12 วลีฮิต ติดปากหมอ ที่ต้องขอแปล

12 วลีฮิต ติดปากหมอ ที่ต้องขอแปล


สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับ ‘มุมสุขภาพ’ ครั้งแรกของปี พ.ศ.2555 นี้ พร้อมเรื่องราวสุขภาพน่ารู้ที่หลากหลายขึ้นกว่าเดิม ประเดิมตะลุยโรงหมอ กับ ‘นพ.กฤษดา ศิรามพุช’ ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ร่วมไขความกระจ่างวลีฮิตๆ ที่คุณหมออาจทำให้คนไข้สับสน

นพ.กฤษดา เล่าว่า บุคคลแต่ละวิชาชีพมักจะมีลีลาการใช้ภาษาไทยที่เฉพาะตัว อย่างคำพูดของคุณหมอกับคนไข้มักมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือ “สั้นๆ” แต่บางทีชวนให้คนไข้คิดไปไกล ดังที่เคยมีคนไข้ท่านหนึ่งไปตรวจมะเร็งปากมดลูกมาแล้วคุณหมอบอกว่าผลเป็น “เซลล์ผิดปกติ”…แค่นี้คนไข้ก็ขนหัวลุกแล้ว

เพราะคำอย่างนี้ในภาษาไทยเขาเรียกว่า “คำเปิด” ครับ คือความหมายกว้างมาก อย่างน้อยก็ 2 แง่ ผิดปกติแต่ไม่ใช่มะเร็ง กับผิดปกติแบบมะเร็ง หรืออย่างคนไข้ถูกบอกว่าพบ “เนื้องอก” พอบอกแล้วคุณหมอก็ไป ทิ้งหน้าที่กังวลไปทั้งวันให้กับคนไข้ที่ไม่ได้ความกระจ่าง จนบางครั้งร่ำๆ จะฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ

คนไข้บางท่านอาจคิดว่า เซลล์ผิดปกติหรือเนื้องอกก็เท่ากับ “มะเร็ง” แล้ว น้อยคนที่จะคิดว่า เซลล์ผิดปกติ คือ เซลล์ที่มันเปลี่ยนแปลงไปจากการอักเสบหรือติดเชื้อ ซึ่งรักษาได้พอหายก็จะกลับมาเป็น “เซลล์ปกติ” ได้ในสามวันเจ็ดวัน


12 วลีฮิต ติดปากหมอ ที่ต้องขอแปล

เพื่อป้องกันปรากฏการณ์ช็อค!!! เมื่อรับฟังคำพูดจากคุณหมอนั้น นพ.กฤษดา อยากขอนำคำพูดติดปากแบบ “หมอๆ” มาแปลให้ฟังกัน ซึ่งก็อาจไม่เป็นดังนั้นเสมอไป

เริ่มที่วลีว่า "ต้องผ่าตัด" เมื่อใดที่พูดถึงผ่าๆ เฉือนๆ ขอเตือนไว้ว่าให้ขอ “ความเห็นอื่น” จากผู้เชี่ยวชาญด้วยจะช่วยได้มาก หากไม่จำเป็นท่านก็ไม่ต้องเอาตัวไปรองเขียงให้เขาสับไม่ดีหรือ ความลับก็คือถ้าไปโรงพยาบาลเอกชนแล้วถูกพิพากษาให้ผ่า  ขอให้ถนอมตัวไว้มาหาความเห็นกับหมอที่โรงพยาบาลรัฐอีกทีก็ดี

ต่อมา "เจ็บนิดเดียว" คำนี้สร้างความเสียวได้มาก เพราะถ้าหมอบอกว่าเจ็บนิดเดียวส่วนใหญ่จะเจ็บเยอะ  แต่ก็ไม่แน่เสมอไป  บางท่านที่มีขีดความอดทนสูงก็อาจบอกว่าจริงแล้วไม่เจ็บเลยก็เป็นได้  แต่ถ้าให้ดี ท่านก็ถามไปตรงๆ เลยว่าถ้าเจ็บมากคุณหมอจะฉีดยาชาหรือดมยาสลบให้ไหม?

"โรคนี้ไม่หาย" คนป่วยไม่อยากได้ยินคำนี้จากปากหมอเป็นที่สุด ทั้งที่จริงคำนี้หมายความว่า ไม่หายแต่ดีเป็นปกติได้  เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเองที่ไม่มีวันหายแต่ก็มีช่วง “อาการสงบ (Remission)” ที่คนไข้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หรืออย่าง เบาหวาน, ความดันสูง และมะเร็ง ที่ไม่หายแต่ก็ต้องรักษาและคุมอาหาร อย่าไปคิดว่าอย่างไรก็ไม่หาย จะกินอะไรก็ได้ตามใจปาก มันจะทำให้ทั้งไม่หายและเพิ่มความทรมานขึ้นมาได้

"รอแป๊บเดียว" ตะเภาเดียวกับเจ็บนิดเดียว ให้รอแป๊บแต่นานเหมือนชั่วกัลป์  อย่าไปคิดเสมอว่าถ้าแป๊บเดียวของหมอจะสั้นเท่ากับเวลาเราทานข้าวกับแฟน  ไม่เลย แป๊บเดียวในเคสผ่าตัดบางรายนานนับชั่วโมงหรือเป็นวัน  ถ้าเป็นหมอที่นั่งตรวจก็ขึ้นกับชนิดโรคคนไข้  บอกไม่ได้ว่าจะใช้เวลา 15 นาทีเท่ากันหมดเหมือนสั่งไก่ทอด

"ต้องใช้เวลา" ถ้าโดนคำนี้ก็ให้บวกเผื่อ(ใจ)ไว้ด้วย จะได้ไม่เครียดจนจิตตก เพราะบางโรคต้องรักษากันเป็นมหากาพย์  อย่างภูมิแพ้ที่เป็นโรครักษาไม่หาย แต่จะมีช่วงที่สบายดีเป็นปกติด้วย  หรือว่าโรคผิวหนังบางอย่างก็กินเวลานานในการรักษา ถ้ากังวลใจจริงอาจถามให้คุณหมอช่วยประมาณเวลาให้ด้วยก็จะช่วยลดแรงกดดันได้

"เซลล์ผิดปกติ" ท่านที่ไปตรวจชิ้นเนื้อตามองคาพยพต่างๆ ทั้งเต้านม, เนื้องอก, ปากมดลูก ถ้าคุณหมอบอกผลมาว่า เซลล์ผิดปกติอย่าเพิ่งตกตื่นใจไป แม้บางครั้ง worst case จะมีโอกาสเป็นเนื้อร้ายได้ แต่คำว่าเซลล์ผิดปกติก็แค่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจขึ้นเท่านั้นเอง 

"โรคยังหาสาเหตุไม่ได้"  มาจากภาษาฝรั่งว่า “Idiopathic” วลีนี้พบบ่อยเป็นข้อพิสูจน์ว่าใครว่าการแพทย์ฝรั่งเจริญที่สุด ท้าพิสูจน์ให้ไปเปิดตำราแพทย์หาสมุฏฐานแต่ละโรคเลย จะพบคำว่ายังหาสาเหตุไม่พบนี้จนลายตาเลย คุณหมอไทยเลยเคยชินนำมาใช้บ้างเผยแพร่ความไม่กระจ่างออกไปให้ฝรั่งบ้างไทยบ้างงงกัน ถ้าท่านได้ยินคำนี้ ก็ยังไม่ต้องหัวเสีย บางทีตัวท่านเองจะมีคำอธิบายได้ดีกว่า

"นอนโรงพยาบาล" ได้ยินคำนี้จากโรงพยาบาลเอกชนอย่าเพิ่งยิ้มกริ่มเตรียมนอนเสมอไป ถ้าท่านยังไม่อยากนอนหรือยังสงสัยก็ยังไม่ต้องนอน เพราะยุคนี้เป็นนิดหน่อยก็ “เชียร์” ให้นอนกันจัง คนไข้ที่น่าสงสารก็ไม่รู้เลยว่าเป็นการรับเชื้อแบบเน้นๆ ในการนอนโรงพยาบาลแต่ละครั้ง เพราะโรงพยาบาลเขาฉลาด แต่งให้เหมือนโรงแรมแต่เรื่องเชื้อโรคภัยไข้เจ็บน่ามีมากกว่าอยู่แล้ว

"ไม่ร้อยเปอร์เซนต์" คุณหมอส่วนใหญ่ไม่ฟันธง เพราะไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซนต์ทางการแพทย์อยู่แล้ว  ปาฏิหาริย์บางครั้งก็เกิดได้  คนที่นอนนิ่งเป็นอัมพาตยังกลับลุกขึ้นมาใหม่ได้เฉย  ในทางตรงข้ามคนดีๆ ก็อาจฟุบไปได้เหมือนกัน ฉะนั้นการได้ยินคุณหมอบอกว่า “คุณปกติ” ไม่ได้แปลว่า “สุขภาพดี”

"เป็นพันธุกรรม" คำที่ถูกใช้กับบางโรค เช่น ความผิดปกติแต่แรกเกิด, เบาหวาน, แพ้ภูมิตัวเอง, มะเร็ง คำนี้ถ้าท่านได้ยินเข้าอย่าเข้าใจผิดว่าพันธุ์เราไม่ดีหรือต้องมีพ่อแม่ปู่ย่าป่วยด้วยโรคเดียวกัน เพราะมันอาจหมายถึงได้ว่า อณูที่ผลิตเซลล์ในตัวเราไม่ดีเลยสร้างความผิดปกติขึ้นมาเวลาเรายิ่งโตขึ้น เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล

"ทานยาให้ครบ"  คำนี้มักใช้พูดกับยาประเภทฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ  คุณหมอพูดทีคุณเภสัชพูดอีกทีย้ำจนเข้าไปก้านสมอง  เป็นคำพูดที่ถูกต้องแล้วครับแต่ถ้าท่านทานแล้วเกิดอาการแพ้และไม่แน่ใจให้หยุดทานได้ แล้วรีบกลับมาถามหมอ  อย่ารอทานจนครบ  หรือแค่อาการไม่ดีขึ้นท่านก็กลับมาให้คุณหมอดูใหม่

และวลีสุดท้าย "อดอาหารก่อนเจาะเลือด" คำนี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่มักพูดก่อนถูกนัดเจาะเลือด  หัวใจสำคัญคือไม่อยากให้น้ำตาล, ไขมันและสารในอาหารอื่นๆ เข้าไปกวนเลือด แต่ไม่จำเป็นต้อง “งดน้ำเปล่า” ดื่มได้ถ้าเป็นการเจาะเลือดตรวจสุขภาพธรรมดา อย่าเป็นน้ำหวานก็แล้วกัน

ปัญหาสำคัญสุดที่น่าเห็นใจคนไข้คือ “ไม่กล้าถาม”
 
ครับเพราะอาจเคยมีประสบการณ์โดนดุมา เมื่อความสงสัยมากเข้าก็ไปเปิดฉากถามเอากับคุณพยาบาล, คุณเภสัชกรและคนอื่นที่ไม่ใช่หมอ ดังนั้นคุณหมออาจต้องเป็น “นักสื่อสารมวลชน” กลายๆ ไปด้วย พูดยังไงไม่ให้คนไข้ป๊อด หรือคุยกับญาติอย่างไรด้วยภาษาง่ายๆ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์