คลอรีนในสระว่ายน้ำกับปัญหาสุขภาพ

สระว่ายน้ำที่มีอยู่ตามโรงแรม สถานศึกษาหรือหมู่บ้านชุมชนใหญ่ๆ มีความจำเป็นสำหรับการออกกำลังกายของผู้ชอบกีฬาว่ายน้ำ หรือไว้ใช้ฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬาว่ายน้ำ ทำให้สระว่ายน้ำมีผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก จึงมีโอกาสปนเปื้อนด้วยจุลินทรีย์จากร่างกายของผู้มาใช้บริการค่อนข้างมาก ด้วย ได้มีการนำสารประกอบคลอรีนมาใส่ในสระว่ายน้ำเพื่อฆ่าจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคต่างๆ ทั้งนี้ปริมาณคลอรีนในสระว่ายน้ำที่ใช้จะมีปริมาณ 0.6 – 1.0 ส่วนในล้านส่วน แต่ในปัจจุบันผู้ดูแลสระว่ายน้ำได้นำคลอรีนมาใส่ในปริมาณมากเกินไป หรือนำสารประกอบคลอรีนอื่นๆ มาใช้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้บริการได้ง่าย

คลอรีนในสระว่ายน้ำกับปัญหาสุขภาพ

อันตรายจากสารประกอบคลอรีนที่เรียกว่ากรดไตรคลอโรไอโซไซยานูริก ( Trichloro – isocyanuric acid )ในสระว่ายน้ำ

เมื่อไม่นานมานี้ทันตแพทย์หญิงจันทนา อี้งชูศักดิ์ กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และคณะนักวิจัยจากกองทันตสาธารณสุขได้ร่วมกับโรงเรียนการกีฬาจังหวัดขอนแก่น ได้ให้ข้อมูลในผลการวิจัย เรื่อง “ภาวะฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำ” โดยการตรวจสภาพฟันกร่อนของนักกีฬาว่ายน้ำจากโรงเรียนการกีฬาจังหวัดขอนแก่น จำนวน 18 คน พบว่าทุกคนมีสภาพฟันกร่อนอย่างรุนแรง เนื่องจากนักกีฬาว่ายน้ำได้สัมผัสกับน้ำในสระว่ายน้ำที่มีความเป็นกรดสูง เป็นเวลานาน เพราะสระว่ายน้ำดังกล่าวได้ใช้สารประกอบเคมีของคลอรีนที่เรียกว่า กรดคลอโรไอโซไซยานูริก หรือคลอรีน 90 % มาใช้ทำลายจุลินทรีย์หรือเชื้อโรค โดยที่คลอรีนดังกล่าวมีราคาถูก ยับยั้งการเจริญของตะไคร่น้ำได้ ทำให้น้ำใส แต่ปริมาณคลอรีนจะตกค้างในน้ำได้เป็นเวลานาน ทำให้สระน้ำมีความเป็นกรดเป็นเวลานานตามไปด้วย

 สำหรับภาวการณ์เกิดฟันกร่อนเป็นการสูญเสียเนื้อเยื่อแข็งของฟันเนื่องมาจากปฏิกิริยาทางเคมี ตามปกติแล้วถ้ารักษาฟันไม่สะอาดก็จะมีจุลินทรีย์มาเจริญปกคลุมเนื้อเยื่อฟัน ที่เรียกว่าแผ่นคราบจุลินทรีย์ จุลินทรีย์เหล่านี้จะเจริญและสร้างกรดออกมาทำลายสารเคลือบฟัน ทำให้สารเคลือบฟันบางลงเรื่อยๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ไปนานๆ จึงเกิดสภาพฟันกร่อนขึ้นมา อาการที่ปรากฏก็คือการเสียวฟันอยู่เสมอๆ

จากผลการวิจัยพบว่า นักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียนการกีฬาจังหวัดขอนแก่นได้ว่ายน้ำในสระน้ำที่มี ความเข้มข้นของกรดสูง โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 11.33 ชั่วโมง และอาการเสียวฟันจากการเกิดฟันกร่อน จะเกิดขึ้นหลังจากว่ายน้ำได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น ตามปกติแล้วนักกีฬาว่ายน้ำมีโอกาสเกิดฟันกร่อนมากกว่าผู้ที่ว่ายน้ำเพื่อการออกกำลังกาย ประมาณ 4.68 เท่า แต่นักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียนการกีฬาจังหวัดขอนแก่นที่ว่ายน้ำในสระน้ำที่ใช้สารประกอบคลอรีนที่เรียกว่ากรดไตรคลอโรโอโซไซยานูริก จะมีโอกาสเกิดฟันกร่อนได้มากเป็น 2.78 เท่า ของนักกีฬาว่ายน้ำที่ใช้สระว่ายน้ำที่มีสารประกอบคลอรีนอื่นๆ เช่น แคลเซียมไฮโปคลอไรต์ (calcium hypochlorite) และโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) อย่างไรก็ตาม นักกีฬาว่ายน้ำที่เป็นเด็กอายุ 5 – 6 ขวบ มีโอกาสเกิดฟันกร่อนมากกว่านักกีฬาว่ายน้ำผู้ใหญ่ โดยจะทำให้ฟันแท้ที่กำลังเกิดใหม่มีภาวะสึกกร่อน รวมทั้งมีการวางเรียงตัวที่ผิดปกติหรือผิดรูปร่างไปได้อีกด้วย

คลอรีนในสระว่ายน้ำกับปัญหาสุขภาพ

ตามปกติแล้ว ทางราชการได้มีข้อบังคับการควบคุมคุณภาพสระว่ายน้ำให้มีสภาพความเป็นกรด ด่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไว้แล้ว เช่น ข้อบังคับกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยหลักเกณฑ์การประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ ประเภทการจัดตั้งสระว่ายน้ำ พ.ศ.2530 ได้กำหนดให้สระว่ายน้ำมีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ที่ 7.2 – 8.4 ซึ่งเป็นสภาพของกรดและด่างอ่อนๆ และต้องควบคุมให้อยู่ในระดับนี้ทุกวัน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้มาใช้บริการ

ถ้าท่านเป็นนักกีฬาว่ายน้ำหรือเป็นผู้ที่มาใช้บริการสระว่ายน้ำเป็นประจำ ก็ควรจะได้มีการตรวจสุขภาพฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพราะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟันกร่อนได้ง่าย การตรวจสุขภาพฟันดังกล่าวจะทำให้ทราบว่ามีการเกิดภาวะฟันกร่อนหรือไม่ ถ้าหากพบว่ามีภาวะฟันกร่อนจะต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วนเพื่อลดอาการเสียวฟัน จะช่วยให้มีความปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย






ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์