สงครามน้ำ-สงครามอำนาจ ปู-บิ๊กตู่คู่พระนาง

สงครามน้ำ-สงครามอำนาจ ปู-บิ๊กตู่คู่พระนาง

แม้ว่าวิกฤติน้ำท่วม จะช่วยกลบกระแสความขัดแย้งของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกับกองทัพ ในเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ไปได้พักหนึ่ง

หากแต่มันก็พร้อมปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อ หากพรรคเพื่อไทยเดินหน้าไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับนี้ ที่ฝ่ายการเมืองถือว่าเป็นก้างขวางคอ ในการเข้าเบียดแทรกชิงอำนาจกองทัพ แต่กองทัพถือว่าเป็นเกราะคุ้มกันการเมืองล้วงลูกโผทหารได้เป็นอย่างดี

เพราะขนาดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเลี่ยงการเผชิญหน้า ด้วยการอ้างภารกิจสู้น้ำท่วม ยกเลิกการมาเยือนกลาโหม และ บก.กองทัพไทย เมื่อ 10 ตุลาคม และยกเลิกการประชุม กอ.รมน. ที่กองทัพบก 12 ตุลาคม เลื่อนนัดหมายทานข้าวกับ ผบ.เหล่าทัพ ออกไปก่อน

แม้จะได้ไปเจอหน้า ผบ.เหล่าทัพ แต่ก็บนโต๊ะประชุม หรือออกตรวจพื้นที่น้ำท่วม ไม่มีใครเอื้อนเอ่ยเรื่อง พ.ร.บ.กลาโหม แน่ เพื่อระดมแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่เป็นงานพิสูจน์ฝีมือนายกฯ หญิงมือใหม่ ที่กำลังเป็นนางเอก ที่เดินลุยย่ำวารีที่ก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์พร้อมถล่มสยาม

ในยามที่ต้องทำสงครามกับน้ำเช่นนี้ ทั้งรัฐบาลเพื่อไทย และกองทัพ ก็ต้องพักรบเรื่องการแย่งชิงอำนาจในกองทัพ เรื่องแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม เอาไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นก็คงถูกประชาชนก่นด่า ว่าเล่นการเมืองไม่ดูเวล่ำเวลา

จึงไม่แปลกที่ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะขอร้องสื่อให้งดถามเรื่องที่เป็นความขัดแย้ง ถามแต่เรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วม และไม่โกรธแม้ถูกถามเรื่องที่เคยโกรธ หรือเรื่องจะถูกย้ายจาก ผบ.ทบ. หรือการโยกย้าย แม้คำพูดที่ใช้จะมีความหมาย เจ็บแสบ เหน็บแนม แกนนำเสื้อแดง แต่ก็ไม่ได้ใส่อารมณ์จึงไม่เสียอาการ

"ตอนนี้ เราต้องพักเรื่องอื่นๆ ไว้ก่อน หันมาช่วยประชาชนให้เต็มที่ เพราะครั้งนี้รุนแรงที่สุด หยุดทะเลาะกัน หยุดอารมณ์เสีย หงุดหงิดใส่กันนะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ที่สำคัญ ในระยะหลังๆ มานี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีพัฒนาการที่ดี ตรงที่ไม่อารมณ์เสีย ไม่เหวี่ยง ไม่วีน ไม่ปรี๊ดแตกง่ายเช่นที่ผ่านมา ยิ่งกับนักข่าว ยิ่งใจเย็น พูดจาปราศรัยทักทาย ส่งยิ้มให้เสมอๆ ด้วยเพราะรู้ดีว่า ในยามอำนาจเปลี่ยนขั้วเช่นนี้ สิ่งที่ต้องกระทำ คือ การสร้างศรัทธาจากประชาชน เพื่อเป็นเกราะกำบังภัย นอกเหนือจากที่มี พ.ร.บ.กลาโหม คุ้มกันไว้แล้ว

โดยฉวยวิกฤติน้ำท่วมให้เป็นโอกาส ระดมกำลังทหารเข้าช่วยแก้ไขปัญหา แบบที่ทหารทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ เริ่มงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า กว่าจะปิดภารกิจในแต่ละวันก็ราวเที่ยงคืน ตี 2 โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นงาน ออกตรวจการช่วยเหลือน้ำท่วมของ ทบ. เกือบทุกวัน

รวมทั้งการร่วมคณะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไปตรวจพื้นที่ด้วยหลายครั้ง แม้ว่าจะไม่ค่อยได้เห็นแววตาหรือสีหน้าที่ยิ้มแย้มจาก ผบ.ทบ. คนนี้ เวลาที่อยู่ใกล้ๆ นายกฯ หญิงนักก็ตาม แต่ "ปู กับ ตู่" ก็เป็นที่จับตามองในทุกอิริยาบถที่ต้องเผชิญหน้า และได้ใกล้เชิดและรู้จักกันมากขึ้น จากการนั่ง ฮ. และตรวจน้ำท่วมด้วยกัน

มีรายงานว่า บิ๊กตู่ เปรยๆ กับคนใกล้ชิดเวลาต้องตรวจน้ำท่วมกับนายกฯ หญิง ว่า ต้องระวังตัว สีหน้า และแววตา เพราะนักข่าวจับตามอง ช่างภาพจ้องถ่ายตลอด จะมองหน้านายกฯ ปู ตรงก็ไม่เหมาะ จะแอบมอง เดี๋ยวก็เป็นข่าว ถูกแซวเหมือนตอนแพนเค้ก อีก อึดอัดเหมือนกัน แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ

ตั้งแต่เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ดอนเมือง ทั้ง บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม และ ผบ.เหล่าทัพ ก็ต้องไปประชุมทุกวัน ไม่เว้นแม้แต่เสาร์อาทิตย์ ซึ่งทำให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงความเป็นผู้นำหญิง นั่งหัวโต๊ะ ประชุมสั่งการ ผบ.เหล่าทัพระดมสรรพกำลังเต็มพิกัดสู้น้ำท่วม

ในส่วนของ ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ สั่ง บิ๊กโด่ง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 บินด่วนไปตั้งวอร์รูมสู้กับน้ำที่อยุธยา กินนอนอยู่ที่นั่นเลย โดยมีกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 1 โดยเฉพาะบรรดาทหารวงศ์เทวัญของกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)

ส่วนลพบุรี ให้ พล.ท.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) เพื่อน ตท.12 ดูแล และให้ บิ๊กหยอย พล.ท.วรรณทิพย์ ไวว่อง แม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อนรัก ดูแลนครสวรรค์

ขณะที่กรุงเทพฯ และชานเมือง ผบ.ทบ. ก็สั่งให้แต่ละหน่วยที่รับผิดชอบพื้นที่ตามปกติเข้าไปดูแลช่วยเหลือ โดยเป็นการจัดแบ่งกำลังทหารเหมือนตอนปฏิวัติ ว่า หน่วยทหารใดเวลาปฏิวัติเข้ายึดพื้นที่ไหน ตอนนี้ก็ต้องไปช่วยน้ำท่วมชาวบ้านในพื้นที่นั้น เป็นการสร้างคะแนนนิยมและความศรัทธา เผื่อว่าปฏิวัติครั้งหน้า ชาวบ้านจะเข้าใจ

แต่ที่เม้าธ์กันหนัก คือ ไม่ได้เห็นทหารบูรพาพยัคฆ์ ออกมาช่วยน้ำท่วม มีแต่วงศ์เทวัญเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่โผทหารล่าสุด มีแต่บูรพาพยัคฆ์ได้ดี


นํ้าท่วมมีโอกาสในวิกฤติที่ พล.อ.ประยุทธ์ คว้าไขว่ได้มาก ที่นอกจากจะได้ใกล้ชิดและรู้จักนายกฯ ยิ่งลักษณ์ บ่อยขึ้นมากขึ้นแล้ว ยังหวังพลิกฟื้นภาพพจน์ ทบ. ด้วยการให้นำอาวุธยุทโธปกรณ์ออกมาช่วยน้ำท่วมเพื่อนสร้างภาพพจน์ที่ดี

ทั้ง ฮ. MI-17 ของรัสเซีย ที่ถูกเรียกว่า "ป๋องนมบินได้" ที่ บิ๊กตู่ ให้เอาออกมาบิน เพราะมีคำสั่งให้ ฮ. ขึ้นทุก 3-5 ช.ม. เพื่อสำรวจและช่วยเหลือทางอากาศ รวมทั้ง ฮ. Enstrom ใหม่ที่ซื้อมาด้วยข่าวฉาว แม้แต่การจะให้เอารถเกราะยูเครน BTR-31 ของบูรพาพยัคฆ์ พล.ร.2 รอ. มาลุยน้ำท่วม เพราะ 4 ปีแล้ว สั่งซื้อไป 96 คัน เพิ่งได้มา 14 คัน แถมซื้อเฟส 2 ไปแล้ว 121 คัน รวมงบฯ ทั้งหมดราว 1 หมื่นล้าน แต่ยังไม่มีวี่แววมาเลย แต่เพราะทดสอบครั้งก่อน มีน้ำรั่วซึมเข้า และยังไม่ชำนาญนัก จึงชะลอไว้ก่อน

ที่ฮือฮากว่านั้นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จะชุบตัว เรือเหาะ ทบ. หรือ air ship ที่มีเรื่องฉาวทั้งการรั่วซึม บินไม่ได้ กล้องและอุปกรณ์เสียใช้การไม่ได้ และล่าสุด ลงจอดฉุกเฉินเสียหาย จนซ่อมใหญ่มาแล้วนั้น ด้วยการให้นำขึ้นบินจากปัตตานีมากรุงเทพฯ เพื่อมาใช้เป็น บก. ลอยฟ้าในการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยใช้เวลาบิน 10 วัน

ท่ามกลางการลุ้นว่าจะบินถึงหรือไม่ ระหว่างทางจะเกิดอะไรขึ้น


สงครามน้ำ-สงครามอำนาจ ปู-บิ๊กตู่คู่พระนาง

ความโดดเด่นและความสำคัญของเก้าอี้ ผบ.ทบ. และการมีสื่อทั้งทีวีและวิทยุของ ทบ. เอง ส่งผลให้การช่วยเหลือน้ำท่วม ปรากฏเป็นข่าวทุกวันและทั้งวัน ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ พึงพอใจกับผลงาน แม้ว่าคนที่เหนื่อยจริงๆ คือพลทหาร และทหารระดับล่าง ที่ต้องไปแช่น้ำ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ หลายคนกำลังจะพาครอบครัวไปต่างจังหวัด ก็ถูกเรียกตัวกลับมาสู้น้ำท่วม ทหารหลายนายบ้านตัวเองก็น้ำท่วม แต่ก็ต้องทิ้ง เพราะต้องไปช่วยชาวบ้านตามคำสั่ง ผบ.ทบ. ก่อน

แต่คะแนนไปตกอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ แบบเต็มๆ ยิ่งช่วงนี้เขาเล่นเป็น เล่นบททหารอาชีพ "ไม่เหนื่อยไม่ท้อ เพราะประชาชนเดือดร้อน ทหารต้องเป็นหน่วยแรกที่เข้าถึงช่วยเหลือประชาชนให้ได้ในทุกพื้นที่"

"เราต้องเป็นพระเอก" คือคำสั่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ กระซิบไปยังแม่ทัพนายกอง

จึงไม่แปลกที่ทหารเหล่าอื่นจะกลายเป็นพระรอง หรือประชาชนไม่ค่อยรู้ว่าออกมาช่วยชาวบ้านมากมายเหมือน ทบ. เพราะไม่มีสื่อของตัวเอง เพราะทั้งทหารเรือและทหารอากาศ และ บก.ทัพไทย โดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) ก็ออกมาเต็มที่

โดยเฉพาะ ทร. บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ที่แม้บ้านตัวเองย่านรังสิตจะน้ำท่วม แต่ก็ต้องออกมาช่วยชาวบ้านก่อน ระดมกำลังทหารเรือ ทั้งหน่วยรบและหน่วยสนับสนุน หน่วยซีล มนุษย์กบ ยุทโธปกรณ์เข้าช่วยที่อยุธยา และหลายจังหวัดภาคกลาง โดยมี บิ๊กจุ๊ พล.ร.ท.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ รอง เสธ.ทร. เป็นแม่ทัพลงลุยในพื้นที่ รวมทั้งการช่วยผลักดันน้ำในเขตกรุงเทพฯ

แม้ว่าความกังวลของทหารเรือในเวลานี้คือ รมว.กลาโหม ดองดึงโครงการเรือดำน้ำเยอรมนี ไม่ส่งเข้า ครม. จนอาจเลยเดตไลน์ที่เยอรมนีจะรอ เพราะจะขายให้ชิลีแล้วก็ตาม แต่ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ก็ให้เป็นเรื่องรองๆ ลงไป เพราะเวลานี้ต้องมาช่วยเรื่องน้ำท่วมก่อน เพราะไม่เหมาะที่จะมาผลักดันเรื่องนี้ในยามที่ชาวบ้านเดือดร้อน แม้ว่าผลพวงจากการโยกย้ายทหาร ที่มีบิ๊ก ทร. หลายคนอกหักไม่ได้เป็น ผบ.ทร. จะส่งผลให้แก้แค้นด้วยการใช้สื่อที่สนิทสนม โจมตีเรือดำน้ำก็ตามที

ขณะที่ทัพฟ้าของ บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ดูจะจมเงียบหายไปกับน้ำท่วม แต่ ทอ. ก็ปิดทองหลังพระในการบินถ่ายภาพทางอากาศ เตรียมเครื่องบินและ ฮ. และทหาร พร้อมสำหรับการขนย้าย โดยเฉพาะกองบิน 4 ตาคลี นครสวรรค์ และกองบิน 2 ลพบุรี โดยมี บิ๊กม้า พล.อ.อ.วินัย เปล่งวิทยา ผช.ผบ.ทอ. เป็น ผบ.ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ทอ.

สงครามน้ำ-สงครามอำนาจ ปู-บิ๊กตู่คู่พระนาง

ใกล้ชิดกันมากขึ้นแบบนี้ แต่หาใช่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะชื่นชมนายกฯ หญิงผู้นี้มากขึ้น รอยยิ้ม และการตะเบ๊ะ หาใช่การยอมสยบต่ออำนาจการเมืองไม่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสั่งฝ่าย เสธ. กลั่นกรองเรื่องต่างๆ ที่นายกฯ สั่งการอีกชั้น เพราะกลัวพลาด

ไม่ต่างจากที่เมื่อครั้งนายกฯ ปู ไปเยือนพม่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็สั่งผู้ช่วยทูตทหาร เกาะติดใกล้ชิด เพราะเกรงนายกฯ หญิงคนแรกของไทย จะไปพลาดเจรจาหรือรับปากใดๆ กับผู้นำทหารพม่า เพราะขนาดเรื่อง หญ้าแพรก กับหญ้าแฝก และเรือดันน้ำกับเรือดำน้ำ เธอก็ยังพลาดมาแล้ว

แต่น้ำท่วมก็ใช่จะกลบเกลื่อนความขัดแย้งทุกอย่างได้ เพราะที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สวนรื่นฤดี ที่แม้จะมี พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551 เป็นเกราะป้องกันไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรก จน พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ที่ปรึกษานายกฯ เข้ามาคุมไม่ได้ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในฐานะ ผอ.รมน. ต้องส่งแค่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี มาได้เท่านั้นก็ตาม แต่ศึกบารมีกำลังอุบัติขึ้น

ด้วยเพราะ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ขยับจาก เสธ.ทบ. ขึ้นเป็น รอง ผบ.ทบ. จึงต้องหลุดจากเก้าอี้ เลขาธิการ กอ.รมน. ไปด้วย โดยมี บิ๊กบี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รอง เสธ.ทบ. ขึ้นมาเป็น เสธ.ทบ. เป็นเลขาฯ กอ.รมน. แทน

แต่ดูเหมือน พล.อ.ดาว์พงษ์ ยังเป็นห่วง กอ.รมน. และไม่เชื่อมือ พล.อ.ศิริชัย เท่าใดนัก จึงต้องการจะเข้ามาช่วยดูแลต่อ

อีกทั้งสิ่งที่เคยทำไว้ตอนที่เป็นเลขาฯ กอ.รมน. ทั้งงานลับ งานการเมือง ที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ ต้องการดูแลต่อเองเพื่อความมั่นใจ แถมอาจมองว่า พล.อ.ศิริชัย เป็นทหารสายพิราบ ไม่เหยี่ยวอย่างที่ต้องการ เพราะในเวลานี้ หน่วยข่าวทหาร และ กอ.รมน. ยังคงมีเป้าหมายอยู่ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง

หรือเรียกว่า หาข่าวและความเคลื่อนไหวของรัฐบาล หาใช่ตรวจสอบฝ่ายค้าน เช่นเมื่อรัฐบาลอื่นๆ มายึด กอ.รมน.

แต่เพราะรัฐบาลเพื่อไทย ไม่อาจเข้าแทรก กอ.รมน. ได้ เช่นเดียวกับที่แทรกกองทัพไม่ได้ เพราะมี พ.ร.บ.กลาโหม เป็นเกราะนั่นเอง จึงมีความพยายามที่จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน. แต่งตั้ง รอง ผบ.ทบ. เป็น ผช.ผอ.รมน. เพิ่มอีกคน เพื่อให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ มีอำนาจหน้าที่เข้ามาดูแล กอ.รมน.

ซึ่งเรื่องนี้ถูกวิจารณ์ภายในว่า เป็นการแบ่งแยกอำนาจของ พล.อ.ศิริชัย และสะท้อนว่า ไม่เชื่อมือ ลธ.รมน. คนใหม่คนนี้

พล.อ.ศิริชัย เป็น ตท.13 มีอายุราชการถึงปี 2558 ที่กำลังถูกมองว่า สามารถเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่เกษียณ 2557 ได้ เพราะเป็นบูรพาพยัคฆ์ น้องรักของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม แต่ทว่า อาจไม่ได้โตมาในสายคอมแมนด์ สายกำลังรบ

อีกทั้งใน กอ.รมน. ก็ยังคงมีนายทหาร ตท.12 รุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ นั่งคุมพรึบเต็มไปหมดเช่นเดิม จนหวั่นกันว่า บิ๊กบี้ จะถูกบี้เละคา กอ.รมน.

แต่เชื่อกันว่า หาก กอ.รมน. เสนอเรื่องนี้ขึ้นมา นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะไม่อนุมัติให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ เข้ามาเพิ่ม หรืออาจอาศัยโอกาสนี้เสนอปรับโครงการคณะกรรมการอำนวยการ ให้มีฝ่ายการเมือง เข้ามาได้อีกคน เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.พัลลภ เข้ามา

ทาง ทบ. จะยอมหรือไม่ ซึ่งน่าจับตามองยิ่ง

สงครามน้ำ-สงครามอำนาจ ปู-บิ๊กตู่คู่พระนาง

ก็อีกนั่นแหละ น้ำท่วมไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่แค่กลบเกลื่อนรอยร้าว แต่ก็ไม่สามารถท่วมทับเกาเหลาที่กลาโหม ที่หน้าห้อง รมว.กลาโหม ของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ได้

เนื่องจากโผโยกย้ายนายพลล่าสุด นายทหารที่เป็นน้องรัก พล.อ.ประวิตร กลับมีชื่อได้ดีอยู่ต่อในทีมฝ่าย เสธ. หน้าห้อง พล.อ.ยุทธศักดิ์ มากกว่าครึ่ง เนื่องจาก บิ๊กหมู พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกลาโหมน้องรักของบิ๊กป้อม ในเวลานั้นจัดเอาไว้ โดยที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็ปล่อยผ่าน ไม่แก้ไข ทั้งๆ ที่เป็นตำแหน่งที่ต้องมาทำงานกับตนเอง เพราะเกรงใจ พล.อ.ประวิตร และ พ.ร.บ.กลาโหม

ถึงขั้นที่ยอมถูกภริยาตำหนิ ที่ทำให้ชื่อของนายทหารทายาท "กิตติขจร" คนหนึ่ง ไม่ได้เป็นนายพล ในตำแหน่งฝ่าย เสธ.รมว.กลาโหม ทั้งๆ ที่เป็นอำนาจเต็มๆ ของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ซึ่งเป็นเขยตระกูลจารุเสถียร ซึ่งดองกับกิตติขจร

จึงทำให้ทีมฝ่าย เสธ. หน้าห้อง รมว.กลาโหม มีหลายสีหลายขั้ว ทั้งบูรพาพยัคฆ์ ทั้งน้องรักของ พล.อ.ประวิตร ทั้งทหารสายสีเหลือง สายประชาธิปัตย์ โดยที่ทีมฝ่าย เสธ. ของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ จริงๆ ได้แค่ไม่กี่คน จนทำให้ต้องมานั่งทำงานแบบไม่มีตำแหน่ง ไม่ได้เลื่อนยศ เป็นการช่วยราชการเท่านั้น แถมมองกันไปก็คนละพวก จึงอยู่ด้วยกันแบบอีหลักอีเหลื่อ

แต่กระนั้น ฝ่ายอำนาจเก่า ก็ยังเดินเกม ด้วยการปล่อยข่าว และส่งข้อความถึงสื่อ ระบุว่า "เตรียมทหาร 10 ยึดกลาโหมแล้ว"

หากสำรวจไปที่หน้าห้อง พล.อ.ยุทธศักดิ์ จะพบว่ามีทั้ง ตท.9 ที่นำโดย พล.อ.บัญชา มรินพงษ์ และ พล.อ.จงศักดิ์ พานิชกุล ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม เท่านั้น

ส่วน ตท.10 เพื่อนร่วมรุ่นของ ทักษิณ ชินวัตร ก็มี บิ๊กกุ้ง พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน เลขานุการ รมว.กลาโหม บิ๊กโอ๋ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ รมว.กลาโหม บิ๊กเปี๊ยก พล.อ.สุรวิตต์ ทองนิล และ บิ๊กปู่ พล.อ.อ.สมชัย พละพงศ์ เท่านั้น

โดยมี บิ๊กต่าย พล.อ.ภุชงค์ รัตนวรรณ แกนนำ ตท.10 มาเป็นจเรทหารทั่วไป ซึ่งขึ้นตรงกับ รมว.กลาโหม อีกคนเท่านั้น จึงทำให้ดูประหนึ่ง ตท.10 ยึดกลาโหม

แต่ก็ไม่มีบทบาทหน้าที่อะไรมากนัก เพราะ พล.อ.ยุทธศักดิ์ นอกจากไม่ค่อยได้เข้ากระทรวงกลาโหม เพราะชอบไปนั่งที่สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ แล้ว ยังเป็น รมว.กลาโหม ที่ไม่มีอำนาจ อันส่งผลจากโผโยกย้ายล่าสุดที่ยินยอม ผบ.เหล่าทัพทุกอย่าง แม้แต่ตำแหน่งหน้าห้องฝ่าย เสธ. ของตัวเอง

บรรยากาศในกระทรวงปืนใหญ่ จึงมิค่อยจักน่าอภิรมย์เท่าใดนัก ไม่มีความเป็นหนึ่ง ต่างคนต่างพวกต่างสีต่างพันธุ์ แถม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็ยังไม่เคยเรียกประชุมฝ่าย เสธ. เพื่อพูดคุยอย่างเป็นทางการ เรื่องแนวทางการทำงาน จึงประหนึ่งอยู่กันไป ทำงานกันไป แบบตามมีตามเกิด โดยมี พล.อ.จงศักดิ์ เป็น รมว.กลาโหม ตัวจริง ในการเดินงานทุกเรื่อง รวมทั้งคิดแผนระยะสั้นและยาว ในการต่อกรกับ ผบ.เหล่าทัพ

ด้วยเพราะ พล.อ.ยุทธศักดิ์ นั้น ไม่กล้าชน แต่เล่นบทคุณปู่ใจดี พี่ชายที่น่ารัก ยอมทุกเรื่อง ตั้งแต่โผทหารเรื่อยมา อาจจะเป็นเพราะด้วยวัย 74 และการเป็นสายพิราบที่ไม่กล้าทุบโต๊ะ ไม่อยากเดือดร้อน จึงทำให้ พล.อ.จงศักดิ์ ต้องเป็น "ตัวชน" ยอมเจ็บ ยอมมีเรื่องกับ ผบ.เหล่าทัพ ในเรื่องที่จำเป็นๆ แทน

ด้วยใจหวังกันว่า สักวันหนึ่ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ จะมีแรงฮึดสู้ สวมบทเหยี่ยว กล้าทุบโต๊ะ ขึ้นมาสักวัน แต่นั่นหมายถึงว่า จะต้องถูก "นายใหญ่ ดูไบ" สะกิดมาก่อนแล้วเท่านั้น เมื่อนั้นคะแนนนิยมตอนน้ำท่วม ก็ไม่อาจปกป้องเก้าอี้ ผบ.ทบ. ไว้ได้แน่

สงครามน้ำ จึงไม่น่าห่วงเท่า สงครามอำนาจ ที่กำลังเป็นอยู่ คือ รอวันปะทุ เดือด และปรอทแตก เท่านั้น โดยมีการแก้ พ.ร.บ.กลาโหม ของพรรคเพื่อไทย เป็นตัวคะตะไลต์ เร่งปฏิกิริยา เพราะในสงครามการเมือง ไม่มีนางเอก หรือพระเอก

ที่สุดแล้ว ประชาชนต่างหากที่จะเป็นหญ้าแพรกที่แหลกลาญ...

(ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14-20 ตุลาคม 2554)


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์