กลัวอะไรแปลก ๆ

กลัวอะไรแปลก ๆ


ความกลัวเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่การกลัวอะไรแปลก ๆ เช่น กลัวในสิ่งธรรมดาที่คนทั่วไปเขาไม่กลัวกัน อย่างบางคนกลัวผักผลไม้  กลัวอาหาร สัตว์ สิ่งของบางอย่าง หรือสถานที่บางแห่ง ท่านผู้อ่านรู้หรือไม่ว่าคนเหล่านี้เขาเป็นอะไร และรักษาได้หรือไม่?
   
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน จิตแพทย์ รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภาวะดังกล่าวเรียกว่า “โรคกลัว” หรือ “โฟเบีย” (phobia) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโรควิตกกังวล แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
   
1. โซเชี่ยล โฟเบีย (Social phobia) หรือ “กลัวสังคม”  เวลา เผชิญหน้าผู้คนจำนวนมากในสังคมจะเกิดอาการกลัว ใจสั่น หน้ามืด อย่างตอนเด็ก ๆ เวลาออกไปหน้าชั้นเรียนแล้วขาสั่น ใจเต้นแรง พอโตขึ้นมาก็ยังเป็นอยู่น่าจะเข้าข่ายโรคกลัว
   
2. สเปซิฟิค โฟเบีย (Specific phobia) เป็นการ “กลัวเฉพาะบางอย่าง” เช่น กลัวเงาะ กลัวปลาทู กลัวเข็มฉีดยา กลัวเลือด กลุ่มนี้ถ้าไม่เจอสิ่งกระตุ้นจะไม่รู้สึกอะไร
   
“โรคกลัว” จะต่างจาก “ความกลัว”  โดย “ความกลัว” หรือ “เฟียร์” (fear) มักจะเป็นลักษณะที่คน    ส่วนใหญ่กลัวอะไรคล้าย ๆ กัน
เช่น กลัวสอบตก กลัวงูกัด แต่ถ้าเป็นโรคกลัว เขาจะกลัวมากแบบไม่สมเหตุสมผล กลัวอย่างที่คนทั่ว ๆ ไปไม่กลัว ทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยเองก็ทราบว่าไม่น่าจะกลัวขนาดนั้น อย่างเช่น กลัวงู สวนสัตว์ก็จะไม่ไปใกล้เลย ต้องหลีกเลี่ยง หรือเห็นงูในทีวีก็จะมีอาการใจสั่น รีบปิดทีวี มีความทุกข์ทรมานเกิดขึ้นอย่างมาก 
   
คนที่เป็นโรคกลัว มักจะมีอาการหลัก คือ พฤติกรรมพยายามหลีกหนีสิ่งที่กลัว  รู้สึกทรมานที่จะต้องเผชิญ และมีอาการทางกาย เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นแรง หายใจเร็ว เป็นลม  ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียน ตาลาย
   
โรคกลัว มักจะไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่โดยมากมักจะมีประสบการณ์ไม่ดีในวัยเด็กต่อสิ่งที่กลัว
 
เช่น กลัวที่แคบ ในวัยเด็กอาจจะถูกจับขัง พอโตขึ้นมาไปอยู่ในที่แคบ ๆ ก็เลยกลัว หรือบางคนถูกฉีดยาตั้งแต่เด็ก มีประสบการณ์ที่ไม่ดี เห็นเข็ม เห็นเลือด พอโตขึ้นมาก็จะมีอาการต่อสิ่งเหล่านี้มากกว่าคนอื่น อย่างบางคนกลัวปลาทู อาจเป็นไปได้ว่าก้างติดคอในวัยเด็ก มีประสบการณ์ไม่ดี คือ ถ้าจะบอกว่าใครเป็นโรคกลัวหรือไม่ ต้องเอาปลาทูมาวางไว้ต่อหน้า หากใจสั่น หัวใจเต้นแรง  ไม่อยากเผชิญหน้ากับมัน รู้สึกทรมานมาก แบบนี้จึงจะเข้าข่าย
   
โรคกลัวรักษาได้แต่อาจจะต้องใช้เวลา โดยการรักษาขึ้นอยู่กับว่าตัวคนไข้ทุกข์ทรมานกับการหลีกหนีหรือไม่ เช่น กลัวที่แคบแต่จำเป็นต้องขึ้นลิฟต์ทุกวัน แน่นอนว่าเขาจะต้องทุกข์ทรมาน แบบนี้ก็ควรมารักษา ซึ่งการรักษาจะมีหลักสำคัญคือ พฤติกรรมบำบัด และการใช้ยา
   
พฤติกรรมบำบัด เช่น กลัวปลาทู ช่วงแรกก็จะให้คนไข้จินตนาการก่อนว่ามีปลาทูวางอยู่ตรงหน้า แล้วให้เขานึกดูว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง
 
หรือคนที่กลัวที่แคบให้หลับตาจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในลิฟต์ อยู่ในที่แคบ ๆ  แล้วดูว่ามีอาการกลัว ใจสั่นหรือไม่ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที-1 ชม. ดูว่าคนไข้สามารถทำให้ตัวเองไม่กลัวได้หรือไม่ ถ้าทำได้วันต่อไปก็เพิ่มจำนวนชั่วโมงมากขึ้น จากนั้นค่อย ๆ ฝึกคนไข้ให้เคยชินกับสิ่งที่กลัว เช่น พาขึ้นลิฟต์ ให้คนไข้ได้ฝึกว่ามันไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิต ส่วนการใช้ยาก็มีส่วนช่วยกรณีใจสั่นมาก ๆ โดยกระบวนการรักษาทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน-1 ปี คนไข้จะดีขึ้น
   
ทั้งนี้มีหลายคนไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษา ส่วนหนึ่งอาจคิดว่าไม่ใช่โรครุนแรง ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สามารถหลีกเลี่ยงได้

  แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหว ถึงขั้นควบคุมอารมณ์ ควบคุมสติไม่ได้ ทำให้เกิดผลกระทบตามมา อย่างบางคนต้องออกสังคม ทำงานเกี่ยวกับสังคม แต่ถ้าเป็นโรคกลัวสังคม ก็อาจจะเกิดผลกระทบตามมา เช่น วิตกกังวลอย่างรุนแรง หรือบางคนถึงขั้นซึมเศร้า ทำงานทำการไม่ได้ เพราะกลัวมาก ก็จำเป็นที่จะต้องมาพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา
   
ประสบการณ์ที่เคยเจอ เช่น นักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาคนไข้ ต้องเผชิญเข็มฉีดยา และเลือดอยู่บ่อย ๆ พอให้เจาะเลือดทีไรหน้ามืดเป็นลมทุกที ทำให้เรียนลำบาก กรณีเช่นนี้ก็จะให้ฝึกจินตนาการ ฝึกความเคยชิน และการเผชิญหน้า โดยเอาเข็มมาวางไว้ให้ดู  รวมทั้งให้ยาช่วยก็จะทำให้เขาผ่อนคลายและหายกลัวได้
   
สิ่งสำคัญในการรักษาขึ้นอยู่กับคนไข้ด้วยว่าจะให้กำลังใจตัวเองหรือไม่ บางคนยิ่งกลัวยิ่งหลีกหนี การรักษาก็จะไม่ดีและไม่ได้ผล แต่ถ้าคนไข้พยายามให้กำลังใจตัวเอง พยายามต่อสู้ว่า สิ่งที่เขากลัวไม่ได้ทำอันตรายให้เขาเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ฝึกไปเรื่อย ๆ ให้เกิดความชิน เขาก็จะหาย สิ่งสำคัญคือต้องสู้
   
ควรจะไปพบจิตแพทย์เมื่อใด? นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ถ้าถึงขั้นต้องพยายามหลีกหนีสิ่งที่กลัว ทรมานที่จะต้องเผชิญ จนส่งผล กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์

ท้ายนี้อยากฝากว่าความกลัวเป็นเรื่องปกติก็จริง แต่ถ้าต้องหลีกหนีชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานจากความกลัว  ขอให้มาพบจิตแพทย์ เพราะโรคกลัวสามารถรักษาได้ หรือถ้าเห็นคนใกล้ชิดมีลักษณะแบบนี้ก็สามารถแนะนำให้มาพบจิตแพทย์ได้เช่นกัน.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์