ความรักในทางวิทยาศาสตร์

ความรักในทางวิทยาศาสตร์



เมื่อมีรัก ทุกคนคงเคยพร่ำถามตัวเองว่า ความรักมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงต้องเป็นเขา/เธอคนนี้ ทำไมเรารู้สึกแปลกๆ หัวใจเต้นแรง หน้าแดง มือเปียก พวกแนวศิลปินอาจบอกว่ารักเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ

เหตุผลไม่เกี่ยว รักมีทั้งความรันทดและความงดงาม รักเป็นเรื่องที่โรแมนติกเกินกว่าจะพรรณนา สำหรับพวกแนวเหนือธรรมชาติจะเชื่อว่า เนื้อคู่ของเราถูกกำหนดมาแล้ว จะต้องตามหาคนที่มีด้ายแดงผูกนิ้วก้อยให้เจอ บ้างก็ว่ารักเกิดจากกรรมเก่า มีการตามมารักมาเลิกกันเป็นชาติๆ ไป การรักใครสักคนอาจจะเป็นเพราะโดนสาป ไสยศาสตร์เท่านั้นที่ช่วยได้

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ก็มีคำอธิบายที่ฉีกทั้งสองแนวนี้ออกไป ซึ่งแม้ว่าจะฟังแล้วไม่ได้อารมณ์ ไม่โรแมนติก และไม่ลี้ลับเท่า แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังจะบอกเรานี้ ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในตัวเรา โดยมีเราเป็นผู้กระทำทั้งสิ้น

ทฤษฎี “รัก 3 ตอน”

ก่อนจะรู้จักความรักในบทที่ลึกเข้าไปถึงสมองและอวัยวะภายในร่างกาย มาทำความรู้จักกับทฤษฎีรัก 3 ตอน ของ ดร.เฮเลน ฟิชเชอร์ แห่งมหาวิทยาลัยรุทเจอรส์ (Rutgers University) ในนิวเจอร์ซี กันก่อนดีกว่า ดร.ฟิชเชอร์บอกว่า ห้วงความรักของคนเราแบ่งเป็น 3 ตอน โดยจะมีฮอร์โมนที่แตกต่างกันมาร่วมแสดงบทบาทในแต่ละตอน

ตอนที่ 1 ช่วงเกิดตัณหา

ตัณหาราคะถูกขับโดยฮอร์โมนเพศ 2 ตัว คือ เทสโทสเทอโรน (Testosterone) และเอสโตรเจน (Estrogen) เทสโทสเทอโรนเป็นฮอร์โมนที่ไม่ได้พบเฉพาะในผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงก็มีเช่นกัน ดร.ฟิชเชอร์บอกว่า เจ้าฮอร์โมนเพศสองตัวนี้เอง ที่ช่วยควบคุมอาการอยากได้โน่น อยากได้นี่ ของเรา

ตอนที่ 2 ช่วงคลั่งรัก


 

เป็นช่วงที่ทำให้ชีวิตเราผิดเพี้ยนไป ไม่รับรู้ ไม่สนใจสิ่งรอบกาย ไม่กิน ไม่นอน เอาแต่นั่งฝัน เพ้อ ละเมอถึงคนรัก อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ถูกควบคุมโดยกลุ่มสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โมโนอะมิเนส (Monoamines) ซึ่งประกอบด้วย

- โดพามีน (Dopamine) เป็นสารเคมีที่ช่วยให้สมองตื่นตัว เช่นเดียวกับนิโคตีนและโคเคอีน 

- นอร์เอพิเนฟรีน (Norepinephrine) หรือรู้จักกันในนามของ อะดรีนาลิน (Adrenalin) ที่เป็นตัวการทำให้เราเหงื่อแตกและหัวใจเต้นรัวยามตื่นเต้น

- เซโรโทนิน (Serotonin) หนึ่งในสารสำคัญที่ทำให้เราเกิดอาการ...ซึม..เศร้า..เหงา..เพราะรัก

ตอนที่ 3 ช่วงผูกพัน

ไม่มีใครที่จะทำตัวคลั่งรักได้ตลอดชีวิต เมื่อผ่านพ้นไปช่วงเวลาหนึ่ง ถ้าไม่โบกมือลากันไปเสียก่อน คู่รักก็จะฉุดกระชากลากจูงกันเดินมาสู่ช่วงแห่งความผูกพัน ในตอนนี้จะว่าด้วยการตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่และสร้างครอบครัว ฮอร์โมนสองตัวสำคัญคือ

- ออกซีโทซิน (Oxytocin) จากต่อมไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับน้ำนมและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก โดยมีการพบว่าออกซีโทซินจะถูกขับออกมาเมื่อชายหญิงมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ลึกซึ้ง ทฤษฏีบอกไว้ว่ายิ่งชายหญิงมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งแค่ไหน ความผูกพันก็มีมากขึ้นเท่านั้น

- วาโซเพรสซิน (Vasopressin) สารสำคัญอีกตัวหนึ่งที่เป็นตัวรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย จะถูกขับออกมาเมื่อร่างกายขาดน้ำ ความตึงเครียดสูง ความดันเลือดสูง หรือเมื่อคู่รักมีความสัมพันธ์ทางเพศ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งพยายามทำการศึกษาถึงฤทธิ์เดชของวาโซเพรสซิน โดยหลังจากที่พวกเขาได้ฟังตำนานรักของหนูแห่งทุ่งหญ้าแพรรี (Prairie vole) ซึ่งเป็นหนึ่งในร้อยละ 3 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่จับคู่อยู่กินกันแบบผัวเดียวเมียเดียวตลอดช่วงชีวิต (Monogamous) ที่มีว่า ถ้าคู่ของพวกมันตาย อีกตัวก็จะตรอมใจตายตามไปในไม่ช้า โดยไม่คิดจะมีใหม่ ด้วยจิตริษยาต่อหนูแห่งทุ่งหญ้าแพรรี่ที่ถือและปฏิบัติตามศีลข้อสาม ห้ามผิดลูกผิดเมียเขาอย่างเคร่งครัด นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ทำการให้ยาที่ลดปฏิกริยาของวาโซเพรสซินในหนูตัวผู้ ปรากฏว่าหนูตัวผู้ตัวนั้นไม่ถึงกับศีลแตก แต่เริ่มมีอาการเย็นชา ห่างเหินคู่รัก และไม่แสดงอาการหึงหวงเมื่อมีหนูหนุ่มตัวอื่นๆ เข้ามาตีท้ายครัวเลยสักนิด หลังจบปฏิบัติการสร้างความร้าวฉานแล้ว พวกเขาก็ได้ข้อสรุปมาให้ชาวโลกชื่นใจว่า ถ้าขาดวาโซเพรสซินเมื่อไร ก็ให้เตรียมพร้อมรับมือหายนะที่กำลังจะมาสู่ครอบครัวได้เลย



ขอบคุณ : postjung

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์