ตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายในที่เป็นสตรี...ในสมัยอยุธยา

ตำแหน่งของข้าราชการฝ่ายในที่เป็นสตรี...ในสมัยอยุธยา



          ในสมัยโบราณสตรีมิได้ทำราชการบ้านเมืองอย่างในปัจจุบันนี้ มีแต่การปฏิบัติราชการถวายแต่องค์พระมหากษัตริย์ คือปฏิบัติหน้าที่ดูแลกิจการในเขตพระราชฐาน เช่นรับใช้ในกิจประจำวันของพระมหากษัตริย์พระมเหสีเทวีตลอดจนดูแลรักษาพระที่นั่งพระตำหนักอันเป็นที่ประทับในเขตพระราชฐานรวมทั้งการประกอบพระเครื่องต้น ( พระกระยาหาร ) ต่าง ๆ ตั้งแต่โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา อาจแบ่งตำแหน่งข้าราชการฝ่ายในออกได้เป็น 4ระดับ มีบรรดาศักดิ์ ศักดินา และหน้าที่ต่างกัน ตามความสำคัญในหน้าที่ราชการ คือ

ระดับที่ 1 มีบรรดาศักดิ์เป็น " ท้าว " เรียกกันว่าในสมัยนั้นว่า " คุณท้าว " โดยมีราชทินนามต่อท้ายบรรดาศักดิ์ทุกตำแหน่ง เช่น ท้าววรจันทร เป็นหัวหน้าท้าวนางทั้งปวง บังคับบัญชาทั่วไปในราชสำนักฝ่ายใน ตลอดจนมีหน้าที่ตักเตือนว่ากล่าวพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และพระสนมกำนัล ต่อมาในภายหลังได้มีการตั้งตำแหน่ง ท้าววรคณานันท์ เพิ่มเติม เป็นตำแหน่งท้าวนางสูงสุด ในข้าราชการสำนักฝ่ายใน ทำหน้าที่ดูแลปกครองข้าราชการสำนักฝ่ายใน ต่างพระเนตรพระกรรณ ขึ้นตรงต่อเสด็จอธิบดี ซึ่งในภายหลังการปรับโครงสร้างของข้าราชสำนักฝ่ายใน มีผลทำให้ ตำแหน่งท้าววรจันทร์ มีอำนาจบังคับบัญชาราชการรองลงมาจากท้าววรคณานันท์ โดยที่ตำแหน่งท้าววรจันทร์ลงจะมีตำแหน่งท้าวนางอีก 4 ตำแหน่ง ได้แก่

ท้าวสมศักดิ์ ว่าการพนักงานทั้งปวง เช่น ในแผนกจัดเครื่องพระสุธารส และพระศรี เครื่องนมัสการ ดูแลหอพระและปูชนียสถานในราชสำนักฝ่ายใน

ท้าวอินทรสุริยา ว่าการห้องเครื่องวิเสท

ท้าวศรีสัจจา ว่าการโขลนจ่า ที่ควบคุมประตูวัง และอารักขาทั่วไป

ท้าวทรงกันดาร เป็นผู้บัญชาพระคลังใน

ระดับที่ 2 มีศักดิ์รองจากคุณท้าวคือ " คุณเฒ่าแก่ " ไม่มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามเฉพาะ คงเรียกคำหน้านามว่า " คุณเฒ่าแก่ " ต่อคำหน้าชื่อของตัวเอง โดยที่ " คุณเฒ่าแก่ " มีด้วยกัน 2 ประเภท

ประเภทแรก คือ เคยเป็นเจ้าจอมในรัชกาลก่อน ๆ เรียกว่า เจ้าจอมเถ้าแก่ มีหน้าที่ฝึกหัดข้าราชสำนักฝ่ายใน

ประเภทที่สอง คือ ที่มิได้เป็นเจ้าจอม เรียกว่า " คุณเฒ่าแก่ " มีหน้าที่ออกไปประสานกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับฝ่ายหน้า ( ข้าราชการที่เป็นผู้ชาย )

ระดับที่ 3 มีศักดิ์รองจาก " คุณเฒ่าแก่ " ลงไปคือ " จ่า " มีราชทินนามตามตำแหน่งด้วย

ระดับที่ 4 เป็นเสมียน-พนักงาน ( พนักงานผู้มีหน้าที่รักษาพระทวารประตูวัง และดูแลรักษาความเรียบร้อยในเขตพระราชฐานเรียกว่า " โขลน "

ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการตรากฎหมายซึ่งเรียกว่า พระไอยการนาตำแหน่งพลเรือน กำหนดศักดินาผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการฝ่ายใน ซึ่งใช้ต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ว่าตำแหน่งใดควรมีศักดินาเท่าไร และมีราชทินนามว่าอย่างไร

ท้าววรจัน ศักดินา 1000 เป็นที่สมเด็จพระพี่เลี้ยง ( หมายถึงพระพี่เลี้ยงกษัตริย์หรือพระราชโอรส-ธิดาชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า )

ท้าวอินสุเรนทร์ -ท้าวศรีสุดาจัน-ท้าวอินทรเทวี-ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ 4 ตำแหน่งนี้เป็น พระสนมเอก ศักดินาคนละ 1000

ท้าวสมศักดิ์-ท้าวโสภา 2 ตำแหน่งนี้ทำหน้าที่ฉลองพระโอษฐ์เชิญพระราชโองการพระราชกระแส แจ้งต่อไปยังผู้รับพระบรมราชโองการ หรือผู้รับ ๆ สั่งนั้น ๆ

ท้าวศรีสัจจา มีหน้าที่บังคับบัญชาจ่าโขลนทวารบานไพชยนต์ ( ผู้รักษาประตูพระที่นั่งและพระราชวัง ) ศักดินา 1000

ท้าวอินสุริยา ว่าการวิเสทหลวง ศักดินา 1000

ท้าวทรงกันดาร มีหน้าที่บังคับบัญชาคลังเงิน-ทอง ผ้าแพรพรรณ เครื่องทองขาว เครื่องทองเหลือง ศักดินา 800

นางเฒ่าแก่ หรือ คุณเฒ่าแก่ มีหน้าที่บังคับบัญชาควบคุมการปฏิบัติงานของโขลนทวารบานไพชยนต์ ในตำแหน่งรองท้าวศรีสัจจาถือศักดินา 600

จ่าก้อนแก้ว-จ่าก้อนทอง-จ่าราชภักดี-จ่าศรีพรม 4 ตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโขลน ดูแลรักษาพระทวารประตูวัง และดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพระราชฐานชั้นใน ถือศักดินา 400

ท้าวเทพภักดี-ท้าวทองพยศ-ท้าวทองกีบม้า-ท้าวยอดมณเฑียร-ท้าวอินทกัลยา-ท้าวมังศรี ท้าวนางทั้ง 6 นี้มีหน้าที่ปฏิบัติการอยู่ในวิเสทหลวงถือศักดินา 400 ปฏิบัติงานขึ้นตรงในบังคับบัญชาท้าวอินสุริยา

พนักงานโขลน-นายประตู-เสมียน ถือศักดินา 80



--------------------------------------------------------------------------------



      ข้าราชการฝ่ายใน ในพระราชสำนักตามทำเนียบที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ ในปัจจุบันไม่มีแล้วคงมีแต่ตำแหน่งตามระบบราชการทั่วไป คือ ตำแหน่งหัวหน้าแผนก ประจำแผนก และพนักงาน ส่วนการบรรดาศักดิ์เป็นท้าวนางนั้นยกเป็นบรรดาศักดิ์ สำหรับพระราชทานสตรีที่มีความสำคัญเป็นพิเศษบางท่านเท่านั้น

อธิบายเพิ่มเติม

คุณพนักงาน
หมายถึง สตรีที่มีบิดามีบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ชั้นพระยาขึ้นไปที่ได้รับทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีตำแหน่งเป็นพนักงานพิเศษ เรียกว่า " คุณพนักงาน " มีคำหน้านามว่า " คุณ " ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคำนำหน้านามสตรีเพิ่มเติม พ.ศ. 2464

ข้าหลวง
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายไว้ว่า คนที่ถวายตัวเป็นข้าในหลวงและเจ้านายนั้น ค่อนข้างจะแคบและเห็นว่าเป็นในสมัยก่อนมากกว่า เพราะต่อมาจนถึงปัจจุบัน คนที่ถวายตัวเป็นข้าในหลวงและเจ้านายนั้นถ้าเป็นชายเรียกว่า มหาดเล็ก ถ้าเป็นผู้หญิงจึงจะเรียกว่า ข้าหลวง นอกจากผู้ที่ถวายตัวถวายตัวเป็นข้าในหลวงและเจ้านายแล้ว ในบางสมัยคำว่า ข้าหลวง ยังหมายถึง นามตำแหน่งในราชการฝ่ายปกครอง เช่น ข้าหลวงเทศาภิบาล


เจ้าจอมอยู่งาน
คือเจ้าจอมที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงเลือกไว้สำหรับทรงใช้สอยใกล้ชิดพระองค์ในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น จัดพระภูษาและเครื่องสรง จัดเครื่องแต่งพระองค์และช่วยแต่งพระองค์ คือถ้าจะทรงพระภูษาโจง ก็ต้องทำหน้าที่เข้าม้วนชายผ้าที่เรียกว่า " โจงกระเบนหวาย " ถวายสายรัดพระองค์ ถวายพระองค์จิปาถะ นอกจากนั้นก็คอยรับพระราชกระแสที่จะสั่งถึงใครอย่างไร อันเป็นการในราชสำนัก มิใช่ราชการแผ่นดิน และคอยปรนนิบัติรับใช้ประการอื่น ๆ เช่น ถวายพระโอสถ ถวายอยู่งานพัด ถวายอยู่งานนวด ในโอกาศที่เสด็จออกงาน เจ้าจอมอยู่งานทำหน้าที่พระสนม พระกำนัล เชิญเครื่องและตั้งเครื่องพระศรี พระสุธารส ( ธรรมเนียมปรนนิบัติเจ้านายในวัง ไม่ว่าจะเป็นการถวายงานนวดหรือเวลาตบยุงที่กัด ท่านก็ต้องมีการหัดเรียนรู้ว่าควรจะทำอย่างไร เวลาที่ยุงกัดพระบาท ผู้ใหญ่จะสอนมหาดเล็กหรือข้าหลวงว่า เวลาจะตบยุงห้ามตีที่พระบาทท่านเป็นอันขาด ให้ใช้เฉพาะนิ้วชี้เท่านั้น คือ ทำนิ้วชี้นิ่งๆ กดลงที่ตัวยุงที่กัดเท้าท่านอยู่ เป็นการตบยุงอย่างละมุนละม่อม เวลาจะถวายงานทุบพระบาทก็จะไม่ทุบตุ้บตั้บอย่างคนธรรมดา แต่จะต้องมีเทคนิคพิเศษ กำมือหลวมๆ ให้เป็นรูทั้งสองมือแล้วทุบ ... )



ที่มา....oknation


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์