ชมจันทรุปราคาเต็มดวง ครั้งแรกในรอบ 4 ปี

ชมจันทรุปราคาเต็มดวง ครั้งแรกในรอบ 4 ปี


ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ครั้งสำคัญ จันทรุปราคาเต็มดวง ครั้งแรกในรอบ 4 ปี  นานถึง 100 นาที

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เผยว่า ในคืนวันที่ 15 มิ.ย.ถึงเช้ามืดของวันที่ 16 มิ.ย. 2554 จะเกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ คือ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง เป็นครั้งแรกในรอบ 4  ปี หลังจากเกิดขึ้นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2550

สำหรับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ นอกจากจะเป็นแบบเต็มดวงครั้งแรกในรอบ 4 ปี แล้วยังเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่ยาวนานมากครั้งหนึ่งทีเดียว โดยดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามืดของโลกตั้งแต่เวลา  01.22 น. ของเช้ามืดวันที่ 16 มิ.ย.54 และเข้าสู่ช่วงคราสเต็มดวงตั้งแต่เวลา 02.22 น.จนถึง 04.03 น. รวมเป็นเวลาถึง 100 นาทีเต็ม ๆ  หรือ 1 ชั่วโมง 40 นาที 52 วินาทีที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลก ทั้งนี้หากจะนับปรากฏการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจะพบว่าการเกิดจันทรุปราคาครั้ง นี้กินเวลานานถึง 3 ชั่วโมง 39 นาที ซึ่งถือว่ายาวนานมากอีกด้วย

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ เป็นชุดซารอสที่ 130 เกิดขึ้นขณะที่ดวงจันทร์กำลังเคลื่อนที่ผ่านทางใต้ของกลุ่มดาวคนแบกงู และอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวคนยิงธนู  สำหรับผู้ที่เฝ้ารอชมจะเห็นเป็นดวงจันทร์สีแดงอิฐอยู่บริเวณทิศตะวันตก เฉียงใต้ สูงจากเส้นขอบฟ้าประมาณ 30 องศา ชมได้ด้วยตาเปล่าทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย หากท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีเมฆและไม่มีแสงไฟรบกวน แถมจะมีโอกาสเห็นทางช้างเผือกในคืนวันเพ็ญขณะที่ดวงจันทร์ถูกเงาโลกบดบัง ทั้งดวงอีกด้วย

ดร.ศรัณย์ ได้อธิบายถึง การที่เราสังเกตเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงเป็นสีแดง เนื่องมาจากแสงจากดวงอาทิตย์ก่อนที่จะไปถึงดวงจันทร์จะต้องผ่านเข้าไปในชั้น บรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก จึงทำให้แสงสีขาวจากดวงอาทิตย์เกิดการหักเหภายในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากอนุภาคในชั้นบรรยากาศของโลก แสงสีน้ำเงินจะถูกหักเหออกได้ไปไกลกว่าแสงสีแดง ดังนั้นจึงมีแต่แสงสีแดงหรือสีส้มที่ไปตก กระทบบนผิวของดวงจันทร์ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง

และถือว่าเป็นโอกาสดีอย่างมากสำหรับผู้สนใจ ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เพราะในขณะที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ซ้อนปรากฏการณ์เกิดขึ้นอีกด้วย โดยเป็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ที่ชื่อว่า 51 Ophiuchi (โอฟีอุชชี) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สีขาวที่อยู่นอกระบบสุริยะ และมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์มาก แต่อยู่ไกลจากโลกมากถึง 446.35 ปีแสง

ทั้งนี้ เราจะมองเห็นดาวฤกษ์ 51 โอฟีอุชชี เริ่มหายเข้าไปหลังดวงจันทร์สีแดงอิฐในเวลาประมาณ 02.08 น. (เวลา ณ จังหวัดเชียงใหม่) และจะโผล่พ้นดวงจันทร์ออกมาในเวลาประมาณ 02.22 น.

สำหรับผู้ที่พลาดชมสำหรับจันทรุปราคาในวัน ที่ 16 มิ.ย.นี้ สามารถรอชมได้อีกครั้งในวันที่ 10 ธ.ค.2554 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายปี โดยเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่เกิดระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 3 ชั่วโมง 32 นาที และดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกประมาณ 51 นาที

โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคา  เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์มาเรียงอยู่ในระนาบเดียวกันพอดี  และจะเกิดขึ้นในช่วงดวงจันทร์เต็มดวง  ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก  ปกติจะเกิดประมาณปีละ 1-2 ครั้ง และไม่ได้เห็นในทุกพื้นที่ สามารถเกิดได้สูงสุดประมาณ 4  ครั้งในรอบปี



ที่มา
http://news.voicetv.co.th/

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์