เสน่ห์เจดีย์ทรงมอญที่ พระธาตุหินกิ่ว ดอยดินจี่

เสน่ห์เจดีย์ทรงมอญที่ พระธาตุหินกิ่ว ดอยดินจี่


"พระธาตุหินกิ่ว ดอยดินจี่" ตั้งอยู่ที่บ้านวังตะเคียน หมู่ที่ 5 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วัดพระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่มีพระธาตุประดิษฐานอยู่ในสถูปเจดีย์ชาวบ้านเรียกว่า "พญาล่อง" ตั้งอยู่บนภูเขา ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงมอญขนาดเล็ก สร้างไว้บนก้อนหินด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ ลักษณะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนชะง่อนผากิ่วคอดเหมือนจะขาดออกจากกัน ชาวบ้านเรียกหินมหัศจรรย์นี้ว่า "เจดีย์หินพระอินทร์แขวน"

     พระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่ เล่าสืบต่อกันมาว่า ผู้สร้างเป็นชาวกะเหรี่ยงในสมัยที่อังกฤษปกครองพม่า ชื่อว่านายพะส่วยจาพอ ได้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้นำเงินตราเหรียญรูปีบรรทุกหลังช้างมาเพื่อหาที่สำหรับสร้างเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ครั้นมาถึงบริเวณผาหินกิ่ว (หรือดินจี่) ได้มองเห็นหินก้อนใหญ่ชะโงกงำตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชัน และมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระอินทร์แขวนในประเทศพม่า จึงได้ทำการก่อสร้าง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้นำพระสารีสริกธาตุบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ พร้อมกับพระพุทธรูปทองคำจำนวน 5 องค์

     พระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่ ตั้งอยู่บนชะง่อนผาสูง มองลงมาข้างล่างจะเห็นแม่น้ำเมยและทิวทัศน์ในเขตประเทศพม่าชัดเจน เพราะอยู่ใกล้กัน หินที่อยู่บนดอยนี้มีลักษณะสีดำหรือสีนำตาลไหม้ จึงเรียกว่า "พระธาตุดอยดินจี่" ซึ่งหมายถึงดินที่ไฟไหม้ ในราวเดือนกุมภาพันธ์ ชาวอำเภอแม่สอด และพม่าจะมีงานนมัสการพระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่นี้ทุกปี

     นอกจากนี้บริเวณวัดพระธาตุหินกิ่วดอยดินจี่ ยังมีสิ่งสำคัญคือ เรือโบราณพบเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2539 โดยชาวบ้านวังตะเคียน ได้ช่วยกันกู้ขึ้นมาเก็บรักษาไว้ที่เชิงดอยดินกี่ เป็นเรือที่ขุดจากไม้ซุงทั้งต้น ขนาดของเรือกว้าง 126 เมตร ยาว 13.35 เมตร สูง 0.52 เมตร หนา 0.04 เมตร ส่วนหัวเรือและท้ายเรือ มีความยาวเท่ากัน (ประมาณ 1.20 เมตร) ภายในเรือมีช่องสำหรับสอดไม้กระดานเพื่อทำเป็นที่นั่งจำนวน 4 ช่อง มีระยะห่างไม่เท่ากัน จากรูปและขนาดของเรือ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรือที่ใช้ในการขนส่งอาหารหรือสินค้าระหว่างทั้งสองฝั่งแม่น้ำเมย มีอายุประมาณ 200 ปี

     สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 7 อย่าง

     1. พระพุทธรูปพระพักตร์งามภายในถ้ำฆ้องถ้ำกลอง เป็นพระพุทธรูปที่ใบหน้างามที่สุดในโลก สร้างแบบศิลปพม่า ประดิษฐานอยู่ในถ้ำฆ้องถ้ำกลอง ชื่อถ้ำมาจากเมื่อโยนหินไปในถ้ำ หินกระทบผนัง จะได้ยินเสียงคล้ายเสียงฆ้องและเสียงกลอง ถัดหลังองค์พระจะเป็นถ้ำพญานาค มีลักษณะใหญ่เรียวเป็นรูเล็กลงจนกระทั่งมุดตามเข้าไปไม่ได้ ลักษณะของถ้ำพญานาคก็คือ มีน้ำซึมไหลออกตลอดปี เพราะนาคขาดน้ำไม่ได้ หากจะเข้าถ้ำพญานาค ควรมีไฟฉายมาด้วย เมื่อเดินขึ้นมานมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ จะต้องเดินผ่านถ้ำฆ้องถ้ำกลองก่อน ความสูงนับระยะทางเป็นบันไดได้ 283 ขั้น

     2. พระธาตุหินกิ่ว (พระธาตุหินพระอินทร์แขวน) ตั้งอยู่เชิงหน้าผา ห่างจากถ้ำฆ้องถ้ำกลองมาทางด้านซ้ายมือประมาณ 300 เมตร ความสูงอยู่ประมาณกึ่งกลางของดอยดินจี่ พระธาตุจะประดิษฐานอยู่บนหินกิ่วที่มีลักษณะคล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนที่ประเทศพม่า ข้าง ๆ องค์พระเจดีย์จะมีรูปปั้นเทพารักษ์หลายองค์ศิลปะแบบพม่าและไทยใหญ่ ใกล้ ๆ กับพระธาตุจะมีศาลาให้พุทธศาสนิกชนพักเหนื่อยและสำหรับสวดมนต์

     3. เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่เกือบชั้นบนสุดของยอดดอย ระยะความสูงจากด้านล่างนับเป็นขั้นบันไดได้ 413 ขั้น แต่ถ้าเดินจากถ้ำฆ้องถ้ำกลองก็เดินอีกแค่ 130 ขั้นเท่านั้น ภายในเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของมีค่า เงินรูปี เหรียญตรา และพระพุทธรูปทองคำ 5 องค์ ที่ผู้สร้างนำติดตัวมาจากประเทศพม่า ต่ำลงมาอีกนิดจะเป็นรอยเท้าคนมีบุญหรือรอยเท้าพระอรหันต์

     4. รอยเท้าพระอรหันต์ หรือรอยเท้าคนมีบุญ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรอยเท้าพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่งมาประทับเอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังสักการะบูชา เพราะคนธรรมดาจะไม่สามารถเหยียบหินแล้วให้เป็นรอยแบบนี้ได้ ในปัจจุบันชาวบ้านได้สร้างตู้กระจกครอบรอยเท้าเอาไว้แล้ว เพื่อป้องกันการชำรุด

     5. พระพุทธรูปปางลีลา เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ระหว่างทางขึ้นดอย ด้านหน้าองค์พระเป็นบันไดนาคราช 2 ตัวทอดยาวต้อนรับผู้ที่จะเดินขึ้นมานมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้านขวามือขององค์พระเป็นรูปปั้นคนสร้างพระธาตุนี้ขี่ม้าคือนายพะส่วยจาพอ

     6. เมืองลับแล ถัดจากรอยเท้าพระอรหันต์และเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุมาที่จุดสูงสุดของดอย จะเป็นปากทางเข้าเมืองลับแล บรรยากาศและต้นไม้จะแปลก ๆ ไม่เหมือนป่าทั่วไป ผู้มีสัมผัสที่ 6 (Sixth Sence) จะรู้ได้ การขึ้นมาทำบุญสิ้นสุดเพียงเท่านี้ เพราะถัดจากนี้ไปจะเข้าสู่เขตเมืองลับแล ไปแล้วอาจไม่ได้กลับมา

     7. เรือโบราณ 200 ปี เรือลำนี้ในอดีตแล่นอยู่ในแม่น้ำเมย รับส่งสินค้าแก่ประชาชนสองฟากฝั่ง ต่อมาในระหว่างสงครามถูกทำให้จมน้ำเพื่อซ่อนไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ประโยชน์ ด้วยความหวังว่าเมื่อผ่านสงครามแล้วจะกู้ขึ้นมาอีก แต่โชคร้ายคนเหล่านั้นตายหมด เรือก็เลยจมน้ำมานับร้อยปี แต่เรือทุกลำก็มีแม่ย่านางอยู่ เมื่อถึงเวลาอันสมควร แม่ย่านางก็ไปดลใจให้คนไปพบและกู้ขึ้นมา ปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเรือลำนี้เหมือนเดิมแล้ว

ข้อมูลโดย : สำนักงานจังหวัดตาก ศาลากลางจังหวัดตาก
อ.เมือง จ.ตาก 63000 โทร. 0-5551-1503
ต่อ 23620 โทรสาร 0-5551-1503 ต่อ 23666
tak@moi.go.th หรือ datatak@hotmail.co.th

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์