เฟซบุ๊กจัดระเบียบแฟนเพจ ห้ามทำแคมเปญกดLike

เฟซบุ๊กจัดระเบียบแฟนเพจ ห้ามทำแคมเปญกดLike


"เฟซบุ๊ก" จัดระเบียบแฟนเพจ ออกกฎห้ามทำแคมเปญให้กด like หรือ tag รูปภาพบน wall ระบุต้องทำเป็น แอปพลิเคชั่นเท่านั้น ใครฝ่าฝืนมีสิทธิ์โดน ปิดแอ็กเคานต์ เผยเหตุสินค้าแห่ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางจัดแคมเปญกว่า 2 หมื่นเพจ สร้างปัญหาทราฟฟิก ขณะที่ "ดิจิทัลเอเยนซี่" เร่งปรับตัวรับกติกาใหม่ พร‰อมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น



นางสาวปทิตตา ไทยเมืองทอง ผู้อำนวยการกลุ่มลูกค้าบริษัท ไอฮับมีเดีย จำกัด ตัวแทนขายโฆษณา ของเฟซบุ๊กในประเทศไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อ 11 พฤษภาคม 2554 เฟซบุ๊กได้ประกาศไกด์ไลน์ในการทำแคมเปญส่งเสริม การขายบนเฟซบุ๊กฉบับปรับปรุง สรุปใจ ความสำคัญคือการทำโปรโมชั่นใด ๆ บนเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันหรือชิงโชคต้องทำผ่านแอปพลิเคชั่นเท่านั้น ห้ามใช้ฟังก์ชั่นใด ๆ ของเฟซบุ๊กมาทำกิจกรรม เช่น การเชิญชวนให้มากด like เป็นเครื่องมือโหวตชิงรางวัล

รวมถึงห้ามใช้คุณสมบัติใด ๆ บนเฟซบุ๊กมาเป็นกลไกในการลงทะเบียนร่วมกิจกรรม เช่น ไม่อนุญาตให้ถือเอาคนที่กด like หรือ check in ในสถานที่กำหนดคือคนที่เข้าร่วมกิจกรรมหรือตั้งเงื่อนไขโดยการให้อัพโหลดรูป หรือไฟล์ VDO ขึ้น wall รวมทั้งไม่อนุญาตให้ประกาศผู้ชนะผ่านทางเฟซบุ๊กในรูปการส่ง messages, chat หรือการโพสต์ไว้บนหน้า profile หรือ page

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมใด ๆ ต้องมีการแสดงความยินยอมโดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม และระบุให้ชัดว่ากิจกรรมนั้น ๆ ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับเฟซบุ๊ก รวมทั้งต้องระบุให้ชัดเจนว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะถูกส่งไปยังใคร

นางสาวปทิตตากล่าวว่า สาเหตุของการปรับปรุงครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้ใช้งานบนหน้าเฟซบุ๊กของไทยจะนิยมโพสต์รูปแล้วให้คนโหวต โดยการกด like มากที่สุด หรือการประกวดภาพวิดีโอต่าง ๆ แต่ฟีเจอร์และฟังก์ชั่นต่าง ๆ บนเฟซบุ๊กถือเป็นสินทรัพย์ของเฟซบุ๊ก จึงต้องการให้ผู้ที่ต้องการทำโปรโมชั่นพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้นมาเอง

"เฟซบุ๊กต้องการเน้นว่าการทำโปรโมชั่นต่าง ๆ เฟซบุ๊กไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย จึงอยากทำให้ทุกอย่างถูกต้อง"

ด้านภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวของเฟซบุ๊กโดยรวมแล้ว คือห้ามใช้เฟซบุ๊กเพื่อกิจกรรมส่งเสริมการขายโดยตรงบนหน้า wall หากสินค้าหรือผู้ประกอบการใดต้องการทำโปรโมชั่น ต้องทำในรูปแบบแอปพลิเคชั่นบน Facebook.com หรือการเปิด tab ใหม่ โดยตนคาดว่าสาเหตุที่เฟซบุ๊กต้องปรับปรุงระเบียบดังกล่าว เนื่องจากมีผู้นำเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการทำตลาดจำนวนมาก และอาจเกิดกรณีที่เจ้าของแบรนด์ไม่ทำตามข้อตกลงและกล่าวโทษไปยังเฟซบุ๊กด้วย ทั้ง ๆ ที่เฟซบุ๊กไม่มีความเกี่ยวข้อง ทำให้เฟซบุ๊กต้องออกมาย้ำกฎเกณฑ์อีกครั้ง

โดยบทลงโทษ หากมีผู้ฝ่าฝืน คือการลบแอ็กเคานต์นั้น และหากผู้ใช้งานต้องการเรียกแอ็กเคานต์กลับคืน ต้องติดต่อผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือเอเยนซี่ที่ดูแลเฟซบุ๊กในไทย คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือนในการกู้แอ็กเคานต์คืนมา

"ตอนนี้หน้าเพจที่ถูกแบนยังมีไม่มาก และยังมีคนทำผิดบ้าง ถูกบ้าง เพราะยังไม่รู้ถึงนโยบายดังกล่าว"

นายภาวุธกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยประมาณ 10 ล้านราย ส่วนหน้าแฟนเพจที่มีการทำโปรโมชั่นหรือแคมเปญการตลาดมีประมาณ 2 หมื่นเพจ และมีอัตราการเติบโตประมาณเดือนละ 20% ส่วนหนึ่งเพราะการทำโปรโมชั่นต่าง ๆ บนเฟซบุ๊กไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เมื่อเฟซบุ๊กออกระเบียบดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบกับการทำมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ และทำให้บริษัทต่าง ๆ มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเพื่อจ้างทำแอปพลิเคชั่น จากเดิมที่สามารถมีแคมเปญต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้

"ตอนนี้ทุกคนให้ความสนใจเกี่ยวกับนโยบายนี้ เพราะเฟซบุ๊กเป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้จำนวนมาก ทุกคนจึงอยากทำให้ถูกวิธี เพราะถ้าโดนแบนไม่คุ้ม ซึ่งเมื่อกลางเดือนมิถุนายน ตลาดดอตคอมได้ร่วมกับมาร์เก็ตติ้งออนไลน์หลาย ๆ รายจัดเวทีแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับระเบียบใหม่ของเฟซบุ๊ก เพื่อให้ข้อมูลและทำความเข้าใจร่วมกัน"

นายอรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อะแดปเตอร์ ดิจิทัล จำกัด หนึ่งในผู้ให้บริการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งรายใหญ่ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการจัดระเบียบการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายบนเฟซบุ๊ก เพราะที่ผ่านมามีผู้ประกอบการและแบรนด์ต่าง ๆ ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการทำโปรโมชั่นกันเป็นจำนวนมาก จนทำให้เป็นการรบกวนผู้ใช้เฟซบุ๊กเพราะบางครั้งก็มาในรูปแบบสแปม นอกจากนี้ยังทำให้ช่วงที่ผ่านมาระบบเครือข่ายของเฟซบุ๊กมีปัญหาล่ม เนื่องจากมีผู้เข้ามาเพื่อที่จะลุ้นรางวัลพร้อม ๆ กันจำนวนมาก

กฎใหม่ของเฟซบุ๊กก็ทำให้ดิจิทัลเอเยนซี่ รวมถึงผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่จะทำกิจกรรมบนเฟซบุ๊กต้องคิดมากขึ้น และมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการทำแอปพลิเคชั่น นอกจากนี้ การนำโลโก้ของเฟซบุ๊กไปใช้บนสื่อออฟไลน์ก็จะต้องขออนุญาตด้วย ซึ่งในแง่ของเอเยนซี่ก็ต้องปรับตัวเยอะเช่นกัน เพราะเงื่อนไขเยอะขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีการทำผิดกฎให้เห็นอยู่ บางส่วนไม่รู้ และบางส่วนก็ตีความระเบียบดังกล่าวแตกต่างกัน

"ช่วงที่ผ่านมา แบรนด์ใหญ่ ๆ ก็ชะงักในแง่ของการทำแคมเปญบนเฟซบุ๊กไปเช่นกัน เพราะต้องกลับมาปรับรูปแบบให้ถูกต้อง ซึ่งแบรนด์ใหญ่จะค่อนข้างระมัดระวัง เพราะถ้าแอ็กเคานต์ถูกแบนก็จะเสียหาย ในส่วนของอะแดปเตอร์ก็ต้องให้ทีมงานทำความเข้าใจกับเงื่อนไขใหม่ พร้อมกับปรับแก้รูปแบบการทำกิจกรรมเพื่อให้เป็นไปตามกติกาใหม่ อย่างตอนนี้ของเป๊ปซี่ก็มีการทำแคมเปญเป๊ปซี่มิวสิค ที่ให้คลิก like เลือกศิลปินที่ชอบ โดยลุ้นรับเสื้อยืด ก็จะทำเป็น tab เมื่อคลิกเข้าไป ก็จะลิงก์ไปที่เว็บไซต์ต่อ" นายอรรถวุฒิกล่าว


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์