ข้อแพลง ไม่ธรรมดา อาจแฝงโรคอื่น

ข้อเพลงมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น เดินข้อพลิก ข้อบิด หรือสะดุด หกล้ม เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง

ข้อแพลง ไม่ธรรมดา อาจแฝงโรคอื่น


                  ข้อเพลงมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น เดินข้อพลิก ข้อบิด หรือสะดุด หกล้ม เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถให้การดูแลรักษาด้วยตนเอง ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 3-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ถ้าดูแล 2-3 วันแล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการปวดรุนแรงหรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น ก็ควรรีบไปปรึกษาหมอที่อยู่ใกล้บ้าน

          ชื่อภาษาไทย : ข้อเพลง ข้อเคล็ด

          ชื่อภาษาอังกฤษ : Sprains, Strains

       สาเหตุ

           เกิดจากเส้นเอ็น และ/หรือ กล้ามเนื้อที่ยึดอยู่รอบ ๆ ข้อต่อกระดูกมีการฉีก เนื่องจากได้รับบาดเจ็บ เช่น หกล้ม ข้อบิด ข้อพลิก ถูกกระแทก หรือยกของหนัก

       อาการ

           ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บที่ข้อหลังได้รับบาดเจ็บทันที โดยจะเจ็บมากเวลาเคลื่อนไหวข้อ ข้อจะมีลักษณะบวม และใช้นิ้วกดถูกเจ็บ อาจพบรอยเขียวคล้ำ หรือฟกช้ำ เนื่องจากหลอดเลือดฝอยแตกร่วมด้วยอาการจะรุนแรงมากน้อยขึ้นกับปริมาณของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ฉีกขาด ข้อเพลงมักเกิดขึ้นเพียง 1 ข้อ ที่พบบ่อยได้แก่ ข้อเท้า (ทำให้เดินกะเผลก) นอกจากนี้ อาจเกิดที่ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อมือ หรือข้อนิ้ว

       การรักษา

           นอกจากแนะนำให้ดูแลตนเองดังกล่าวแล้ว บางรายแพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) และอาจใช้ผ้าพันแผลชนิดยืด (elastic bandage) พันรอบข้อที่แพลงพอแน่น เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อและลดบวม ในรายที่พบว่ามีข้อแพลงรุนแรง อาจต้องเข้าเฝือกหรือพบว่ามีการขาดของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ ก็อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม

      ภาวะแทรกซ้อน

           มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ยกเว้นในรายที่ดูแลตนเองไม่ถูกต้อง (เช่น ไม่ค่อยได้พักข้อที่แพลง) อาจมีอาการบวมเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังได้ หรือทำให้ข้อเสื่อมเร็ว

      การดำเนินโรค

           เมื่อได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาการปวดจะทุเลาขึ้นภายใน 2-3 วัน และอาการปวดและบวมจะลดน้อยลงชัดเจนภายใน 1-2 สัปดาห์ และหายขาดภายใน 3-4 สัปดาห์ ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องหรือยังฝืนใช้งานข้อที่แพลงต่อไป ก็อาจเรื้อรังเป็นเวลา 2-3 เดือนขึ้นไป

      การป้องกัน

           1.หมั่นบริหารข้อต่าง ๆ ด้วยวิธียืดเหยียดข้อต่าง ๆ เป็นประจำ

           2.ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น อย่าเดินบนพื้นผิวขรุขระ หรือในที่มืดสลัว หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง ควรสวมใส่รองเท้าที่กระชับพอเหมาะ

ขอบคุณข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์