เตือนสาวฮิตสักขอบตาเสี่ยงบอด

ภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ตภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต

จักษุแพทย์เตือนสาวฮิตสักขอบตาหวังให้ตาหวาน เสี่ยงเกิดอักเสบถึงขั้นบอดได้ แนะถ่ายคลิป-รูประหว่างสักเพื่อรักษาสิทธิฟ้องร้อง

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชาชนบางกลุ่มที่นิยมความสวยความงาม โดยเฉพาะผู้หญิงที่ใช้วิธีสักขอบตา ให้ดำถาวร เพื่อให้ดูเป็นผู้หญิงตาหวาน ตาคมโต เพิ่มเสน่ห์ที่ใบหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งมีการโฆษณาในหนังสือบันเทิง ดาราและในเว็บไซต์จำนวนมาก ว่า  การใช้วัสดุแหลมคมและสี สักที่บริเวณขอบตาชิดกับขนตาทั้งขอบตาบนและขอบตาล่าง เป็นสิ่งที่เสี่ยงเกิดอันตรายต่อดวงตา เพราะเป็นจุดที่อยู่ใกล้ตามากๆ

ทั้งนี้โดยรอบดวงตาเป็นบริเวณที่มีผิวหนังค่อนข้างบอบบางที่สุด หากเทียบกับผิวหนังบริเวณอื่นของร่างกายคนเรา ในระหว่างที่ทำการสัก หากเกิดพลั้งพลาด เช่นเข็มสักแทงเข้าตาขาว  หรือสีที่ใช้ในการสัก กระเด็นเข้าไปในดวงตา สารเคมีที่อยู่ในสี อาจทำให้เยื่อบุตาขาวอักเสบได้ และถ้าหากสถานให้บริการสักหรือผู้ที่ทำการสัก ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ไม่สะอาดเพียงพอ ก็อาจจะทำให้เกิดตาแดง มีอาการคัน ระคายเคือง  จากการติดเชื้อ หากเผลอขยี้ตา อาจจะทำให้เกิดแผลที่แก้วตาดำ และเชื้อลุกลามเข้าไปในลูกตา  ทำให้อักเสบหรือติดเชื้อรุนแรง อาจทำให้ตาบอดตลอดชีวิต

นพ.ฐาปนวงศ์กล่าวอีกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่นิยมการสัก มักจะคิดว่าเมื่อสักไปแล้ว หากไม่ชอบหรือเบื่อแล้ว ก็ลบรอยสักออกได้ง่ายๆ เนื่องจากในปัจจุบันมีวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า สามารถลบรอยสักด้วยการยิงเลเซอร์ หรือผ่าตัดผิวหนังที่เป็นรอยสักออกไป แต่ก็จะมีข้อเสีย คืออาจเกิดรอยแผลเป็นในบริเวณที่ทำการสัก จึงควรคิดถึงผลดี ผลเสียให้ดีก่อนที่จะไปสัก

"การสัก เป็นค่านิยม เป็นความชื่นชอบส่วนบุคคล และไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย คงไม่สามารถห้ามไม่ให้ไปสักลวดลายบนผิวหนังตามร่างกาย หรือสักขอบตาเพื่อความสวยงามได้   แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำ ขอให้ประชาชน ที่ชื่นชอบการสัก สังเกตสถานที่ ช่างสัก วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการสักว่าสะอาดเพียงพอหรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและอันตรายที่อาจเกิดตามมา"นพ.ฐาปนวงศ์กล่าว

นอกจากนี้เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ และประกันความเสี่ยงจากการสัก   ควรถ่ายรูปหรือบันทึกคลิปวีดีโอทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการสัก เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพราะหากเกิดอันตรายจากการสัก จะสามารถนำมาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี หรือฟ้องร้องสถานบริการหรือช่างผู้ทำการสัก  เป็นคดีอาญาในข้อหาทำร้ายร่างกายได้


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์