มาจากภาษีอากร อย่างโครงการเอื้ออาทรต่างๆ สุดท้ายก็ต้องใช้เงินของประชาชนขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง และการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคเอกชน ด้วยการใช้เครื่องมือของรัฐทั้งหลายที่จะให้เครดิต ให้เงินกู้ได้อย่างง่ายดาย ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไม่ยั่งยืน

การจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแท้จริงต้องเกิดจากการลงทุนจากเอกชน ที่มาจากการลงทุนจากต่างประเทศหรือการส่งออก หรือรายได้จากการท่องเที่ยว ถือเป็นการสร้างงานและไม่ก่อความเดือดร้อนให้ผู้คนด้วยนั่นถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และที่ง่ายที่สุดคือการบริโภค

ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกันได้เพราะบุคลากรมีคุณภาพ มีวิจารณญาณในการใช้จ่าย การมีหนี้ไม่ถือว่าไม่ดี สำคัญที่ว่ากู้มาทำอะไร ถ้ากู้มาเพื่อบริโภคถือว่าเป็นปัญหาเพราะค่าของที่ซื้อมาลดลงไปทุกวันๆ ถ้ากู้มาลงทุน หรือเพื่อการศึกษา เพื่อการผลิต เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต การกู้นั้นก็ไม่เป็นภาระ แต่ในประเทศของเราต้องยอมรับว่ายังขาดวิจารณญาณในการบริโภค ในการกู้ยืม อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กล่าว


มาตรการควบคุมการออกบัตรเครดิตและบริษัทเงินกู้


รองโฆษกสภาทนายความ กล่าวถึงมาตรการควบคุมการออกบัตรเครดิตนั้นต้องขึ้นกับนโยบายในภาครัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้เลย สามารถออกระเบียบในการทำบัตรเครดิต กำหนดรายได้ขั้นต่ำว่าจะต้องมีจำนวนเท่าใด ซึ่งตรงนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดูแลอยู่ รวมถึงต้องวางกฎเกณฑ์ทางการเงิน และพัฒนาระบบตรวจสอบลูกหนี้ก่อนให้กู้

ระเบียบในการใช้เงินของบุคคลหรือลูกหนี้ เราถือว่าใช้เงินกันโดยขาดระเบียบเห็นว่าอะไรง่ายก็จะแก้เพียงส่วนนั้น รัฐบาลต้องเข้ามาควบคุมอย่างจริงจัง รองโฆษกสภาทนายความกล่าว

รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้ความเห็นต่อมาตรการควบคุมของภาพรัฐว่า รัฐต้องดำเนินการออกมาตรการควบคุมอย่างจริงจัง อย่าง สคบ.ต้องมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค จะอ้างโน่นนี่ตามกฎหมายไม่ได้ และสถานบันการเงินต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง


ทางออกคนเป็นหนี้ควรจะเป็นอย่างไร


อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้ความเห็นว่าสำหรับผู้บริโภคที่มีปัญหาอยู่แล้วนั้นตัวผู้บริโภคเองต้องตระหนักว่าตัวเองมีปัญหา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค รวมถึงต้องศึกษากฎหมายก่อนการกู้เงินด้วย และไม่ต้องกังวลในการใช้หนี้ ต้องเลือกว่าจะใช้หนี้ใครก่อน หลังเลือกใช้หนี้รายใดรายหนึ่งและปรึกษาผู้รู้

อีกทั้งหน่วยงานรัฐเองต้องออกมาให้ข้อมูลข่าวสารกับผู้บริโภค เพราะปัจจุบันการตลาดมีกลไกที่ลึกซึ้งในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อได้อย่างแนบเนียนมาก อีกทั้งบัตรเครดิตต่างๆก็ได้มาอย่างง่ายดาย อีกทั้งได้รับการกระตุ้นจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในภาวะลำบาก รวมถึงขาดข้อมูลที่เท่าทัน อีกทั้งหน่วยงานรัฐอย่าง สคบ.ต้องออกมาดำเนินการอย่างจริงจัง

คุณเสงี่ยม บุญจันทร์ รองโฆษกสภาทนายความแนะทางทางออกกรณีที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบทางด้านสัญญากู้ยืมเงิน สามารถร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภคได้ หรือถูกฟ้องในเรื่องสัญญา ก็สามารถต่อสู้ได้ในประเด็นสัญญาไม่เป็นธรรมได้ อย่างเช่น กรณีที่ว่าจ่ายเงินต้นไปแล้วดอกเบี้ยยังไม่ลด กลายว่าดอกเบี้ยมาเป็นเงินต้น

หากยังไม่มีการฟ้อง เราสามารถดำเนินการตามกฎหมายก่อนได้โดยไปร้องที่ สคบ. แล้ว สคบ.จะเรียกคู่กรณีมาเจรจา และหากว่าชัดเจนว่าสัญญาไม่เป็นธรรมก็อาจจะออกระเบียบบังคับเป็นสัญญาควบคุม ซึ่งจะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่ายเป็นต้น

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์