โรคภัยไข้เจ็บและยาที่ต้องเตรียมในช่วงน้ำท่วม

โรคภัยไข้เจ็บและยาที่ต้องเตรียมในช่วงน้ำท่วม


1) โรคภัยไข้เจ็บและยาที่ต้องเตรียมในช่วงน้ำท่วม

ข้อมูลจากรายการ :    “ล้ำยุคเรื่องสุขภาพ” ออกอากาศทาง : สถานีวิทยุ จส. 100 (FM 100 MHz.) วัน และ เวลาออกอากาศ : วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2554 เวลา 14:15 น. – 14:30 น. ระบุยาไว้ดังนี้

ยาที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงน้ำท่วม 
ขณะนี้มีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และเกิดภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค แต่อีกส่วนหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกันก็คือยารักษาโรค ซึ่งหลาย ๆ ท่านที่ต้องอยู่ในภาวะน้ำท่วมเป็นเวลานาน อาจต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่จำเป็นต้องใช้ยา ซึ่งในครั้งนี้รายการ “ล้ำยุคเรื่องสุขภาพ” จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของยาที่มีความจำเป็นต้องใช้ในช่วงน้ำท่วมกับ ภญ.ณีรนุช ทรัพย์ทวี กรรมการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายและสื่อสารสังคม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)

โรคภัยไข้เจ็บที่มาจากน้ำท่วม

น้ำกัดเท้า ส่วนใหญ่เมื่อน้ำท่วมคนจะต้องลุยน้ำ ซึ่งหากต้องแช่น้ำอยู่นาน ๆ อาจจะเป็นโรคน้ำกัดเท้าได้ ซึ่งหากมีอาการมาก ๆ ก็อาจจะกลายเป็นแผลพุพองเป็นหนองได้ด้วย ดังนั้นหลังจากที่แช่น้ำนาน ๆ ควรเช็ดตัวให้แห้งสะอาด และเช็ดร่างกายบริเวณที่แช่น้ำด้วยน้ำเกลือหรือแอลกอฮอลล์ พร้อมทั้งสำรวจตนเองด้วยว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นหรือไม่ ไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากไข้หวัดใหญ่มีการระบาดในช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาวอยู่แล้ว และเป็นโรคที่ติดต่อกันง่าย โดยผ่านการไอ จามรดกัน ดังนั้นในช่วงน้ำท่วมจึงอาจพบผู้ป่วยโรคนี้ได้มาก และสำหรับผู้ประสบอุทกภัยหากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ไอ จาม ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นไข้หวัดใหญ่ และควรระวังตนเองมิให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม และหากมีไข้สูงติดต่อกันนาน ๆ ก็ควรรีบออกมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

ปอดบวม อาจเกิดหลังจากที่เป็นหวัด หรือการสำลักน้ำ

ตาแดง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในฤดูฝน และเป็นโรคติดต่อ ดังนั้นหากต้องขนของหรือโดนน้ำที่ท่วมขัง จึงไม่ควรใช้มือขยี้ตา และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ

ยาที่ควรเตรียมในช่วงน้ำท่วม
- ยาลดไข้ บรรเทาปวด ในกลุ่มพาราเซตามอล
- ยาแก้แพ้ กลุ่มคอเฟนิรามีน
- ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
- ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ผงเกลือแร่ หากไม่มีสามารถใช้น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ เกลือ ½ ช้อนชา ผสมกับน้ำ 750 ซีซี
- ยาทาน้ำกัดเท้าหรือยาฆ่าเชื้อราอุปกรณ์ล้างแผล หากไม่มีสามารถใช้สบู่ หรือใช้เกลือแกง 1 ช้อนโต๊ะ(หรือ 3 ช้อนชา) ผสมกับน้ำประมาณ 1 ลิตร นำไปต้มให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ใส่พาชนะและปิดให้สนิท ซึ่งสามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้ประมาณ 7 วัน
- ยาใส่แผล เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน แต่มีข้อควรระวังคือไม่ควรใช้บริเวณผิวหนังที่มีเนื้อเยื่ออ่อน หรือใช้กับเด็ก โดยในเด็กสามารถใช้ยาแดงและโพวิโดนไอโอดีนแทนได้

การเตรียมตัวสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังในช่วงน้ำท่วม
สำหรับ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ควรเตรียมตัวโดยการนับยาว่าจะมีใช้เพียงพอจนถึงช่วงที่น้ำลดไหม หากยาไม่พอก็ควรติดต่อไปที่ศูนย์ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อขอรับยา โดยหากมีเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อไปได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ หมายเลขโทรศัพท์ 1111 , สายด่วนปภ. รับแจ้งเหตุน้ำท่วม 24 ชม. 1784 , ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 หรือติดต่อมาได้ที่ จส.100 เพื่อดำเนินการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา :prema.or.th

2) รายการยาสำหรับ “ชุดยาสู้น้ำท่วม”

ข้อมูลของรายการ “ชุดยาสู้น้ำท่วม” โดย มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา  ที่นำไปจัดชุดยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ มีดังต่อไปนี้

รายการยา
  1. ยาขี้ผึ้งสำหรับรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา (Whitfield’s ointment)
  2. ผงเกลือแร่ หรือ โอ.อาร์.เอส. (ORS)
  3. ผงถ่านที่ใช้ทางยา (Activated charcoal or medicinal charcoal)
  4. ยาลดไข้พาราเซตามอล ชนิดเม็ด
  5. ยาลดไข้พาราเซตามอล ชนิดน้ำเชื่อม
  6. ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ชนิดเม็ด สำหรับผู้ใหญ่
  7. ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ชนิดน้ำเชื่อม สำหรับเด็ก
  8. ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (Aluminium Hydroxide + Magnesium Hydroxide)
  9. ยาฆ่าเชื้อสำหรับใส่แผลสด (Povidone iodine)
  10. น้ำเกลือสำหรับล้างแผล
  11. แอลกอฮอล์
 
รายการเวชภัณฑ์
  1. สำลี
  2. พลาสเตอร์ปิดแผล
 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 
 
มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา 
121 ถนนอนันตนาค แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กท. 10100
โทรศัพท์ 02-621-8992 และ 089-444-7781

 ที่มา :yaandyou.net


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์